บทความ

งานวิจัยรักษ์โลก ผลิตภัณฑ์จากบ่อบำบัดน้ำยาง

IMG_6764

งานวิจัยรักษ์โลก ผลิตภัณฑ์จากบ่อบำบัดน้ำยาง

ยางพารา ถือเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชส่งออกสำคัญของประเทศ สร้างรายได้ให้กับชาวไทยได้อย่างมากมายมหาศาล ขั้นตอนของการผลิตแผ่นยางหรือยางพาราอัดแท่ง ต้องผ่านกระบวนการที่มี “น้ำ” เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในขั้นตอนของการบำบัดน้ำ จะมีตะกอนหรือเศษยางที่ถูดคัดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

ศาสตราจารย์ ดร.รัตนวรรณ มกรพันธุ์ จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นประโยชน์จากเศษยางเล็กๆ น้อยๆ นำมาคิดค้นวิจัยเพื่อช่วยกระบวนการบำบัดน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมผลิตที่ใช้น้ำยาง ให้ได้น้ำที่มีคุณภาพใสสะอาด สามารถนำกลับคืนมาใช้ประโยชน์อื่นๆ พร้อมทั้งได้ผลิตภัณฑ์จากเศษยาง ที่ไม่ถูกทิ้งเป็นขยะศูนย์เปล่าอีกต่อไป

นางสาวเพ็ญศิริ ศิลากุล นิสิตปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ ศาสตราจารย์ ดร.รัตนวรรณ มกรพันธุ์ จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการบำบัดน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมผลิตที่ใช้น้ำยาง ใน “งานวันนักประดิษฐ์ 2561” และ “งานตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 3” ณ Event Hall 98-99 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

“เป็นการนำเอากระบวนการบำบัดน้ำทิ้งจากยางสกิม ซึ่งสามารถบำบัดให้น้ำใสได้มากขึ้น และเป็นการนำเอาผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด   เพราะว่าตะกอนที่อยู่ในน้ำยาง สามารถนำมาผลิตและผสมกับเม็ดพลาสติกอื่นๆ ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไปได้ค่ะ” นางสาวเพ็ญศิริ กล่าว

ยางสกิมหรือหางน้ำยาง (Skim Latex) เป็นผลผลิตพลอยได้จากกระบวนการปั่นน้ำยางข้น เนื้อยางที่อยู่ในส่วนนี้มีปริมาณไม่เกิน 8% ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเครื่องปั่นและการปรับเครื่องปั่นน้ำยาง ผสมกรดซัลฟิวริคเพื่อจับเนื้อยางและแปรสภาพเป็นยางสกิมบล็อค*และยางสกิมเครพ*ต่อไป

*ยางสกิมบล็อค (skim block) : ก้อนยางที่ผ่านกระบวนการอัดแท่ง
*ยางสกิมเครพ (skim crepe) : ก้อนยางที่ผ่านกระบวนการรีดให้เป็นแผ่น

โดยผลงานการประดิษฐ์ของศาสตราจารย์ ดร.รัตนวรรณ มกรพันธุ์ ใช้เคลย์ดัดแปลงที่มีแร่เบนโทไนต์ ซึ่งเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ เป็นสารเพียงตัวเดียวที่ทำหน้าที่ในการจับยาง ตกตะกอน กรอง และดูดซับ ทำให้การบำบัดน้ำทิ้งมีคุณภาพดี ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหลายตัว หากตกค้างหรือเหลือทิ้งก็ไม่เป็นมลภาวะ อีกทั้งยังสามารถนำตะกอนยางสกิมที่แยกได้ นำไปเผาเพื่อกำจัดสารอินทรีย์ กลายเป็นเบนโทไนต์กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลากหลาย เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมปุ๋ย อุตสาหกรรมขุดเจาะเหมืองแร่และปิโตรเลียม

นอกจากนี้กระบวนการบำบัดน้ำทิ้งใช้พื้นที่ไม่มาก สามารถทำได้แบบกึ่งต่อเนื่อง จึงทำให้บำบัดน้ำได้อย่างรวดเร็ว และช่วยลดปัญหามลภาวะทางน้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบได้อีกด้วย

ผลงานการวิจัยชิ้นนี้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้นำตะกอนคอมโพสิตยางที่จับก้อนมาทดลองผลิตเป็นบล็อกยางปูพื้น ยางรองแท่นเครื่องและยางปะเก็นทนน้ำมัน ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ถูกผลิตเป็นรูปแบบเครื่องเขียน ถ้วย ช้อน จาน กระถาง ฯลฯ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก และมีการวางแผนจัดทำเป็นผลิตภัณพ์อื่นๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

นางสาวเพ็ญศิริ ศิลากุล

นิสิตปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย