บทความ

เส้นใยอาหารจากผงเม็ดแมงลัก งานวิจัยเพื่ออาหารปลอดภัย

IMG_6430

เส้นใยอาหารจากผงเม็ดแมงลัก งานวิจัยเพื่ออาหารปลอดภัย

สมัยนี้จะทานอะไรก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องการคำนึงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพและการเสี่ยงสารปนเปื้อนที่แอบซ่อนอยู่ในอาหาร การวิจัยไทยสมัยนี้ก็ล้ำหน้าเช่นเดียวกัน อย่างงานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรินทิพ สุกใส จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต่อยอดงานวิจัยป้องกันการปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซินในเม็ดแมงลัก พัฒนาเป็น “ผงเม็ดแมงลัก” สามารถทานได้ง่ายขึ้น คุณประโยชน์มากขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น

อะฟลาทอกซิน (Aflatoxins) เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราและมีความใกล้ชิดกับมนุษย์เป็นอย่างมาก พบว่ามีการปนเปื้อนในอาหารมากที่สุดชนิดหนึ่ง อีกทั้งยังทนความร้อนสูงถึง 260 องศาเซลเซียส ส่วนมากพบการปนเปื้อนในเมล็ดพืชหรือโภคภัณฑ์ที่จัดเก็บอย่างไม่เหมาะสม เช่น ผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง เมล็ดพืช ถั่วชนิดอื่นๆ ข้าว ข้าวโพด แป้งต่างๆ  อาหารอบแห้ง เครื่องเทศ และอาหารสำหรับสัตว์ทางการเกษตร เพราะเมื่อสัตว์เหล่านี้ได้รับสารอะฟลาทอกซินจากอาหาร สารนี้จะถูกสะสมในเซลล์ตับ บางส่วนจะถูกขับออกทางปัสสาวะ อุจจาระและน้ำนม เมื่อเราบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่ปนเปื้อน ก็จะทำให้ได้รับสารพิษนี้ด้วยเช่นกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรินทิพ สุกใส ได้นำงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.อมร เพชรสม ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการลงพื้นที่สำรวจ วิจัย ช่วยชาวบ้านหาวิธีแก้ไขปัญหา โดยริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2549-2550  และยังคงผลักดันมาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบันนี้สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับวงการเม็ดแมงลักไทย

“งานนี้เป็นงานวิจัยต่อยอดมาจากรองศาสตราจารย์ ดร.อมร เพชรสม  ท่านเป็นผู้ก่อตั้งงานวิจัยนี้ตั้งแต่แรก เป็นเรื่องของอะฟลาทอกซินที่ตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนในเมล็ดแมงลัก ท่านอาจารย์จึงได้ออกไปสำรวจดูว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นเนื่องมาจากกระบวนการเก็บเกี่ยวเม็ดแมงลักของชาวบ้าน ที่มีการพรมน้ำเข้าไป ทำให้เกิดความชื้น เมื่อเก็บโดยไม่มีการตากแห้ง ก็จะมีการปนเปื้อนของอะฟลาทอกซิน

ในกระบวนการวิจัยเราเริ่มจากการเปลี่ยนกระบวนการผลิตของชาวบ้าน ให้เป็นกระบวนการผลิตแบบนวดฝัดแห้ง ที่ไม่มีการพรมน้ำในกระบวนการเลย ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่ได้จะไม่มีการเพิ่มความชื้น หลังจากที่เราได้เม็ดแมงลักที่มีคุณภาพดี ก็ไม่พบการปนเปื้อนของอะฟลาทอกซินเลย” ผศ.ดร.ศรินทิพ กล่าว

เมื่อได้เม็ดแมงลักที่มีคุณภาพ ขั้นตอนต่อมาคือการเพิ่มมูลค่าให้กับงานวิจัย โดยทำให้เม็ดแมงลักอยู่ในรูปแบบผง ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าเม็ดแมงลักมีสรรพคุณในการช่วยลดน้ำหนักและการขับถ่าย เมื่ออยู่ในรูปแบบของผงทำให้รับประทานง่ายขึ้น อีกทั้งช่วยดึงไขมันและโปรตีนที่ดีจากเม็ดแมงลัก เป็นคุณประโยชน์ที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลิตภัณพ์อื่นๆ ได้

ผศ.ดร.ศรินทิพ กล่าวถึงผลงานวิจัยว่า “เรามีผลิตภัณฑ์ “ผงเม็ดแมงลัก” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มเส้นใยอาหาร เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ไม่สามารถรับประทานอาหารแข็งได้ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กๆ ที่ไม่ชอบทานผักและผลไม้ หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย เราจะได้รับเส้นใยอาหารจากเมล็ดแมงลัก ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่ทำให้อาหารอ่อนนุ่มและสามารถดูดซับอาหารได้ เมื่อเวลาทานร่วมกับอาหารก็จะทำให้อาหารที่อยู่ในลำไส้นิ่มลง              เวลาถ่ายก็ถ่ายง่าย ทำให้มีมวลมากขึ้น ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย เป็นผลิตภัณฑ์ที่เราผลิตแล้วพร้อมที่จะให้บริษัทผู้ที่สนใจเข้ามาซื้อเทคโนโลยีเพื่อไปประกอบการต่อไปค่ะ”

เม็ดแมงลักเป็นเมล็ดพืชที่เราทานกันมาอย่างยาวนาน เมื่อผนวกเข้ากับวิทยาการการวิจัย จากอาหารเดิมๆ ก็กลายเป็นอาหารเสริมจากธรรมชาติที่มีประโยชน์มากกว่าเดิม เป็นการหยิบเรื่องเล็กๆ นำมาขยายต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่าและทางเลือกในการดำรงชีวิต

งานวิจัย…ดูแล้วก็คล้ายกับเม็ดแมงลัก เห็นเล็กๆ อย่างนี้ พอเจอน้ำ(องค์ความรู้) ก็พองขยายใหญ่ขึ้นเป็นเท่าตัว เพิ่มประโยชน์ เพิ่มความรู้ และมีคุณค่าในตัวเอง 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรินทิพ สุกใส

สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย