BiMMA เที่ยวสนุกด้วยธนบัตรอาเซียน
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-04 11:25BiMMA เที่ยวสนุกด้วยธนบัตรอาเซียน
ปฏิเสธได้ยาก สำหรับยุคสมัยที่มีแค่สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถทำได้หลายอย่าง อาทิเช่น ทำธุรกรรมทางการเงิน ขึ้นรถไฟฟ้า จองตั๋วดูภาพยนต์ และยอดนิยมที่สุดคือเป็นไกด์นำเที่ยวในต่างแดน
นอกจากสมาร์ทโฟนจะนำพาเราไปถึงจุดหมายแล้วนั้น สิ่งสำคัญคือความรู้ เที่ยวแล้วได้อะไรบ้างสำหรับ ทริปนี้ ความเป็นมาของสถานที่ สถานที่ทรงเสห่น์สุดขึ้นชื่อที่เป็น Landmark และรากเง้าของคนในชาติคืออะไร คำตอบเหล่านี้หาได้ง่ายๆ จากธนบัตรในกระเป๋าตังค์
BiMMA แอพพลิเคชั่นเรียนรู้วัฒนธรรมอาเซียนผ่านธนบัตรประจำชาติ ผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ กรณียกิจ และ รองศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำเอาเทคโนโลยีการตรวจจับภาพ (Image Recognition) นำมาใช้ตรวจจับภาพธนบัตรและนำเสนอเป็น AR (Augmented Reality หรือ AR เทคโนโลยีการผสมระหว่างโลกเสมือน (Virtual World) และโลกจริง (Physical World) โดยการแสดงภาพ, วิดิโอ, เสียง หรือข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบดิจิตอล ทับซ้อนกับสถาพแวดล้อมจริง เพื่อให้เกิดความดึงดูดและน่าสนใจ) เชื่อมโยงสู่สื่อการเรียนรู้ดิจิทัล เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) วีดีโอ เว็บไซต์ เป็นต้น และยังสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้จากฐานข้อมูลทางการศึกษาแบบเปิด (OER: Open Educational Resources) นอกจากภาพวัฒนธรรมและบุคคลสำคัญ BiMMA ยังสามารถเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุดของสกุลเงินชาตินั้นกับสกุลเงินต่างๆ ทั่วโลกได้อีกด้วย

“ธนบัตรเป็นสิ่งสำคัญของทุกชาติในโลก เนื่องจากประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศอาเซียน ยังมีความไม่เข้าอกเข้าใจกันเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน ในธนบัตรก็จะมีภาพของวัฒนธรรม บุคคลสำคัญ สิ่งสำคัญ แนวคิดสำคัญของชาตินั้น เราจึงนำธนบัตรมาเป็นสื่อ การนำแอพพลิเคชั่นของเราส่องไปที่ธนบัตร แล้วให้ผู้เรียนค้นหาสิ่งสำคัญในธนบัตร แล้วจะปรากฏภาพเป็น AR เสริม และสามารถเชื่อมโยงไปถึงสื่อที่เราต้องการให้เรียนรู้ เช่น E-book คลิปวีดีโอ เว็ปไซต์ที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของเรื่องราวนั้นๆ นอกจากนั้นผู้เรียนรู้สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้จากแหล่งการเรียนรู้และการศึกษาแบบเปิดที่เรียกว่า OER เพื่อที่ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้หรือเชื่อมโยงไปสู่ Social media ที่สามารถอธิบาย หรือว่าตอบปัญหาของครู เพื่อที่ผู้สอนสามารถทำกิจกรรมการเรียนผ่านโซเชียวมีเดีย” รศ.ดร.ประกอบ กรณียกิจ กล่าวถึงไอเดียและแนวคิดของแอพฯ BiMMA
นวัตกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมอาเซียนผ่าน BiMMA หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า Banknote iMagnifier Mobile Application การเรียนรู้วัฒนธรรมอาเซียนผ่านธนบัตรสุดสนุก ในรูปแบบ 4S ได้แก่

1. Seek สำรวจและค้นหา
ค้นหาจุดสำคัญบนธนบัตร เช่น สถานที่ บุคคล หรือเอกลักษณ์ของชาติ โดยการส่องสมาร์ทโฟนไปยังจุดสำคัญนั้นๆ เป็นการสอนให้ผู้เรียนรู้จักสังเกตุและพินิจพิเคราะห์ธนบัตร เป็นเกมส์หาขุมทรัพย์ความรู้ ประวัติศาสตร์ ที่แอบสอดแทรกมาในธนบัตร

2. Study เรียนให้รู้
ผู้ใช้จะได้เรียนรู้วัฒนธรรม สถานที่ บุคคล และเอกลักษณ์สำคัญของชาติ ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่นำเสนอ รวมไปถึงมีข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่จำเป็นอย่างอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินประเทศนั้นๆ และยังสามารถเปรียบเทียบได้กับทุกสกุลเงินทั่วโลก

3. Spread out ขยายความรู้
เมื่อมีการเรียนรู้ต้องรู้จักแลกเปลี่ยน สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีการเชื่อมโยงวิชาเรียนเข้ากับแอพพลิเคชั่น สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลแหล่งการเรียนรู้แบบเปิด (OER: Open Educational Resources) ใช้คำสำคัญจากประเด็นคำถามหรือคำสำคัญที่ผู้สอนเตรียมไว้ในการค้นหา ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ จากสื่อสังคมออนไลน์ได้ เรียกได้ว่า “เที่ยวไปด้วย เรียนไปด้วย” ได้เลยทีเดียว

4. Showcase รู้อะไร งัดมาโชว์
สามารถนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการเรียนรู้ลงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยสามารถนำเสนอได้นรูปแบบข้อความ วีดีโอ และรูปภาพ
ธนบัตรที่ BiMMA รองรับเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน และกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาแอพพลิเคชั่นไปสู่แถบประเทศอื่นๆ เพื่อขยายขอบเขตการเรียนรู้ให้กว้างขึ้นและสนุกยิ่งขึ้น โดยรศ.ดร.ประกอบ กล่าวว่า “การทำฐานข้อมูลไม่ยากครับ เพราะข้อมูลสำคัญๆ ทุกชาติก็มีการเตรียมให้อยู่แล้ว มันจึงไม่ได้ยาก แต่เราต้องเอามาออกแบบและประมวลทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายคือเรื่องที่สำคัญกว่า ในเบื้องต้นยังเป็นการทดลองใช้อยู่ครับ เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีอยู่ครับ ในอนาคตเรากำลังมองหาการขยายขอบเขตไปยังธนบัตรอื่นๆ ในโลกนี้
ในอนาคตเรามีโปรเจคต่อไปที่พัฒนาเกี่ยวกับโมบายแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้แบบสืบสอบและการส่องหาในพื้นที่เข้าถึงยาก ให้เด็กสามารถที่จะมองเห็นในจุดที่เข้าถึงยาก (แต่ครูจำเป็นต้องสอน) จึงใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเข้าถึงได้ง่าย”
รศ.ดร.ประกอบ ฝากข้อคิดถึงนักวิจัยรุ่นหลัง ถึงสิ่งสำคัญในการทำวิจัยให้ประสบความสำเร็จว่า “ผมว่าในการมองผลงานวิจัย ควรมองไปให้สุดทาง นอกจากมีการศึกษาและพัฒนาผลงานขึ้นมาแล้ว ถ้าสามารถที่จะต่อยอดให้สังคมสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงสามารถสร้างรายได้ได้ด้วย ก็เป็นสิ่งควรช่วยกันดำเนินการ”

รองศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ กรณียกิจ
คณะครุศาสตร์ , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย