บทความ

ชุดอุปกรณ์กล้องจุลทรรศน์สมาร์ทโฟน CU Smart Lens ราคาหลักร้อย แต่คุณภาพหลักหมื่น!

IMG_2470

ชุดอุปกรณ์กล้องจุลทรรศน์สมาร์ทโฟน CU Smart Lens ราคาหลักร้อย แต่คุณภาพหลักหมื่น!

กล้องจุลทรรศน์เป็นอุปกรณ์สําคัญในการเรียนการสอน การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยี แต่กล้องจุลทรรศน์ 1 ตัวนั้นมีราคาสูง ทำให้จำนวนในแต่ละหน่วยงานทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีจำนวนจำกัด อีกทั้งมีขนาดใหญ่และใช้ได้เฉพาะในห้องทดลองเท่านั้น

เพราะการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน ยังมีอะไรอีกมากมายที่เราต้องค้นหา ถ้าเรานำจุลทรรศน์ติดตัวไปด้วย ใช้เป็นเครื่องมือตัวช่วยในการเรียนรู้ หรือเหมาะสำหรับคุณครูที่ต้องการสอนเด็กๆ เกี่ยวกับส่วนประกอบในธรรมชาติ นี่ไม่ใช่ความคิด แต่เป็นผลงานจริง! ใช้ได้จริง!! และจำหน่ายจริง!!!

ชุดอุปกรณ์กล้องจุลทรรศน์สมาร์ทโฟน CU Smart Lens พัฒนาโดยนายปรินทร แจ้งทวี นิสิตนักวิจัย และศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาขึ้นสําหรับใช้ร่วมกับกล้องของสมาร์ทโฟนหรือแทปเล็ต สามารถเปลี่ยนศักยภาพการถ่ายรูปของสมาร์ทโฟนให้เป็นกล้องจุลทรรศน์ดิจิตัลแบบพกพากําลังขยายปานกลาง (20–50 เท่า) หากมีการขยาย เพิ่มเติมด้วย digital zoom ของสมาร์ทโฟนก็จะทําให้ได้กําลังขยายสูงถึง 400 เท่า กําลังขยายปานกลางนี้ตอบสนองกิจกรรมที่หลากหลาย ที่ใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายระดับไมโครสโคปในการแก้ปัญหา เช่น การประยุกต์ทางการศึกษา การเรียน การสอน การวิจัย การวินิจฉัยทางการแพทย์ การเกษตร การวิเคราะห์ทดสอบของภาคอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พระเครื่อง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โบราณสถาน โบราณวัตถุ และ ศิลปวัตถุ เป็นต้น

การบันทึกภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์สมาร์ทโฟน สามารถทําได้โดยใช้แอพพลิเคชันการถ่ายรูปของสมาร์ทโฟน การบันทึกภาพในรูปแบบวีดีโอ Slow-Motion Video และ Time-Lapse Video ด้วยแอพพลิเคชั่นของสมาร์ทโฟน สามารถทําได้ทันทีโดยไม่จําเป็นต้องลงทุนซื้อซอฟท์แวร์หรือคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม การภาพถ่ายไมโครสโคปที่บันทึกได้สามารถเผยแพร่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วยระบบการสื่อสารไร้สายของสมาร์ทโฟน สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีข้อจํากัดด้านพลังงาน การใช้ประโยชน์ทางธุรกิจสามารถดําเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและฐานข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลาเนื่องจากสมาร์ทโฟนสามารถทํางานได้ยาวนานด้วยแบตเตอรี่

สำนักบริหารวิจัยมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของผลงาน นายปรินทร แจ้งทวี เกี่ยวกับความเป็นมาและไอเดียสุดบรรเจิดของผลงานวิจัย CU Smart Lens ในงาน “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 2” ณ อาคารไปรษณีย์กลางและศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) บางรัก กรุงเทพฯ

Q: จุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจในการคิดค้นผลงาน?

A: ตอนนั้นผมเป็นนิสิต ปริญญาโทเรียนภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ผมชอบการออกแบบเครื่องมือ เห็นว่าอุปกรณ์ในห้องแล็บมีราคาแพง ต้องนำเข้าทุกชิ้น ผมพยายามหาวิธีพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ร่วมกับอาจารย์สนอง เอกสิทธิ์ จึงเกิดเป็น CU Smart Lens กล้องจุลทรรศน์บนโทรศัพท์มือถือ โดยในเลนส์แปะไปที่กล้อง ทำหน้าที่ขยายได้ตั้งแต่ผีเสื้อ ดอกไม้ แมลงแบบมาโคร ไปจนถึงเมล็ดเลือดแดงขนาดเล็ก 5-7 ไมคอนได้ โดยใช้แค่สมาร์ทโฟนกับเลนส์
เราอยากทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกกับต่างประเทศและสามารถพึ่งพาตนเองได้ จากโรงเรียนที่จะต้องซื้อกล้องจุลทรรศ์ตัวละ 50,000 บาท ก็สามารถมีเลนส์ที่สามารถซื้อได้ในระดับหลักร้อย เลยเป็น CU Smart Lens นี้ครับ จะพยายามพัฒนาให้เทียบเท่าให้ได้ครับ

Q: การตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง?

A: เราเป็นนักวิจัย เรื่องการตลาด การขายของก็ไม่เป็น ก็พยายามมองหาผู้ผลิตเพื่อมาทำขายต่อ แต่อีกทางก็คือมันเป็นโอกาสให้เราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับด้านธุรกิจ เลยตัดสินใจเปิดบริษัทขายเอง (บริษัท เลนส์ แอนด์ สมาร์ทคลาสรูม จํากัด (Lens and Smart Classroom Co. Ltd.)) ลุยเสี่ยงไปเลยครับ ตอนนี้เปิดบริษัทมาปีครึ่งก็ขายได้ 7,000 ตัวครับ ในประเทศไทยส่วนใหญ่ ประเทศเดียว

Q: คิดว่าจะเจาะตลาดต่างประเทศไหม?

A: ตอนนี้กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แข็งแกร่งภายในประเทศก่อนครับ อย่างเช่น ตามโรงเรียน ฝึกให้เด็กๆ มีจินตนาการ ให้เด็กไทยได้ใช้ก่อน ให้ตลาดภายในไทยแข็งแกร่งก่อน ในปีหน้า (2561) เราเล็งไปกลุ่มตลาดประเทศในภูมิภาคอาเซียน ก็มีมาคุยอยู่เยอะเหมือนกันครับ มีเวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า ซึ่งตลาดในอเมริกาก็มีซื้อไปบ้างแล้วครับ ไม่เยอะ แต่เขาก็สนใจมากครับ แต่เราก็ยังไม่อยากให้เขารู้จักเรามากครับ อยากให้เด็กไทยได้ใช้ก่อนครับ

Q: ต่อไปจะมีโปรเจคทำงานอะไรต่อไหม?

A: เริ่มแรกเราทำกล้องจุลทรรศน์ทำธรรมดาๆ ก่อน แล้วก็พัฒนาเป็นกล้องส่องผิวหนัง (dermo scope lens เดอโมสโคป) ใช้วินิจฉัยโรคผิวหนังซึ่งต่อยอดมาจากกล้องตัวนี้ กล้องโพลาไรเซชันที่เอาไว้ส่องอัญมณี แล้วก็จะมีเอนโดไมโครสโคปขนาดเล็ก สามารถส่องเข้าไปในปากเพื่อดูรอยฟันผุได้ และก็มีงานวิจัยกล้องใต้น้ำไว้ดูไข่ประการังใต้น้ำ ตอนนี้มีงานวิจัยหลากหลายมากครับเกี่ยวกับไมโครสโคป แล้วก็ที่เกี่ยวข้องกับซอฟแวร์

Q: ฝากถึงนักวิจัยรุ่นหลังในการสร้างสรรค์ผลงาน

A: ก็แล้วแต่ว่าใครจะชอบอะไรนะครับ แต่ต้องคำนึงถึงการตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าจริงๆ มันก็ทำให้เราอยู่ได้และเราก็ได้ทำในสิ่งที่ชอบด้วย ไม่ต้องกลัวว่ามันจะเหนื่อย พยายามในสิ่งที่ชอบก็พอครับ

นายปรินทร แจ้งทวี

ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย