บทความ

“การเคลื่อนย้ายข้ามแดนของคน สินค้า ข่าวสาร และทุน ในบริบทของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของประเทศไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน”

IMG_8668

“การเคลื่อนย้ายข้ามแดนของคน สินค้า ข่าวสาร และทุน ในบริบทของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของประเทศไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน”

บทสัมภาษณ์พิเศษ คลัสเตอร์อาเซียน ในหัวข้อ “การเคลื่อนย้ายข้ามแดนของคน สินค้า ข่าวสาร และทุน
ในบริบทของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของประเทศไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน”
ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2562 ณ บูทจัดแสดงนิทรรศการเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย
(Research University Network: RUN)
ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 (Thailand Research Expo 2019)” โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

ผู้ให้สัมภาษณ์

ดร.จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง

ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ , มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ

ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ , มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว

ภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษย์วิทยา คณะสังคมศาสตร์ , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดร.ธัญรดี ทวีกาญจน์

คณะวิทยาการจัดการ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คุณวินิสสา อุชชิน

นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Q: หัวข้อนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องใด?
A: (ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว) ในปี 2558 รัฐบาลประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จุดในจังหวัดชายแดนทั่วประเทศ ก็เลยเป็นเงื่อนไขในการพัฒนาหัวข้อเพื่อจะไปศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นในเขตเหล่านี้ ซึ่งในโครงการนี้เราเลือก 5 จุดสำคัญ คือ เชียงราย ตาก หนองคาย ตราด และสงขลา

Q: ทำไมต้องเป็น จังหวัดนี้?
A: (ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว) เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญครับ เช่น หนองคายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างไทย-ลาว เข้ามาทางตอนในของอีสาน ที่แม่สอด-จังหวัดตาก ก็เชื่อมต่อระหว่างไทย-พม่า เชียงรายทางเหนือก็ไปได้ทั้งไทย-ลาว-พม่า-จีน สงขลาทางตอนใต้เชื่อมระหว่างไทย-มาเลเซีย และตราดเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างไทย-กัมพูชา จากทุกจุดที่กล่าวมาเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจและเป็นพื้นที่ที่นักวิจัยของเรามีความเชี่ยวชาญด้วยครับ จึงเกิดเป็นความร่วมมือของหลายมหาวิทยาลัย ทำให้พวกเราทำงานเป็นทีมครับ
.
นอกจากการประกาศเขต SEC* ของรัฐบาลแล้ว ยังสอดคล้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ส่งผลให้เงื่อนไขการเคลื่อนย้ายข้ามแดนเปลี่ยนไป เราจะเห็นได้ว่ามีการเคลื่อนย้ายของคน สินค้า ข่าวสาร เป็นไปตามนโยบายประชาคมอาเซียน ทั้งสะดวกและง่ายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการกำกับควบคุมหลายๆ อย่างตามมา จึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่าก่อนและหลังเข้าประชาคมอาเซียน การเคลื่อนย้ายข้ามแดนมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? และอย่างไร? ประกอบกับการมี SEC* เข้ามาเป็นเงื่อนไขของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนทั่วประเทศด้วย

*แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) คือ หนึ่งในแผนงานที่มีความสำคัญในลำดับสูง (Flagship Programs) จากทั้งหมด 11 แผนงาน ภายใต้กรอบความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong SubregionGMSเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค สนับสนุนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ การขยายตัวของการค้าและการลงทุน และอำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนและการพัฒนาตามแนวพื้นที่ด้านตะวันออก-ตะวันตก ระหว่างไทย กัมพูชา เวียดนาม และบางส่วนทางตอนใต้ของลาว และพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมเมืองสำคัญใน ไทย กัมพูชา และเวียดนามโดยผ่านโครงสร้างเครือข่ายถนนและทางรถไฟ

ที่มา: ศูนย์พันธกิจประชาคมอาเซียน

Q: จากผลการศึกษา เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?
A: (ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว)
 ที่น่าสนใจที่สุดเลยตอนนี้ คือ “แม่สอด” ชัดเจนในเรื่องแรงงาน จุดสำคัญน่าจะเป็นที่หนองคาย โดยมีการเคลื่อนย้ายของคนลาวที่มาใช้บริการด้านสุขภาพครับ


A: (ผศ.ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ) การเดินทางข้ามไทย-ลาว เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในวิถีชีวิตประจำวันค่ะ สิ่งที่เราพบอย่างชัดเจนจากการลงพื้นที่ คือการข้ามฝั่งมาไทยของคนลาวในประเด็นสุขภาพและการบริโภคค่อนข้างเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการฝากครรภ์ คลอดบุคร ทำฟัน และบริการสุขภาพทั่วไป
.
A: (ดร.จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง)
 ทางภาคเหนือมีส่วนคล้ายกันครับ แต่ว่าในแง่ของสัดส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลอาจจะตามหลังอุดรฯ หรือหนองคายสักเล็กน้อย อย่างที่อาจารย์กีรติพรได้กล่าวมา การข้ามฝั่งของพี่น้องไทย-ลาว เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะมีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม ยิ่งมีเงื่อนไขประชาคมอาเซียนยิ่งทำให้มีระดับเข้มข้นมากขึ้น ก่อนหน้านี้อาจจะเป็นเรื่องการแสวงหาอาชีพ การศึกษาเล่าเรียนเป็นหลัก แต่หลังจากปี 2558 แนวโน้นการลงทุนของโรงพยาบาลเอกชนมีการเข้าไปลงทุนบริเวณจังหวัดเชียงรายอย่างชัดเจน เพื่อรองรับลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีแนวโน้มคล้ายบริเวณไทย-ลาว ในแง่ของการข้ามแดนเพื่อบริการสุขภาพครับ
.
A: (ดร.ธัญรดี ทวีกาญจน์) 
เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาไม่ได้แจ้งเป็นเศรษฐกิจพิเศษทั้งจังหวัดนะคะ แต่เป็นเฉพาะ 4 ตำบลในอำเภอสะเดาที่มีด่านเชื่อม 2 ด่าน คือ ด่านศุลกากรสะเดาและด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ การทำความเข้าใจเพื่อศึกษาเรื่องการเคลื่อนย้ายคน เราเลือกจัดกลุ่มที่สนใจเป็นเรื่องของแรงงานและนักท่องเที่ยว ซึ่งในบริบทของนักท่องเที่ยวก็มีการข้ามฝั่งไป-มาอยู่แล้วกับประเทศมาเลเซีย
.
บริบทในการศึกษาทางภาคใต้ค่อนข้างจะยากกว่าเขตอื่นๆ ค่ะ เนื่องจากประเทศที่อยู่ติดพรมแดน เป็นประเทศที่กำลังจะเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้การข้ามฝั่งเข้ามาเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่ยาวจากเขตเศรษฐกิจเข้าไปในอำเภอหาดใหญ่หรืออำเภอเมือง แต่การเคลื่อนย้ายในลักษณะแรงงานเป็นจุดที่เราสนใจค่ะ เพราะไม่ใช่แค่การเคลื่อนย้ายมาจากฝั่งมาเลเซียแต่เป็นการเคลื่อนย้ายมาจากฝั่งพม่าค่ะ จึงทำให้เรื่องของการเคลื่อนย้านมีความซับซ้อนมากขึ้น
.
ทางภาคใต้ การแบ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ ซึ่งเป็นจุดสำคัญในภาคอุตสาหกรรม แต่เราศึกษาเจาะลึกไปถึงภาคการบริการ ดังจะเห็นได้ว่าทางภาคใต้เน้นการบริการด้านโรงแรม ร้านอาหาร บริการต่างๆ แรงงานที่เข้ามาให้บริการจะเป็นพี่น้องชาวพม่า ซึ่งจะได้การคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบทางการจากรัฐบาลไทยอยู่แล้ว แต่ด้านวิถีชีวิตที่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่ไม่เป็นทางการเป็นอย่างไรบ้าง? เราจึงศึกษาในส่วนนี้ค่ะ

A: (ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว) นี่เป็นส่วนหนึ่งในข้อค้นพบของงานวิจัยครับ เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันหมด เราต้องคำนึงถึงเงื่อนไขของพื้นที่ชายแดน ในกรณีของชายแดนภาคใต้ชัดเจนในเรื่องของแนวโน้มแรงงานไทยไปต่างประเทศมีมากกว่าแรงงานจากต่างประเทศข้ามมาที่ไทย เช่น คนไทยข้ามฝั่งไปที่ประเทศมาเลเซียเนื่องจากค่าแรงสูงกว่า ในขณะที่คนมาเลเซียข้ามฝั่งเข้ามาประเทศไทยในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภค ซึ่งแนวโน้มก็คล้ายคลึงกับการข้ามฝั่งเข้ามารับบริการด้านสุขภาพและบริการอื่นๆ กรณีของการศึกษาวิจัยเรามุ่งไปที่เรื่องแรงงาน จึงทำให้เห็นชัดเจนว่ายุคนี้แรงงานสามารถข้ามพรมแดนได้ ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่มาจากพม่า จึงนำไปสู่ประเด็นสิทธิและการคุ้มครองต่างๆ โดยเฉพาะการคุ้มครองที่ไม่เป็นทางการ ส่งผลให้การตั้งนโยบายของฝ่ายรัฐบาลต้องคำนึงถึงความหลากหลายของพื้นที่และเงื่อนไขต่างๆ ในชายแดนครับ
.
A
:(ดร.จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง) จริงๆ แล้วในพื้นที่ทางภาคเหนืองเองก็มีความซับซ้อนครับ เช่น พื้นที่แม่สอดที่ติดกับรัฐกระเหรี่ยงของพม่า โดยลักษณะอำนาจของพื้นที่ในพม่าเป็นแบบ “รัฐซ้อนรัฐ” อย่างเช่นการขนย้ายปศุสัตว์ประเภทโค-กระบือในจุดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ทางฝั่งรัฐบาลเมียนมาร์ไม่ให้มีการการซื้อขายโค-กระบือโดยพลการ แต่พื้นที่ในส่วนนั้นเป็นพื้นที่ในการดูแลของกองกำลังกระเหรี่ยง ดังนั้น เขาสามารถกำหนดได้ว่าโค-กระบือส่งผ่านมาทางแม่สอดได้เท่าไหร่ เพราะว่าจากจุดนั้นเอง สัตว์เหล่านี้จะถูกส่งไปยังเวียดนามเพื่อขายต่อให้จีน เมื่อจีนทราบว่าจุดนี้เป็นแหล่งซื้อขายก็มีการเปลี่ยนจุดการซื้อขาย จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายของสินค้าประเภทนี้มากขึ้น หรือแม้แต่คนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตากก็มีการปรับตัว เช่น คนขายกล้วยฉาบ จากเมื่อก่อนขายแค่ในชุมชน แต่ตอนนี้สามารถส่งออกไปถึงย่างกุ้ง มีรายได้มหาศาล
.
A
:(คุณวินิสสา อุชชิน) ในส่วนของจังหวัดตราดที่ติดกับเกาะกงของกัมพูชา จะมีลักษณะพิเศษ คือ มีความเป็นพี่น้องหรือเครือญาติกัน ซึ่งมีการไปมาหาสู่กันอยู่แล้ว หมายความว่าบริเวณนี้มีการเคลื่อนย้ายอยู่แล้วก่อนจะถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยประเด็นปัญหาสำคัญในการลงพื้นที่วิจัยนี้ก็คือการสร้างความเชื่อใจในการให้ข้อมูลของแรงงานพม่า ซึ่งค่อนข้างมีความเข้มแข็งด้านเครือข่ายอย่างมาก เนื่องจากทุกคนรู้จักกัน ข้อมูลส่วนใหญ่จึงเป็นด้านดีทั้งหมด ทำให้หาข้อมูลในด้านที่เกิดปัญหาจริงๆ ได้ยากค่ะ

Q: จุดมุ่งหมายของการรวบรวมข้อมูลส่งผลอย่างไรต่ออนาคตประเทศไทย?
A: (ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว) น่าจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นในเชิงนโยบายหรือผู้ที่สนใจในข้อมูลพื้นที่ชายแดนมากกว่าครับ ซึ่งมีเรื่องการซับทับกันอยู่ในเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ เกี่ยวข้องกับด้านนโยบายและการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ นโยบายต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ และยังซ้อนทับไปจุดที่เราเรียกว่า “จุดเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค” ซึ่งป็นจุดยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นให้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงไปถึงประเด็นประชาคมอาเซียนและผลักดันไปสู่การพัฒนาระดับภูมิภาค
.
ขณะนี้เราจะเอ่ยเพียงแค่ประชาคมอาเซียนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องพูดไปถึงประชาคมอาเซียน+3 หรือ ประชาคมอาเซียน+6 งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสถานการณ์จริงและมุมมองประเด็น SEC ซึ่งมีส่วนส่งผลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าและเชื่อมโยงกับเงื่อนไขหลายๆ อย่างที่เราพบว่ายังมีปัญหาในการผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเป็นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาครับ