Chula Ari โครงการเพื่อคนสูงวัย ใส่ใจถึงวัยทำงาน
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-05 9:16Chula Ari โครงการเพื่อคนสูงวัย ใส่ใจถึงวัยทำงาน

สังคมสูงวัย หรือ Aging Society เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องกันมาหลายปี บางส่วนของประชากรตระหนักรู้แต่ไม่ตระหนักรับ รู้ว่าต้องดูแลผู้สูงอายุอย่างไร แต่ลืมนึกไป…ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าตัวเองก็ต้องแก่ ขาดการวางแผนเรื่องครอบครัว ขาดการออมเงินหลังเกษียณ ขาดการใส่ใจสุขภาพเมื่อยังเป็นวัยทำงาน กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็แก่เกินแกง…ใครเล่าจะบอกว่าตัวเองแก่ ในเมื่อยังแข็งแรงดีทั้งเรื่องการเงิน การงาน และความรัก
หากสรุปข้อมูลโดยรวมจากคำกล่าวของนักวิชาการและสถิติต่างๆ ที่เราเคยอ่านจากบทความจะพบว่า ผู้คนในปัจจุบัน เริ่มสร้างครอบครัวตอนมีอายุมากหรือเลือกที่จะครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิต ทำให้อัตราการเกิดน้อยลง ในขณะที่เทคโนโลยีทางการรักษาดีขึ้น ผู้คนมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายระหว่างการดำรงชีพยังคงอยู่ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงตามกำลัง วัยแรงงานต้องรับภาระในการดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการ และเด็กเล็กหรือหนักที่สุดคือการออกจากงานเพื่อมาทำหน้าที่ผู้ดูแลแบบเต็มเวลา เมื่อวัยทำงานที่ลาออกมาดูแลผู้สูงอายุอยากกลับเข้ามาทำงานใหม่ก็ยากยิ่งขึ้น เพราะวันเวลาที่เลยผ่านก็พาอายุให้แปรเปลี่ยน ไม่มีงานรองรับ ไม่มีรายได้ให้เก็บออม กลับสู่วัฎจักรเดิม ที่ประชากรรุ่นถัดไปต้องรับภาระในการดูแล จากปัญหาครัวเรือนขยายวงกว้างสู่ปัญหาระดับประเทศและพัฒนาเป็นวิกฤตระดับโลก ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า อย่าลืมบวกอายุตัวเองเพิ่ม และลองคิดดูว่า เราจะใช้ชีวิตในวัยใกล้เกษียณอย่างไรให้คนในครอบครัวและคนรอบข้างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้
โครงการจุฬาอารี (Chula Ari: Chulalongkorn University Platform for Aging Research Innovation) เป็นโครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมสูงวัยของ 12 หน่วยงานภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบไปด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะจิตวิทยา คณะสหเวชศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ มุ่งปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย สร้างงานวิจัยที่มีผลต่อนโยบายของประเทศในรูปของการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติและการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ เพื่อพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้ที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต
“การที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นในขณะที่ประเทศยังมีสวัสดีการในประเทศไม่เพียงพอ สิ่งที่เราพบปัญหาก็คือ หากมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่จะตกอยู่ในภาวะยากจนก็สูงขึ้น เจ็บป่วย ทุพลภาพมากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็มีการพัฒนาช้าลง เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเข้าสู่งสังคมผู้วัยโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราจึงรวมกันในทุกมิติ โดยเริ่มต้นจากเรื่องของ “คน” ก่อน ตอนนี้เราพยายามทำระบบรองรับผู้สูงวัยในเขตเมือง ซึ่งกรุงเทพคือเมืองที่ถูกละทิ้ง เพราะมีคนต่างทางสถานะเยอะมาก โดยทีมงานได้มีการเก็บข้อมูล ทำความเข้าใจ และติดตามผล กำลังมีการขยายผลในกรุงเทพมหานครและคาดว่าจะขยายผลไปยังส่วนท้องถิ่นด้วยค่ะ” รองศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ หัวหน้าโครงการจุฬาอารีให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการของโครงการ

สังคมผู้สูงวัยที่หลายคนเข้าใจอาจหมายถึงผู้ที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป แต่โครงการจุฬาอารีให้ความหมายว่า “เป็นสังคมของผู้คนทุกวัย” นอกจากวัยผู้สูงอายุแล้ว ยังรวมไปถึงวัยเด็กและวัยทำงานที่ต้องตระหนักและเตรียมความพร้อมในอนาคต ที่จะต้องรองรับให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ซึ่งตอนนี้โครงการจุฬาอารีมีการดำเนินโครงการในด้านสำคัญ ได้แก่
- ด้านเศรษฐกิจ มีการแนะนำประชาชนให้รู้จักคิดรู้จักออมเพื่อลดการก่อหนี้สินในระยะยาว โดยจัดหาระบบสร้างงานและการจัดการเงินของผู้สูงอายุ
- ด้านสังคม เรื่องการพิทักษ์สิทธิ์ของผู้สูงอายุในทางกฎหมาย มีกฎหมายผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งเป็นศูนย์ให้คำปรึกษากฎหมายของผู้สูงอายุโดยตรง
- ด้านสุขภาพ เน้นการป้องกันตั้งแต่วัยหนุ่มสาวไปจนถึงการฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีการปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีดูแลผู้สูงอายุและลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซ้ำ ลดการพิการ ลดการเกิดโรคใหม่ หรือลดปัญหาการนอนติดเตียง
- ด้านเทคโนโลยี มีการทดลองใช้หุ่นยนต์ในการดูแลสุขภาพ โดยมีฟังก์ชั่นการตรวจวัดทางการแพทย์เบื้องต้น เช่น วัดความดัน ตรวจหัวใจ พูดคุยกับแพทย์ทางไกล แจ้งเตือนการทานยา เป็นต้น และติดตั้งระบบติดต่อแพทย์และลูกหลานได้ทันทีหากเกิดกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งเป็นเพื่อนร่วมทำกิจกรรมค่อยเป็นเพื่อแก้เหงา โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวมีการทดลองใช้ในเขตกรุงเทพ โดยเลือกบ้านที่มีปัญหายากจน ไม่มีผู้ดูแล แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งมีการทดลองในกระทรวงสาธารณสุขของกรุงเทพฯ โดยผ่านการทดลองมาแล้ว 1 ปี กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาให้เป็นระบบและนำไปในพื้นที่จริง

รศ.ดร.วิพรรณ กล่าวถึงผลงานที่มีการนำไปใช้ โดยทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเพื่อดูแลผู้สูงอายุหรือผู้พิการได้ นั่นก็คือ โมเดลแบบแปลนบ้านปลอดภัย “โครงการได้จัดทำแบบแปลนบ้านปลอดภัย เช่น ห้องน้ำและห้องนอนปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากการจัดพื้นที่ภายในบ้านให้ปลอดภัยสามารถช่วยลดอุบัติเหตุภายในบ้านได้ ซึ่งความจริงแล้วผู้สูงอายุไม่ควรนอนพื้นนะคะ เพราะว่าจะลุกยาก ที่นอนควรสูงขึ้นมา 45 เซนติเมตรจากพื้น สามารถนั่งได้และไม่สูงเกินไปจนเสี่ยงต่อการตกเตียง ควรมีราวจับและไม่ควรมีของเกะกะ สำหรับพื้นที่ในห้องน้ำก็ควรมีราวจับ ควรมีเก้าอี้นั่งอาบน้ำ พื้นบ้านไม่แนะนำให้เป็นหินอ่อนหรือพื้นลื่น และอย่ามีขั้นบันไดมาก โครงการฯ จึงจัดทำโมเดลจำลองสามมิติเพื่อให้เกิดการเข้าใจง่าย และสามารถหาซื้อวัสดุเองได้ ซึ่งส่วนนี้เราทำร่วมกับหลายมหาวิทยาลัย มีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และมหาลัยอื่นๆ ออกแบบร่วมกัน เพื่อคนทุกวัยค่ะ”
นอกจากโมเดลแบบแปลนบ้านปลอดภัย โครงการจุฬาอารียังปฏิบัติการเชิงรุกเข้าถึงพื้นที่ชุมชนเพื่อปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และมีโครงการนำร่องรถไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีพื้นที่ทดลองใช้ที่แรกในชุมชนวังทองหลาง เป็นการวางแผนอย่างเป็นระบบให้ครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันขั้นพื้นฐาน ยังมีโครงการย่อยอื่นๆ อีก 16 โครงการ ที่โครงการจุฬาอารีกำลังวางแผนพัฒนาเพื่อนำงานวิจัยเหล่านี้ไปใช้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ
“จุฬาอารีย่อมาจาก Ageing Research innovation หรืออีกความหมาย คือ จุฬาฯ อารีอารอบต่อสังคม ครบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และสุขภาพ” รศ.ดร.วิพรรณ กล่าว
ติดตามกิจกรรมและความเคลื่อนไหวของโครงการจุฬาอารีได้ที่ http://www.chulaari.chula.ac.th/