บทความ

พลังงานจากขยะ ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

IMG_7526

พลังงานจากขยะ ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

จากข้อมูลขยะของกรมควบคุมมลพิษในร่างแผนจัดการขยะพลาสติกอย่างบูรณาการ (พ.ศ. 2560 – 2564) ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นโดยประมาณ 12% จากขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือเฉลี่ยเป็นจำนวน 2 ล้านตันต่อปี โดยแบ่งเป็นขยะพลาสติกที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 0.5 ล้านตัน และอีก 1.5 ล้านตันเป็นขยะพลาสติกปนเปื้อนที่ยากต่อการนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก ซึ่งวัฏจักรของขยะเหล่านี้ยังคงวนเวียนในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั่วทุกมุมโลกและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล (center of Fuels and Energy from Biomass) โดยศาสตราจารย์ ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ก่อตั้งศูนย์เชื้อเพลิงฯ ขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพการใช้ชีวภาพและชีวมวลในการผลิตเชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในเชิงอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างองค์ความรู้และการเผยแพร่งานวิจัยด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และมหาวิทยาลัย โดยมีการแปรรูปขยะพลาสติกและขยะทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงแข็ง (ถ่านอัดแท่ง ถ่านกัมมันต์) และเชื้อเพลิงเหลว (ไบโอดีเซล น้ำมันดีเซล)

อาจารย์ศิริชัย รัตนวราหะ ผู้จัดการศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล กล่าวถึงกระบวนการทำงานภายในศูนย์เชื้อเพลิงฯ เกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี ในงาน Thailand Innovation Hubs 4.0s ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

“เรามีการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทั้งหมด 2 รูปแบบ คือ เชื้อเพลิงแข็งและเชื้อเพลิงเหลว โดยเชื้อเพลิงเหลวใช้ระบบไพโรไลซิส* นำมาพัฒนาเป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติไม่ต่างจากน้ำมันทั่วไป ซึ่งได้มาจากขยะพลาสติกที่ถูกฝังกลบ ผ่านกระบวนการทำให้กลายเป็นน้ำมันและมีการนำไปใช้จริงแล้วครับ โดยการใช้เป็นเชื้อเพลิงของรถขสมก. ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี”

อาจารย์ศิริชัยกล่าวว่าเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการไพโรไลซิสเพื่อแปรรูปขยะให้เป็นน้ำมัน ถูกดัดแปลงระบบเพื่อให้เหมาะสมกับขยะภายในประเทศที่ขาดประสิทธิภาพในการจัดการขยะ ทำให้ขยะในประเทศไทยเกิดการปนเปื้อน เกินความสามารถของเครื่องผลิตจากต่างประเทศที่จะสามารถทำได้

“ในเชิงธุรกิจมีการส่งเสริมบ่อขยะที่มีปัญหาเรื่องขยะล้น มาทำระบบไพโรไลซิส*เพื่อผลิตน้ำมันใช้เองหรือจำหน่าย ซึ่งระบบไพโรไลซิส*มีใช้ในหลายประเทศแล้ว แต่เครื่องที่ใช้ในต่างประเทศใช้กับขยะของ ประเทศไทยไม่ได้ เพราะต่างประเทศมีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง แต่บ้านเราไม่มี ขยะจึงสกปรกมาก เราจึงออกแบบเครื่องให้เหมาะกับขยะของบ้านเรา”

*กระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) คือ กระบวนการกลั่นสลายหรือการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีโดยใช้ความร้อนในสภาวะไร้อากาศ เพื่อย่อยสลายโมเลกุลให้มีขนาดเล็กลง กลายเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของแข็ง ของเหลว และก๊าซ โดยพลาสติกมีสารประกอบคล้ายกับปิโตรเลียมหรือคล้ายกับน้ำมันเบนซินและดีเซล ดังนั้นกระบวนการไพโรไลซิสจึงช่วยแปรรูปขยะพลาสติกให้กลับมาเป็นน้ำมันใหม่ได้

ในส่วนของพลังงานจากเชื้อเพลิงแข็ง ศูนย์เชื้อเพลิงฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาขยะจากวัสดุทางการเกษตร จึงมีการแปรรูปขยะทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าและลดปริมาณขยะไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย

“ด้านการแปรรูป เราพิจารณาปัญหาจากวัสดุทางการเกษตร ที่มีปัญหาทางด้านราคา เช่น กะลามะพร้าว ซึ่งตามปกติจะเผาทิ้ง ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ใดๆ แต่เมื่อนำกระบวนการแปรรูปเข้ามาสู่ชุมชน ทำให้เกษตรกรรู้จักการแปรรูปวัสดุเหลือทิ้ง เพราะถ่านที่ได้จากการเผากะลามะพร้าวเหล่านี้ถูกนำมาอัดแท่ง กลายเป็นถ่านที่มีคุณภาพดีกว่าถ่านทั่วไป โดยให้การเผาไหม้ได้นานถึง 3 ชั่วโมง ไม่เกิดการแตกปะทุระหว่างเผาไหม้ ทั้งยังมีควันและขี้เถ้าน้อย ทำให้ถ่านจากกะลามะพร้าวมีราคาถึงกิโลกรัมละ 3 บาท ทั้งนี้ยังมีการขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ที่มี 2 บริษัทในประเทศไทยนำไปจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าแมคโครทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ศูนย์เชื้อเพลิงฯ ได้มีการพัฒนาต่อยอดอีกหลายโครงการ โดยเน้นการใช้วัสดุเหลือทิ้งแปรรูปเป็นพลังงานทางเลือกเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต เน้นการเข้าไปส่งเสริม เช่น ไม้ไผ่ทำข้าวหลาม จากหนองมน จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีไม้ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพียงแค่ 35% ส่วนไม้ไผ่ที่เผาทิ้งมีปริมาณถึง 5 ตันต่อวัน ทางศูนย์เชื้อเพลิงฯ จึงเข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านนำมาเผาเป็นถ่านและอัดแท่ง สร้างมูลราคาให้กับไม้ไผ่ และมีการเข้าไปส่งเสริมโดยการจัดตั้งโรงงานที่จังหวัดชลบุรี มีการรวมกลุ่มและตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยที่มีเราเป็นพี่เลี้ยงครับ”

นอกจากถ่านอัดแท่งที่ส่งเสริมการแปรรูปขยะทางการเกษตร ยังมีถ่านกัมมันต์ที่ได้รับการพัฒนามาจากการเผาถ่านแบบพิเศษ โดยการนำถ่านไปเผาในอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียสและพ่นละอองน้ำลงไปเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ในบรรยากาศของไอน้ำ ทำให้เกิดรูพรุนในเนื้อถ่านมากกว่าปกติ ซึ่งทำให้สามารถดูดกลิ่นและกรองสิ่งสกปรกได้ดี สามารถกรองอากาศและกรองน้ำได้สะอาด นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ดูดกลิ่นหรือเป็นส่วนประกอบของเครื่องกรองน้ำและเครื่องปรับอากาศได้ในอนาคต

อาจารย์ศิริชัย รัตนวราหะ

ผู้จัดการศูนย์เชื้อเพลงและพลังงานจากชีวมวล, คณะวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี