“เครื่องตรวจ COVID-19 อัตโนมัติ” ตรวจเร็ว รู้ไว เซฟหมอปลอดภัย
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-05 9:59“เครื่องตรวจ COVID-19 อัตโนมัติ” ตรวจเร็ว รู้ไว เซฟหมอปลอดภัย
ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID–19 จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้การตรวจคัดกรองโรคจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเร่งด่วนและแม่นยำที่สุด เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาและหยุดวงจรการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด หน้าที่สำคัญนี้จึงตกเป็นของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา แข่งกับเชื้อโรค และแข่งกับความเหนื่อยล่าของตัวเอง
เพื่อลดอัตราเสี่ยงติดเชื้อของแพทย์และพยาบาลจากการสัมผัสตัวอย่างส่งตรวจของคนไข้ ลดระยะเวลาในการคัดกรอง และหาผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุด เทคโนโลยีจึงมีส่วนสำคัญในการผ่อนแรงและทำให้การตรวจหาเชื้อมีความแม่นยำสูง อย่างเช่น “เครื่องตรวจ COVID-19 อัตโนมัติ” ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้รับบริจาค เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์สู้กับภาวะโรคระบาดที่ยาวนานนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ปกรัฐ หังสสูต หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกกับเครื่องตรวจ COVID-19 อัตโนมัติที่ช่วย “เซฟหมอ” โดยที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องสัมผัสตัวอย่างจากคนไข้ สามารถตรวจตัวอย่างคนไข้ได้ถึง 1,440 ตัวอย่าง ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง มีความแม่นยำอยู่ที่ 99% และได้รับการรับรองจากสหัสรัฐอเมริกาว่าเป็นเครื่องที่มีมาตรฐาน
“ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 ได้มีเครื่องรุ่นใหม่ผลิตออกมาเป็นแบบอัตโนมัติ สามารถนำตัวอย่างคนไข้ใส่เข้าไปในเครื่องและได้ผลออกมาทันที โดยที่ไม่ต้องใช้กำลังคนเข้าไปสัมผัสตัวอย่างของคนไข้เลยครับ ช่วยลดการเลี่ยงติดเชื้อของนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เราทราบดีว่าเครื่องเป็นที่ต้องการของทั่วโลกและมีความจำเป็นต้องนำมาใช้ให้เร็วที่สุด โดยมีคุณสราวุฒิ อยู่วิทยา และภรรยา จากกลุ่มธุรกิจ TCP แสดงความจำนงขอบริจาค เราจึงสั่งจองเครื่องพร้อมน้ำยาและติดตั้งทันทีในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ลักษณะการทำงานของเครื่อง คือ การตรวจจับยีนส์ 2 ชนิดจากการสกัดสารพันธุกรรมของไวรัส เพื่อยืนยันผลหาความถูกต้องในการติดเชื้อครับ” นายแพทย์
ปกรัฐ กล่าว

อัตราความเร็วในการตรวจตัวอย่างต่อ 1 ครั้ง เครื่องจะทำการวิเคราะห์พร้อมแสดงผลโดยใช้เวลาโดยประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที หากมีผลตัวอย่างจำนวนมากก็สามารถใส่ตัวอย่างได้ตลอดเวลา ทำให้เครื่องทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เครื่องสามารถแสดงผลเร็วขึ้น เป็นการแสดงผลในทุกๆ 90 นาที
นายแพทย์ปกรัฐ กล่าวเสริมว่า “การเก็บตัวอย่างไม่จำเป็นต้องมาตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาฯ โดยเฉพาะก็ได้ครับ ตรวจที่ไหนก็ได้ ทั้งโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐก็จะส่งตัวอย่างตรวจไปตามสถาบันที่มีมาตรฐาน บางแห่งก็ส่งผลตัวอย่างมาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ถ้าตัวอย่างส่งมาที่แลปเราในตอนเช้า ก็จะรู้ผลในตอนบ่ายโดยไม่ต้องรอนาน
ในขณะนี้ เรายังไม่ได้ก้าวไปไกลมากนะครับ เรารองรับคนไข้ที่มาตรวจในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ที่ต้องการจะส่งตรวจกับเรา ตอนนี้เรายังคงรอคนไข้อยู่ในโรงพยาบาล แต่ผมคิดว่าในอนาคต ถ้าเราอยากจะควบคุมโรคให้ดีขึ้น เราควรจะออกไปหาคนไข้ แทนที่จะรอคนไข้จากในโรงพยาบาล เฉพาะนั้นตัวอย่างคนไข้ในอนาคตจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนครับ หลายท่านไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ก็ไม่ได้มาหาหมอและเราก็ไม่ทราบเลยว่าเขาติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งเขาสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคได้ เราจึงต้องคัดแยกเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อโรคให้ดีขึ้น”
“เครื่องตรวจ COVID-19 อัตโนมัติ” ไม่เพียงแค่ตรวจคัดกรองโรค COVID-19 แต่ในระยะยาวยังคงทำประโยชน์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจคัดกรองและวิเคราะห์ไวรัสชนิดอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การตรวจหาเชื้อ HIV ไวรัสตับอักเสบ C ไวรัสตับอักเสบ B เป็นต้น

นอกจากนายแพทย์ปกรัฐ จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องตรวจ COVID-19 อัตโนมัติแล้ว ยังคงทิ้งท้ายถึงวิธีการดูแลตัวเองให้กับทุกคนด้วย ว่า “ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ไม่สบายต้องมาหาหมอ เพื่อตรวจและไม่แพร่เชื้อ การแพร่ระบาดอาจจะไม่หายไปเร็วๆ นี้ แต่เราต้องมีมาตรการในการดูแลตัวเอง ช่วงแรกอาจจะลำบาก แต่ต่อไปเราจะคุ้นเคยไปเองครับ พยายามล้างมือบ่อยๆ ล้างอย่างถูกวิธี และล้างมือประมาณ 20-30 วินาที อย่าลืมล้างหลังมือ ข้อมือ และระหว่างนิ้ว พยายามไม่ใช้มือสัมผัสหน้า ปาก จมูก รักษาระยะห่างซึ่งกันและกันประมาณ 2 เมตร และใช้แมสปิดปาก นอกจากไม่ทำให้เราติดเชื้อ COVID ยังลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ด้วยครับ”
.
แม้เครื่องตรวจอัตโนมัติจะถูกคิดค้นมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการตรวจคัดกรองโรคของคุณหมอ แต่การดูแลรักษาตนเองขั้นพื้นฐาน ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนควรปฏิบัติ เพื่อลดโอการเสี่ยงในการติดเชื้อและเป็นการ “save” การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างแท้จริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ปกรัฐ หังสสูต
หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย