บทสัมภาษณ์ “จุฬาฯ ปรับตัวอย่างไร ในภาวะ COVID-19?”
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-05 10:56บทสัมภาษณ์ “จุฬาฯ ปรับตัวอย่างไร ในภาวะ COVID-19?”
แกะบทสัมภาษณ์ “จุฬาฯปรับตัวอย่างไร ในภาวะ COVID-19?” กับศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ในรายการSuthichai Live เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563
ลิงก์ Youtube: https://bit.ly/2y24bWN
สุทธิชัย หยุ่น: ท่านอธิการมีการปรับตัวอย่างไรบ้างครับ
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: COVID -19 มาแรงและมาเร็ว โดยปกติเราจะทราบล่วงหน้าเพื่อปรับตัวในการแก้ไขปัญหา แต่ครั้งนี้เราแก้ปัญหาก่อน โดยเริ่มจากจำกัดการเดินทางของคณาจารย์ นิสิต และบุคลากร เราเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ในส่วนของนวัตกรรม จุฬาฯ ก็ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลา 3-4 ปี ส่งผลให้มีการคิดพัฒนาจนกลายมาเป็นผลงานในหลากรูปแบบ เช่น ชุดตรวจ COVID test kit หุ่นยนต์เพื่อช่วยการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ แอพพลิเคชั่น “lung care” เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างผลงานทางวิชาการบางส่วนที่จุฬาฯ ได้ดำเนินการ
วันนี้ ไม่เพียงแต่ผลกระทบเรื่องการศึกษาหรือการดูแลสุขภาพ แต่ยังมีผลกระทบในเรื่องของสังคมและเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น จุฬาฯ ต้องมองให้ครบองค์ร่วม โดยมีการทำ Chula shelter in place Model ในมหาวิทยาลัย นอกจากดูแลสุขภาพ ยังรวมไปถึงการเรียนผ่านออนไลน์ Work from home และการให้ข้อมูลข่าวสารสำหรับประชาคมจุฬาฯ รวมไปถึงชุมชนรอบข้างที่ประสบปัญหาจากการปิดพื้นที่ ขาดนักท่องเที่ยวก็มีการลดค่าเช่าหรือยกเว้นค่าเช่า
สุทธิชัย หยุ่น: มีการขึ้นค่าเล่าเรียนในช่วงนี้พอดี มีมาตรการหรือรับมืออย่างไรบ้างครับ
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: ค่าเล่าเรียนจะมีการปรับเปลี่ยนในช่วงปีหน้า (2564) ในนิสิตรอบถัดไปที่จะเข้ามา ส่วนนิสิตเก่าก็ยังคงเป็นค่าเล่าเรียนราคาเดิม ตอนนี้จุฬาฯ กำลังพิจารณาอยู่ใน 2 ทางเลือก ระหว่าง “การยกเลิกค่าเล่าเรียนให้กับนิสิตทุกคน” กับ “ให้การช่วยเหลือกับนิสิตที่มีปัญหาด้านการเงินเฉพาะกลุ่ม” ซึ่งในแต่ละปี จุฬาฯ มีการให้ทุนการศึกษาอยู่ที่ปีละ 700 กว่าล้านบาท จึงมีแนวคิดที่กำลังพิจารณาอยู่ว่า “เราจะให้ทุน” “งดเว้น” หรือทำทั้งสองแนวทาง นอกจากค่าเล่าเรียนของนิสิต ยังมีเรื่องของการเป็นอยู่ของนิสิตร่วมไปถึงด้านเศรษฐกิจในครอบครัวของบุคลากรด้วยที่เราอยากจะช่วยเหลือ
สุทธิชัย หยุ่น: มีมาตรการอย่างไร ในการช่วยเหลือนิสิต บุคลากร อาจารย์ และชุมชนโดยรอบจุฬาฯ ในช่วงวิกฤตนี้ครับ
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: ช่วงนี้ชุมชนสวนหลวง สามย่าน เศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าหาย เราก็ช่วยลดค่าเช่า บางกรณีก็ลดให้ถึง 75% หรือบางกรณีก็ยกเว้นค่าเช่า โดยที่เรามีจุดประสงค์ที่ว่า “เราต้องผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” ในช่วงแรกเราเริ่มที่จะแก้ปัญหาในทันที ซึ่งในระหว่างที่แก้ปัญหาเราก็มีการเตรียมตัวเพื่อทำให้ปัญหาเบาบางลงและคิดวิธีให้ให้สามารถอยู่รอดในวิกฤตเช่นนี้ได้อย่างไร หากเหตุการณ์ใกล้เข้าสู่สภาพปกติเราก็ต้องคิดต่อว่าจะไปถึงจุดฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมอย่างไรให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว นั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราเริ่มวางแผนกันแล้วครับ
สุทธิชัย หยุ่น: จะมีโอกาสในการนำกองทุนหรือทรัพย์สินต่างๆ ของจุฬาฯ มาช่วยในยามวิกฤตอย่างไรบ้างครับ
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: ในฐานะที่เราช่วยได้ในระยะสั้น เช่นยกเว้นค่าเช่า เตรียมที่พัก เป็นต้น จะเห็นได้จากที่ศิษย์เก่าช่วยกันบริจาคเพื่อผลิตชุดตรวจ COVID test kit กระจายไปยังต่างจังหวัด ซึ่งมีหลายโรงพยาบาลให้ความสนใจ ต่อไปเราต้องยื่นจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกทั้งนิสิตเก่าระดมกำลังในการส่งหุ่นยนต์ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ เช่น “หุ่นยนต์นินจา” “หุ่นยนต์ปิ่นโต” ความรู้ต่างๆ ที่นำมาใช้ จากงบประมาณของรัฐบาล จากงบประมาณแผ่นดินที่เรานำมาสร้างความรู้ วันนี้จุฬาฯ อยู่ในสถานะที่แสดงให้เห็นแล้วว่า เรานำความรู้มาช่วยกู้สถานการณ์ COVID
สุทธิชัย หยุ่น: อุปกรณ์ Test kit มีความแม่นยำในการตรวจสอบขนาดไหนครับ
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: สำหรับนการทดสอบครั้งแรก ความแม่นยำอยู่ที่ 90% ขึ้นไป ชุดทดสอบของเราผลิตมาจากพืชที่ปลูกในประเทศไทย มีห้องปฏิบัติการในการผลิตเอง ซึ่งมีผลการทดสอบที่ดีมากๆ เลยครับ ตอนนี้มีการทดสอบไปกว่า 1,000 เคสแล้ว เนื่องจากไวรัส COVID ค่อยข้างมีความแข็งแกร่งและมีการปรับตัวตลอดเวลา ดังนั้น Test kit ของจุฬาฯ จึงตรวจจับผ่าน Antibody ว่ามีการติดโรคมาแล้วกี่วัน? มีภูมิคุ้มกันรึยัง? ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการต่อไปว่าใครสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แน่นอนว่าต้องเป็นกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทาน และอาจจะพัฒนาไปสู่การทำเรื่อง “immunity certification” หลังจากหมดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
สุทธิชัย หยุ่น: จุฬาฯ มีบทบาทอย่างไรในการศึกษาการหาวัคซีน
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: ผมเปรียบเทียบว่าตอนนี้เรากำลังสู้ศึก สู้กับ COVID-19 ในระยะสั้นนี้ เรามีอาวุธอะไรต้องเอาออกมาสู้ก่อน ตอนนี้เครื่อง PCR (Polymerase Chain Reaction) ตามโรงพยาบาลต่างๆ มีจำนวนจำกัด ถ้าเปรียบเทียบในหลายประเทศ แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงแต่ก็สามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วจากประสิทธิภาพและกำลังของเครื่องมือ เครื่องมือ Test kit ของจุฬาฯ จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาว ต่อไปก็จะมีตัวอื่นพัฒนาออกมาอีกเรื่อยๆ ตอนนี้ในกรุงเทพค่อนข้างพร้อม แต่ในต่างจังหวัดยังคงขาดแคลน แม้ตอนนี้เรายังไม่มีอาวุธหนักในการจัดการกับไวรัส แต่เรายังมีโครงข่ายการเกื้อกูลช่วยเหลือกัน เป็นกำลังใจให้กัน เป็นภาวะที่ดีมากๆ ครับ
สุทธิชัย หยุ่น: จากบทเรียนเรื่องนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยคิดที่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นของตนเองไหม? (เช่น โรงพยาบาล ศูนย์วิจัย การรักษา การป้องกันโรค ฯลฯ)
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: ผมคิดว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาจจะคนละสังกัดในทางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยแล้วเราเชื่อมโยงกันมาอย่างแนบแน่น อย่างเช่น การทำระบบตรวจคัดกรอง COVID หากพบผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเราก็ติดต่อกับโรงพยาบาลจุฬาฯ หรือในขณะที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มีการรองรับผู้ป่วยเกินอัตรา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็เปิดหอพักเพื่อรับผู้ป่วยในเคสที่เหมาะสมจากโรงพยาบาลจุฬาฯ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการเกื้อกูลกัน ยังมีกำลังเสริมจากคณะต่างๆ เข้ามาร่วมกันสร้างเครื่องไม้เครื่องมือให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ต่อไปการเรียนรู้จะต้องเปลี่ยนแปลง มาในรูปแบบของ “new normal” ซึ่งการปรับเปลี่ยนและปรับตัวของมหาวิทยาลัยสำคัญมากๆ ครับ

สุทธิชัย หยุ่น: ผมเชื่อว่าในแง่การสร้างบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญ แม้กระทั่ง อสม. ที่เราไม่รู้จักและไม่ค่อยยให้ความสำคัญ ปรากฏว่าครั้งนี้มีบทบาทอย่างมากในระดับชุมชน เพราะรู้จักทุกคนในหมู่บ้าน ผมได้ยินแพทย์กล่าวถึง อสม. ว่าเป็น “กองทัพแถวหน้าในระดับชุมชน” จริงๆ เพราะเราไม่เคยคิดว่าจะต้องมีการฝึกแบบนี้มาก่อน แม้ว่าในยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล แต่เราก็ต้องสร้างความรู้ให้กับคนในระดับรากหญ้าได้เข้าใจความรู้ด้านสาธารณะสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ไหมครับ
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: ผมมาลองคิดทบทวน เกี่ยวกับ อสม. ว่าเขาไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีใบประกอบวิชาชีพในการทำงานด้านนี้ เราควรใช้วิกฤตในครั้งนี้ปรับ “new normal” โดยสังคมหลัง COVID เราต้องการรูปแบบมากกว่าแบบฟอร์มไหม? ย้อนกลับมาถึงมหาวิทยาลัย อาจารย์ 1 ท่านต่อนิสิตจำนวนหนึ่งจริงหรือไม่? ในโลกยุคใหม่การเสริมทักษะให้คนอาจจะสำคัญกว่าความรู้ในบางสายงาน ที่สามารถฝึกและในไปใช้ได้ในทันที
สุทธิชัย หยุ่น: ความสามารถที่ใช้แก้ปัญหาในอนาคต ไม่ใช่ความสามารถดั่งเดิมที่เราสอน วิกฤตเรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า เมื่อเกิดวิกฤตในขนาดระดับโลก ประเทศไทยของเราในระดับชุมชนจะต้องมีคนแบบไหนและมีความคิดแบบไหนเพื่อมาเป็นผู้นำและรับมือวิกฤตที่คาดไม่ถึง
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: “new normal” ในฐานะนักวิชาการ เราก็ “ฝัน” อยากให้สังคมไทยมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งชุมชนเราก็มีอยู่แล้ว นับว่าเป็นจุดแข็งมากๆ ซึ่ง ‘ข้างบน’ จะทำอย่างไรให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ ตอนนี้เราติดอยู่ในรูปแบบ “การกำกับดูแล” มานาน เมื่อประเทศเราเจอปัญหาขนาดใหญ่ “การกำกับดูแล” จากส่วนกลางทั้งหมดอาจล่าช้าหรือติดขัด มันก็สะท้อนมาถึงเรื่องการศึกษาที่ว่าการสร้างหลักสูตรปริญญาใหญ่ๆ ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ทุกศาสตร์อาจจะต้องปรับตัวหมด แต่อะไรที่ต้องปรับก่อนปรับหลัง หรือใช้วิกฤตนี้ในการปรับทุกอย่าง
สุทธิชัย หยุ่น: ตอนนี้ความท้าทายในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของจุฬาฯ เป็นอย่างไรครับ
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: ผมอยากจะขอบคุณ COVID มากเลยครับในมิตินี้ (หัวเราะ) ในตอนที่ผมไปเสนอวิสัยทัศน์ในการเป็นอธิการบดี (ช่วงมกราคม 2563) โดยผมเสนอกรรมการว่า ปีแรกที่ดำรงตำแหน่งผมจะทำให้การเรียนหลักสูตรออนไลน์ถูกใช้มากขึ้น 10 คณะในปีแรก ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มสมัยที่ 2 ก็ทำได้ 100% แล้วครับ (หัวเราะ) ทุกคนปรับตัวหมดแล้วครับในสภาวะแบบนี้
เมื่อก่อนก็ต้องยอมรับนะครับ ว่าระบบการเรียนการสอนเราฝังราก รูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบเดิมมาเป็นระยะเวลาร้อยปีแล้วครับ จุฬาฯ อยู่ในสถานะที่ค่อนข้างดีครับ เราใช้ออนไลน์ เรามีระบบคณาจารย์ รองรับกันเองค่อนข้างเยอะ เราใช้กันมานานแล้ว เพียงแต่จำนวนคณาจารย์ที่ใช้ยังไม่เยอะ แต่เครื่องมือเราพร้อม เมื่อวันที่เราต้องเปลี่ยนแปลงในวันที่มีวิกฤต ทุกคนก็สามารถสอนออนไลน์ได้ ซึ่งจริงๆ การสอนออนไลน์ไม่ได้สบายขึ้นนะครับ เราต้องลงกำลังเยอะมาก
สุทธิชัย หยุ่น: ผมเคยคุยกับอาจารย์หลายท่าน คิดว่าการสอนออนไลน์สบาย แต่จริงๆ แล้วต้องทำการบ้านเยอะขึ้น นักศึกษาถามคำถามมากขึ้นจากการพิมพ์ข้อความ ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และนักศึกษาดีขึ้นด้วย
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: จริงครับ และเป็นตัวชี้วัดสามารถบอกได้ว่า “เราทำหลายขั้นตอนเกินไปหรือเปล่า?” ทำให้เราตั้งคำถามว่า “ทำไมทำออนไลน์แล้วเร็วขึ้น?” “ทำไมแต่ก่อนที่ยังไม่ออนไลน์จึงทำไม่ได้แบบนี้?” สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ในลำดับถัดไป เราจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพของการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ดีขึ้น และวัดผลได้ ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนา ซึ่งผมคิดว่าน่าจะพัฒนาทั่วโลก
เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมประชุม “Asia–Pacific Rim University (APRU)” ระหว่างอธิการบดี 10 กว่ามหาวิทยาลัย ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เราหารือกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ประสิทธิภาพในการเรียนออนไลน์สูงมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเด็กในยุคนี้เติบโตมากับออนไลน์อยู่แล้วและสามารถปรับตัวได้ง่าย เด็กๆ มีการจัดปาร์ตี้ออนไลน์แม้จะอยู่กันคนละที่ เหมือนผมกับคุณสุทธิชัยที่ตอนนี้เราคุยกันอยู่ ชีวิตมีการปรับใหม่ มีคำพูดที่ว่า “Social distancing” จริงๆ แล้วถูกต้องรึเปล่า? กายภาพเราห่างกันแต่ในเชิงสังคมและความเป็นชุมชนยังเชื่อมโยงกันได้
สุทธิชัย หยุ่น: เราอาจจะใกล้ชิดกว่าที่เราจะเจอกันต่อตัว ทั้งเวลาที่มีไม่ตรงกัน รถติดบ้าง แต่ตอนนี้ถ้าเราว่างตรงกันก็แค่โทรคุยกันได้เลย
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: อันนี้ก็เป็น new normal ครับ
สุทธิชัย หยุ่น: ใช่ครับ แต่ก่อนอาจจะติดปัญหาทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ทุกคนทำเป็นแล้ว
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: โลกเราจะเปลี่ยนเร็วกว่าเดิม ในส่วนของความรู้และการศึกษาเราต้องปรับตัวเยอะอย่างแน่นอนครับ จะทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยนำสิ่งที่ตัวเองโดดเด่น ทำให้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น อะไรที่แน่นหนาเกินไปจะต้องผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น
สุทธิชัย หยุ่น: ในการดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีสมัยที่ 2 การบริหารมหาวิทยาลัยหลังไวรัส COVID จะต่างจากการบริหารมหาวิทยาลัยเมื่อ 4 ปีที่แล้วอย่างไร
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: ทางทีมของเราก็ได้มีการเตรียมตัวและเดินหน้ามาบ้างแล้วนะครับในบางส่วน เช่น เรื่องนวัตกรรม เรื่อง Start up เรื่องการเปิดหลักสูตรใหม่ เรื่องการเรียนออนไลน์ เรื่องการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ของแต่ละคณะ นิสิตไม่จำเป็นต้องยึดติดกับศาสตร์ตัวเอง ที่ผ่านมายังมีแรงต้านพอสมควร ซึ่งในโอกาสนี้ ผมคิดว่าทำให้แรงต้านลดลงและเกิดได้ง่ายขึ้น ผมว่าเป็นโอกาสนะครับ ถึงแม้ในบางมิติการทำงานจะยากขึ้น
สุทธิชัย หยุ่น: ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อล่าสุดในจุฬาฯ เป็นอย่างไรบ้างครับ?
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์: ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อทั้งหมด มีอยู่ทั้งหมด 3 คน และได้กลับบ้านแล้ว มีครอบครัวที่ติดเชื้ออยู่อีก 2-3 คน สำหรับผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง เราให้กักตัวอยู่ในสถานที่ของมหาวิทยาลัย มีการส่งข้าว-ส่งน้ำ ดูแลอย่างดี สำหรับบุคลากรในจุฬาฯ ตอนนี้เราดูแลได้ดีมาก มีความพร้อมในการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลจุฬาฯ แม้เราจะไม่ได้มีบุคลากรที่พร้อมเหมือนโรงพยาบาลจุฬาฯ แต่เราก็มีบุคลากรอาสาสมัคร ทั้งนิสิต อาจารย์ บุคลากร รปภ. ต้องขอบคุณคนเหล่านี้มากๆ เลยครับ