สมองกลบำบัด…นักกายภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-04 9:55สมองกลบำบัด…นักกายภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
คนไทยส่วนใหญ่มักมองว่าโรคในกลุ่มมะเร็งเป็นโรคร้ายที่ต้องเฝ้าจับตา แต่ลืมไปหรือเปล่าว่ายังมีโรคอื่นๆ ที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตสุ่มเสี่ยง อย่างเช่น การดื่มสุรา สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ละเลยการออกกำลังกาย หรือแม้แต่การทำตัวเองให้เครียดก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ที่ส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่หลายคนเรียกได้ว่า “ตายทั้งเป็น”
ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อฟื้นฟูสรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ตามความต้องการของแพทย์เป็นหลัก โดยคณะแพทย์จากภาควิชาเวชศาสตร์ฟี้นฟู คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแก้ไขการขาดแคลนนักกายภาพบำบัด และเพิ่มประสิทธิภาพในการกายภาพให้ดียิ่งขึ้น ด้วยอุปกรณ์ที่มีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับเครื่องมือจากต่างประเทศ
“คนเราเวลาเป็น stroke (โรคหลอดเลือดสมอง) ในช่วง 6 เดือนแรก ถ้าไม่รีบทำการรักษา อาจจะทำให้เป็นอัมพาตถาวร โดยปกติประมาณ 3-20 % ที่กลับมาเหมือนเดิมขึ้นอยู่กับความรุนแรง ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานหลังจาก 6 เดือนจะรักษายากขึ้นมาก ตอนนี้เราขาดแคลนนักกายยภาพบำบัดรวมถึงเครื่องมือด้วย จริงๆ การฝึกกายภาพมันไม่ได้เจ็บนะ แต่เขาแค่ขยับร่างกายตามสั่งไม่ได้ โรบอตจึงมีหน้าที่ในการช่วยเขาพยุงขึ้น พอมาฝึกแล้วรู้สึกดีขึ้น ให้ฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ คู่กับการฝึกปกติ วันหนึ่งประมาณอย่างละ 30 นาที เหตุผลส่วนหนึ่งในการพัฒนาหุ่นยนต์นี้ก็เพื่อช่วยการทำงานของนักกายภาพบำบัดด้วย”
โดยลักษณะของหุ่นยนต์จะเป็นแบบที่สวมตรงช่วงแขน ช่วงขา ข้างที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเป็นแท่นหมุนแบบจับที่ปลาย อีกทั้งยังพัฒนาให้มีขนาดกระทัดรัดลง ถอดประกอบเคลื่อนย้ายได้สะดวกใช้งานง่าย และมีความปลอดภัย ทำงานโดยนักกายภาพบำบัดจัดวางท่าทางต่างๆ หลังจากนั้นสมองกลจะเป็นผู้จดจำ และเริ่มการฝึกปฏิบัติโดยจะทำงานในลักษณะประคองโดยอัตโนมัติ ถ้าคนไข้เคลื่อนที่ได้เองตามเส้นทางที่กำหนดหุ่นยนต์ก็จะลดการทำงานลง ซึ่งการแสดงผลการฝึกปฏิบัติจะแสดงขึ้นที่หน้าจอภาพขนาดใหญ่ วัดสมรรถนะระหว่างการฝึกปฏิบัติตลอดเวลาโดยคอมพิวเตอร์ และข้อมูลการฝึกปฏิบัตินี้สามารถเก็บบันทึกอัตโนมัติเพื่อช่วยให้นักกายภาพบำบัดหรือแพทย์สามารถนำมาวิเคราะห์ต่อได้ในภายหลังได้









“โดยปกติแล้ว ถ้าเป็นที่แขน การทำกายภาพบำบัดจะเริ่มจากช่วงหัวไหล่และข้อศอกก่อน ลงไปเป็นข้อมือและมือไปที่ละขั้น สำหรับหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นนี้ ถ้าแม้ว่าเราจะกายภาพแค่หัวไหล่และข้อศอกแต่มืออาจจะมีโอกาสดีขึ้นไปด้วย เพราะมันเชื่อมโยงกัน เราต้องการให้หุ่นยนต์ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการจริยธรรมทางการแพทย์ ซึ่งต้องให้แน่ใจว่าเมื่อผู้ใช้หุ่นยนต์ในการฝึกปฏิบัติ จะต้องมีผลดีขึ้น ไม่มีผลกระทบข้างเคียง ต้องไม่มีผลกระทบในทางลบ สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของผู้ฝึกปฏิบัติได้จริง”
การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการกายภาพยังคงมีต่อไปไม่สิ้นสุด เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดร.วิบูลย์ กล่าวว่า มีแนวคิดร่วมกับคณะแพทย์พัฒนาต่อเพื่อนำไปใช้กับกลุ่มโรคที่ใกล้เคียงอย่าง เช่น โรคพาร์กินสัน และกำลังอยู่ในขั้นปรับปรุงทดลอง เพื่อให้มั่นใจได้จริงว่าเป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ
“ทำอยู่เรื่อย ๆ ครับร่วมกับคุณหมอ ผลิตตามความต้องการของหมอ อย่างตัวนี้คุณหมอจะลองนำใช้กับคนไข้โรคพาร์กินสันด้วย เราทำมาได้ 2 ปีกว่าแล้วถือว่าเร็วมาก หุ่นยนต์ทางการแพทย์มีความละเอียดและซับซ้อน และที่ทำสำคัญคือต้องมีความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะใช้กับคนเป็นหลัก ถึงแม้ว่าในตลาดจะมีหุ่นยนต์ที่ช่วยในการทำกายภาพบำบัดที่ออกขายแต่ยังไม่มีการทดสอบตามขบวนการจริยธรรมทางการแพทย์ แต่ของเรานั้นเลือกที่จะต้องการทดสอบระบบหุ่นยนต์ของเราตามมาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยในการใช้งาน นอกจากนั้นความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบหุ่นยนต์ก็เป็นเป้าหมายการพัฒนาของเรา
เราต้องสร้างความมั่นใจว่า ของที่นำไปให้ต้องเป็นของดี ในความคิดของผมและทีมงาน เราอยากให้นำไปใช้มากขึ้นตามสถานพยาบาลที่มีศูนย์กายภาพบำบัดทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณที่ถูกกว่าอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาก
เรื่องต่อยอด ตอนนี้ผมทำไม่หยุด ทำไปเรื่อยๆ ขณะนี้เรามีใช้ทดสอบอยู่ที่สว่างคนิวาส 2 ตัว ข้อมูลในการฝึกปฏิบัติจะมีการบันทึกเอง และคุณหมอสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาช่วยในการวิเคราะห์ต่อได้ในภายหลัง นอกจากที่สว่างคนิวาสแล้วที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่โรงพยายาลจุฬาฯ ก็มีการนำหุ่นยนต์กายภาพไปติดเพื่อจะใช้ทดลองในคนไข้พาร์กินสันด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้เราก็กำลังทำหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอีก”
ในระหว่างที่ทำกายภาพ อาจเป็นช่วงเวลาน่าเบื่อหน่ายของผู้บำบัด หุ่นยนต์นักกายภาพจึงถูกพัฒนาให้มีเกมส์เฉพาะ เพื่อสร้างความท้าทายและความสนุกสนานระหว่างทำกายภาพได้อีกด้วย
“เราสามารถต่อเล่นกับเกมส์จะได้ไม่เบื่อครับ เกมส์มี 2 ประเภท คือเกมส์ที่พัฒนาขึ้นมาเองสำหรับช่วยในกิจกรรมกายภาพบำบัดโดยเฉพาะ แต่เกมส์อีกประเภทหนึ่งคือช่วยเล่นไม่ให้เบื่อใช้สำหรับฝึกหลังจากฝึกตามกำหนดแล้ว เป็นการฝึกแบบผ่อนคลาย แต่ถ้าต้องการเน้นหนักก็จะเป็นอีกเกมส์ที่เราทำขึ้น” ดร.วิบูลย์ กล่าว

ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย