“Chula VID” ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-05 10:15“Chula VID” ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ
“ทุกวินาที คือความเสี่ยง” น่าจะเป็นคำอธิบายถึงบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID–19 ได้ดีทีเดียว หากเราทุกคนไม่มีการป้องดูแลตนเองที่เหมาะสม หรือไม่ดูแลสุขลักษณะอนามัยของตัวเองให้ดีพอ ก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ นอกจากนี้แล้วยังนำความเสี่ยงแพร่กระจายไปสู้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว
ในช่วงที่การแพร่ระบาดไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด กลุ่มบุคลากรแพทย์และพยาบาลยังคงตั้งหน้ารับกับสถานการณ์อยุ่ตลอดเวลา ภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมีสูงตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด การตรวจคัดกรองโรคจึงเป็นขั้นตอนแรกที่ทำให้คุณหมอติดเชื้อได้โดยง่าย ทั้งต้องใกล้ชิดกับผู้เข้ารับการตรวจในกระบวนการเก็บตัวอย่าง ทั้งเสี่ยงต่อการสัมผัสละอองฝอยจากการไอ-จามของผู้เข้ารับการตรวจโดยไม่ได้ตั้งใจ แม้กระบวนการเหล่านี้จะทำภายใต้ชุดป้องกัน PPE ที่มีมาตรฐาน แต่ข้อจำกัดในเรื่องของทรัพยากรที่มีไม่เพียงพอ ทำให้อุปกรณ์เริ่มขาดแคลน ซึ่งสวนทางกับความต้องการของแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้
นายแพทย์พสุรเชษฐ์ สมร ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ หรือ “Chula VID” ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางแพทย์ในกระบวนการตรวจคัดกรองโรคและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคผ่านเครื่องกรองอากาศความดันลบ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์อุ่นใจในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และทำให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจไม่กลายเป็นผู้ต้องสงสัยในการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ถาม: จุดเริ่มต้นในการสร้างตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ
นายแพทย์พสุรเชษฐ์ สมร: จุดเริ่มต้นมาจากคนไข้ COVID ในโรงพยาบาลจุฬาฯ เยอะมากครับ ทำให้คุณหมอ
อายุรกรรมมีงานล้นมือ เดิมทีคุณหมออายุรกรรมเป็นคนเก็บสิ่งส่งตรวจ แต่ต่อมาคุณหมอแพทย์ประจำบ้านต้องเข้ามารับผิดชอบในการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วย จึงไม่คุ้นชินกับการเก็บสิ่งส่งตรวจหรือสวมชุดป้องกันให้ถูกต้อง เรามีความต้องการทำให้ทุกคนปลอดภัยจากจากเก็บสิ่งส่งตรวจ จึงปรึกษากับภาควิชาและหน่วยอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เป็นตู้นี้ขึ้นมาครับ
ดอนแรก เราจะให้คุณหมออยู่ในตู้ครับ แต่ว่า COVID เป็นการติดต่อกันผ่านฝอยละอองจากการไอ-จามหรือการพูดเสียงดัง ในขั้นตอนการเก็บสิ่งส่งตรวจจะไปกระตุ้นทำให้คนไข้ไอ-จาม แล้วเปลี่ยนวิธีการติดต่อเป็นการฟุ้งกระจายในอากาศ ถ้าคนไข้อยู่นอกตู้ก็จะฟุ้งกระจายไปที่ไหนก็ได้ครับ กำหนดทิศทางไม่ได้ เพราะฉะนั้นการติดตั้งตู้ก็ต้องไปทำในที่โล่งแจ้ง เช่น สนามฟุตบอล สนามกีฬา ซึ่งก็อาจจะไม่เหมาะสมกับพื้นที่ เราจึงทำเป็นตู้ที่มีความดันลบและติดเครื่องดูดอากาศผ่านเครื่องกรองประสิทธิภาพสูง ฉายตัวกรองซ้ำด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เพื่อลดปริมาณเชื้อที่มากับอากาศให้เป็นศูนย์
เมื่อเราทำตู้นี้ออกมาแล้วก็ควรทำให้เคลื่อนที่ได้ เพราะการเก็บสิ่งส่งตรวจให้เป็นมาตรฐานจะต้องทำในห้องความดันลบ ซึ่งห้องเหล่านี้ในประเทศไทยมีน้อย รพ.จุฬาฯ ยังมีแค่ 1 ห้อง ส่วนห้องความดันลบอื่นๆ ใช้สำหรับการดูแลคนไข้ที่เป็นโรคแล้ว เราเลยคิดว่าถ้าตู้นี้สามารถไปติดตั้งที่ไหนก็ได้ ทั้งในและนอกอาคารขอแค่เสียบปลั๊กถึงก็พอครับ
ถาม: ลักษณะของตู้และการดำเนินการจัดทำ
นายแพทย์พสุรเชษฐ์ สมร: เราเริ่มคิดตู้นี้เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ได้มีการติดต่อกับบริษัทที่ทำอะคริลิคและเริ่มเขียนแบบตู้ภายใน 2 ชั่วโมง จนทำเป็นตัวต้นแบบเสร็จภายในวันพุธ (ใช้เวลาประมาณ 5 วันหลังจากส่งแบบ) ที่เราเร่งทำเพราะเรารู้ว่า “ยิ่งทำช้ายิ่งได้ใช้ช้า” โอกาสที่บุคลากรทางการแพทย์จะเสี่ยงติดเชื้อจากการเก็บตัวอย่างก็จะมีมากขึ้น ในส่วนของเครื่องดูดอากาศ เราพยายามหาผู้ผลิตในประเทศที่สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว จึงมีบริษัท Smile O2 (สไมล์โอทู) เข้ามาจัดทำในส่วนนี้ โดยบอกลักษณะเครื่องกรองอากาศที่ต้องการเพื่อให้บริษัทผลิต และบริษัทก็ได้ร่วมบริจาคมาจำนวน 2 เครื่อง โดยที่เราไม่เคยเจอกันมาก่อน

ถาม: ทำไมต้องเป็นห้องความดันลบ?
นายแพทย์พสุรเชษฐ์ สมร: เนื่องจากห้องความดันลบใช้ในการตรวจรักษาคนไข้ที่มีเชื้อติดต่อทางระบบทางเดินหายใจทุกชนิด เช่น ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค เป็นต้น ซึ่งตามมาตรฐานจะต้องปฏิบัติงานกับโรคเหล่านี้ในห้องความดันลบ เพราะมีการป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อที่อยู่ภายในอากาศโดยรอบ ยกตัวอย่างเช่น การจุดธูปในห้องความดันลบ ควันธูปจะถูกดูดเข้ามาในเครื่องกรอง หมายความว่าอากาศภายในตู้จะไม่สามารถฟุ้งกระจายมายังภายนอกได้ ซึ่งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของคนภายนอกได้ครับ
ถาม: ช่วยขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกรองอากาศของห้องความดันลบและประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรค
นายแพทย์พสุรเชษฐ์ สมร: อย่างแรกคือ ห้องความดันลบควรมีค่าความดันลบอยู่ที่ -2.50 ปาสกาล (Pa) หรือมาตรฐานคือ 8 ปาสกาล (Pa) ซึ่งเครื่องนี้ทำได้มากกว่าครับ ส่วนตัวกรองที่เราใช้เป็นเทปผ้าฟิวเตอร์เบส H14 ซึ่งเป็นเกรดสูงมาก สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอนได้ 99.995% ซึ่งดีกว่าหน้ากาก N95 หลายเท่า รังสีอัลตราไวโอเลตซี (UVC) ที่ใช้เป็นขนาด 8 วัตต์ อยู่ใกล้กับฟิวเตอร์ จึงใช้ระยะเวลาทำให้เชื้อปราศจากโรคสั้นมาก เพราะฉะนั้น โอกาศที่อากาศที่ผ่านการกรองแล้วจะมีเชื้อแทบจะเป็น “0” ครับ
ถาม: ตู้นี้สามารถช่วยประหยัดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ชุด PPE (Personal Protective Equipment) ได้หรือไม่?
นายแพทย์พสุรเชษฐ์ สมร: ช่วยได้ครับ แต่ก็ต้องให้บุคลากรทางการแพทย์แต่งชุดตามมาตรฐานอยู่ดี เพราะว่า “ไม่มีอะไร 100%” ตู้นี้จึงเข้ามาช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้ ตัวฟิวเตอร์กรองอากาศสามารถกรองได้ดีกว่า N95 หลายเท่า ซึ่งปลอดภัยต่อการเก็บตัวอย่างมากๆ เราควรป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ของเรา เพราะว่าถ้าเราเสียบุคลากรทางการแพทย์ไป 1 คน ก็จะลดคนที่จะเข้ามาดูแลคนไข้ลงไปอีก
ถาม: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการกระจายตู้ไปใช้งานอย่างไรบ้าง?
นายแพทย์พสุรเชษฐ์ สมร: ในตอนนี้ที่โรงพยาบาลมีใช้อยู่ 10 ตู้แล้วครับ เนื่องจากผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากและเราไม่ทราบว่าคนไข้ที่นัดมาผ่าตัดฉุกเฉิน เช่น ผ่าตัดมะเร็ง คลอดบุตร ไส้ติ่งอักเสบ ฯลฯ จะมีการติดเชื้อรึเปล่า เราจึงจำเป็นต้องใช้ตู้นี้ในการเก็บสิ่งส่งตรวจคนไข้ในกรณีนี้ทุกคน โดยที่หมอผ่าตัดหรือหมอสูตินรีแพทย์เป็นคนเก็บตัวอย่างเอง เพื่อลดภาระของคุณหมออายุรแพทย์ที่ทำงานหนักมากๆ ในตอนนี้ครับ และได้มีการกระจายตู้จำนวน 10 ตู้ ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพ และจะขยายไปตามต่างจังหวัดด้วยครับ
ถาม: กำลังในการผลิตตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
นายแพทย์พสุรเชษฐ์ สมร: เราสั่งผลิตไปอีก 50 ตู้ครับ จากการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทต่างๆ แต่ตอนนี้ความต้องการมีมากกว่านั้น เราสั่งเพิ่มอีก 20 ตู้ รวมทั้งหมด 70 ตู้ เมื่อตู้มีมาตรฐานตามที่ต้องการแล้ว ก็ได้มีการแชร์แบบการผลิตผ่าน Google Drive ให้ทุกคนสามารถทำตามแบบของเราได้ครับ ซึ่งหลังจากที่เราเปิดแบบไปได้ 2 สัปดาห์ก็มีผู้ผลิตติดต่อจัดทำเพื่อบริจาค นั่นหมายความว่าแบบไม่ได้ยากเกินไปที่จะทำได้ หากใครสนใจก็สามารถนำไปใช้ได้ครับ เพราะด้วยกำลังของเราไม่สามารถทำเองได้ โดยงบประมาณในการผลิตอยู่ที่ 1 แสนบาท/ตู้ ครับ ซึ่งสามารถปรับลดงบประมาณได้ เนื่องจากอะคริลิคที่ใช้มีความหนา 15 มิลลิเมตร ตู้หนา 30 มิลลิเมตร จึงทำให้ตู้มีราคาสูง ถ้าจะลดราคาต้องลดขนาดความหนาของอะคริลิค แต่เพื่อความยั่งยืนหลังจากที่จบเรื่องนี้แล้ว ตู้ต้องได้ใช้ต่อไป ตู้นี้ต้องนำไปตรวจวัณโรค ไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงโรคระบาดอื่นๆ ได้ เราต้องการให้มันแข็งแรง จึงใช้วัสดุเกรดสูงที่เกินความจำเป็นไปนิดหน่อยครับ
ถาม: หลังหมดสถานการณ์ COVID สามารถนำไปใช้ต่อยอดอะไรได้บ้าง
นายแพทย์พสุรเชษฐ์ สมร: สามารถนำไปเก็บสิ่งส่งตรวจคนไข้ติดเชื้อทางเดินหายใจได้ทุกชนิดครับ เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก หรือคนไข้ที่มีความเสี่ยงและจำเป็นต้องพ่นยา ก็สามารถเข้ามาพ่นยาในตู้นี้ได้ เพราะการพ่นยาคือหนึ่งในสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดการฟุ้งกระจายครับ

ผู้ที่สนใจแบบตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ (ไม่รวมเครื่องกรอง) สามารถดาวน์โหลดต้นแบบโครงสร้างตู้ได้ที่ได้
- แบบโครงสร้างตู้สำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ รุ่นที่ 5 (คลิก)
- แบบโครงสร้างตู้สำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ รุ่นที่ 6 (คลิก)
- แบบโครงสร้างตู้สำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ ไฟล์ 3 มิติ (คลิก)
ต้นแบบโครงสร้างตู้ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระจายกำลังการผลิตห้องเก็บตัวอย่างที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัยในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์
ขั้นตอนการเก็บตัวอย่างภายในตู้ความดันลบ
สำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ

1. บุคลากรทางการแพทย์ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับตรวจ เช่น การประกอบถุงมือตรวจเข้ากับตู้

2. ผู้เข้ารับการเก็บตัวอย่างนำอุปกรณ์การตรวจเข้าไปในตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ

3. เปิดเครื่องกรองอากาศ 1 นาที เพื่อให้ความดันในตู้เป็นลบและทำการเก็บตัวอย่าง เมื่อเก็บตัวอย่างเรียบร้อย ผู้เข้ารับการเก็บตัวอย่างต้องนั่งรอ 3-5 นาที เพื่อกรองอากาศ เนื่องจากระหว่างการเก็บตัวอย่างอาจกระตุ้นทำให้เกิดอาการไอ-จาม และเกิดเป็นฝอยละอองในอากาศภายในตู้ หลังจากนั้นปิดเครื่องเพื่อทำให้ความดันเป็นปกติ ผู้เข้ารับการเก็บตัวอย่างจึงออกจากตู้ได้

4. นำตัวอย่างส่งให้เจ้าหน้าที่เพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติ


5. เปิดเครื่องพ้นน้ำยาฆ่าเชื้อและใช้อุปกรณ์เช็ดทำความสะอาดภายในตู้ให้เรียบร้อย พร้อมเก็บอุปกรณ์ที่เหลือจากการตรวจทิ้งให้เรียบร้อย เช่น ถุงมือตรวจ บรรจุภัณฑ์ที่ตรวจ เป็นต้น จากนั้นสามารถดำเนินการตรวจได้อีกครั้งตามขั้นตอน

นายแพทย์พสุรเชษฐ์ สมร
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย