บทความ

ออกลังกายสมอง…นวัตกรรมใหม่เพื่อคนที่ไม่อยากลืม

คมชัดลึก 1

ออกลังกายสมอง…นวัตกรรมใหม่เพื่อคนที่ไม่อยากลืม

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ อาการหลงลืมสามารถเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากลืมแล้วลืมเลยส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันยากลำบากมากขึ้น ยิ่งในผู้สูงวัยยิ่งเข้าใกล้กับโรคสมองเสื่อมได้มากกว่าวัยอื่นๆ ไม่เพียงแค่ทำร่างกายให้แข็งแรงเท่านั้น แต่จะบริหารสมองอย่างไรไม่หมดประสิทธิภาพเร็วแม้จะสูงวัยแล้วก็ตาม

เรื่องนี้นักวิจัยไทยก็ไม่นิ่งดูดาย จากประสบการณ์ในการคลุกคลีกับคนไข้โรคสมองเสื่อมและผู้สูงอายุที่มีสมองหรือการรู้คิดที่ทำงานเริ่มบกพร่อง เป็นเวลากว่า 15 ปีอย่าง แพทย์หญิง โสรพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ อาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้คิดค้น “ระบบฝึกฝนสัญญาณคลื่นสมองแบบป้อนกลับ สำหรับผู้สูงอายุ” ร่วมกับทีมวิศวกรจาก NECTEC และคณะวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังได้รับรางวัล 2 เหรียญทองจากเวที 44th international Exhibition of Invention of Geneva การันตีความสำเร็จของผลงานวิจัยชิ้นนี้

“สิ่งที่สัมผัสได้คือ ผู้สุงอายุเยอะแยะเลยที่ถามหาว่าจะทำอย่างไรให้สมองดีไปตลอด เหมือนถามว่าจะออกกำลังกายสมองอย่างไร ที่จะไม่ทำให้ไม่หลงลืม หรือไม่ทำให้สมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ อันนี้เป็นโจทย์ที่ได้รับมาตลอด เวลาที่เราดูแลคนไข้ เราก็พยายามจะหาสิ่งที่จะช่วยคนไข้กลับไปดูแลบริหารความสามารถของสมองได้อยู่เรื่อยๆ นั้นเป็นที่มาที่ได้มาเจอกับทีมวิศวกรจาก NECTEC และวิศวะฯ จุฬาฯ ที่เป็นทีมที่สนใจเรื่องเดียวกัน เลยมาคุยกันว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรนำมาใช้เพื่อผู้สูงอายุ ที่มีการนำคลื่นสมองมาปรับสัญญาณ

คลื่นสมองที่เราดึงเป็นคลื่นสมองส่วนสมาธิ เขาจะใช้สมาธิคุมเกมส์ได้ หมายความว่าถ้าเขาเล่นไปนานๆ เขาจะรู้จังหวะว่า ควรจะดึงให้สมาธิยาวขึ้นได้อย่างไร คุมด้วยการมองเห็นเกมส์ที่ตัวเองเล่น คือตัวเองทำอย่างไร ก็สะท้อนออกมา เห็นผลของคลื่นสมองของตัวเองจริงๆ  ซึ่งมันมีงานวิจัยมาเป็น 10 ปีแล้ว เราก็เอามาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาเด็กสมาธิสั้น ก็คุยกันว่าถ้าเราปรับการใช้คลื่นนี้ มาใช้ในผู้สุงอายุโดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงกับโรคอัลไซเมอร์ จะได้ผลเป็นอย่างไร จึงมาเป็นหัวข้องานวิจัย และได้ทุนจาก สวทช. มาสนับสนุนการทำตรงนี้”  แพทย์หญิง โสรพัทธ์อธิบาย

การฝึกสมาธิไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิด เพราะมีเกมส์ที่เหมาะกับผู้สูงอายุเข้ามาเป็นตัวเชื่อม ทำให้การฝึกสมองเป็นเรื่องสนุก น่าท้าทาย และไม่น่าเบื่อ โดยระบบฝึกฝนสัญญาณคลื่นสมองฯ มีการปรับตัวรับสัญญาณ ซึ่งสามารถกรองสัญญาณที่ไม่เกี่ยวข้องออก เหลือเพียงสัญญาณที่ต้องการให้คุมเกมส์ได้ จึงทำให้เกิดความแตกต่างจากงานที่มีมาจนได้รับการจดสิทธิบัตร

การทำงานของระบบฝึกฝนสัญญาณคลื่นสมองฯ จะแสดงให้เห็นแบบ Real Time หากไม่มีสมาธิหรือสนใจสิ่งรอบข้าง คลื่นสัญญาณที่รับส่งระหว่างเครื่องรับกับสมองก็จะตกลงทันที และแสดงผลการขาดหายของสัญญาณทันทีเช่นกัน ทำให้ผู้ฝึกรู้ตัวและเริ่มการฝึกใหม่ สามารถเรียนรู้ระหว่างฝึกได้ด้วยตนเองว่าจะทำอย่างไรให้สามารถประคองคลื่นสมาธิได้นานขึ้น ยิ่งประคองคลื่นสมาธิได้นานเท่าไหร่ หน้าที่ในการบริหารจัดการสมองยิ่งดีขึ้น ใช้ได้ผลดีกับกลุ่มก่อนสมองเสื่อม เพราะพบว่าในกลุ่มที่มีอาการสมองเสื่อมแล้ว ทักษะเหล่านี้ไม่ดีขึ้น เนื่องจากสมองมีความจำกัดในการพัฒนาตัวเอง จึงสรุปได้ว่าเหมาะกับการใช้เพื่อป้องกันมากกว่ารักษานั่นเอง

เป้าหมายต่อไปของระบบฝึกฝนสัญญาณคลื่นสมองฯ คือการขยายการใช้งานไปยังโรงพยาบาล และพยายามทำให้ครอบคลุมไปถึงโรงพยาบาลในชุมชน ซึ่งตอนนี้ได้ทดลองใช้งานไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ประมาณ 10 แห่ง เพื่อศึกษาการใช้คลื่นสัญญาณได้ละเอียดมากขึ้น จำแนกไปสู่สัญญาณอื่นๆ เช่น อารมณ์ ซึ่งในอนาคตยังคงจะมีการพัฒนาออกมาอีก เพื่อวินิจฉัยการรักษาที่รวดเร็วและดีกว่า

“คิดว่าเร็วๆนี้ จะมีงานอีกตัวที่ทำร่วมกับวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  NECTEC และก็คณะศิลปกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เพื่อดูเรื่องของการวิเคราะห์การใช้เสียงเพื่อดูว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์เท่าไหร่ ใช้เสียงมาวินิจฉัยและวิเคราะห์ พอดีได้มีโอกาสได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเคสเหล่านั้นที่มีส่วนเกี่วข้องกับภาษาเยอะมาก เราดัดแปลงมาจากรูปแบบคำตอบในกระดาษมาเป็นรูปแบบเสียง พอตอบด้วยเสียง ทั้งน้ำเสียง จังหวะคำที่ใช้ หรือความสละสลวยในภาษา เรามาวิเคราะห์ได้หมดเลย เราสามารถที่จะวิเคราะห์ทั้งน้ำเสียง คุณภาพของประโยคเอาเทียบกับคนไข้ คนปกติและคนที่มีภาวะรู้คิดในระดับต่างๆ สรุปว่างานนี้ผลเบื้องต้นค่อนข้างสวย คือวินิจฉัยได้ไวมาก ในอนาคตค่ะ ปีนี้กำลังเริ่ม คิดว่าในปีนี้น่าจะทำวิจัยเรื่องนี้เสร็จ” แพทย์หญิง โสรพัทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี การฝึกสมองสามารถทำเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน เพียงลองเล่นเกมส์ฝึกสมองบ่อยๆ นอกจากจะช่วยผ่อนคลายความเครียดแล้วยังทำให้เกิดความสนุก ยิ่งได้เล่นกับคนในครอบครัวยิ่งทำให้เกมส์สนุก ท้าทายมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว การดูแลเรื่องการทานอาหารที่มีส่วนประกอบของโอเมก้า3 DHA โฟเลต วิตามินบี 1 อาทิ ปลา ผัก ผลไม้ หรือธัญพืชก็สามารถช่วยป้องกันให้ห่างไกลจากโรคสมองเสื่อม ง่ายๆ ด้วยตัวเราเอง

รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญชโรจน์

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัล: เวที 44th international Exhibition of Invention of Geneva รางวัล 2 เหรียญทอง