“ไฮโดรแอลกอฮอล์เจล” เจลแอลกอฮอล์ล้างมือสูตรธรรมชาติ
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-05 11:45“ไฮโดรแอลกอฮอล์เจล” เจลแอลกอฮอล์ล้างมือสูตรธรรมชาติ
ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือแอลกอฮอล์ถือเป็น “New Normal” อันดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจและซื้อมาเก็บไว้ใช้จนเป็นเรื่องปกติ มีหลากหลายสูตร หลายยี่ห้อ ทั้งแบบเจลและแบบสเปรย์ ในช่วงหลังมีลูกเล่นในการใส่สารบำรุงผิวและเพิ่มกลิ่นเชิญชวนให้น่าใช้มากยิ่งขึ้น
รู้ไว้ใช่ว่า! ส่วนประกอบของเจลล้างมืออาจจะไม่อ่อนโยนอย่างที่เราคิด เมื่อ ดร. ธีรพงศ์ ยะทา จากหน่วยชีวเคมี ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบว่าส่วนประกอบของเจลแอลกอฮอล์ทั่วไปมีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งได้ เมื่อใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
“สารก่อเนื้อเจลที่นิยมใช้มากที่สุด คือ คาร์โบพอล (Carbopol) เป็นโพลีเมอร์สังเคราะห์ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหลักในการทำให้เกิดเนื้อเจลในการทำเจลแอลกอฮอล์ แต่มีข้อควรคำนึงในการทำเจลแอลกอฮอล์ด้วยโพลีเมอร์ชนิดนี้ นั่นคือการใช้สารไตรเอทาโนลามีน (triethanolamine) ในการทำปฏิกิริยาสร้างเนื้อเจล ซึ่งหลายประเทศทางยุโรป (โดยคณะกรรมาธิการยุโรป European commission) จัดให้สารกลุ่มนี้เป็นสารต้องห้ามในการผลิตเครื่องสำอาง เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคือง และมีการศึกษาพบว่าสามารถทำปฏิกิริยากับสารเคมีบางชนิดและก่อตัวจนเกิดเป็นสารกลุ่มไนโตรซามีน (nitrosamines) ซึ่งเป็นสารก่อการกลายพันธุ์ อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้ หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเป็นปี แต่ในประเทศไทยสารนี้ยังคงได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ต้องมีการจำกัดปริมาณการใช้หรือความเข้มข้นในผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ครับ”

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมคณะสัตวแพทยศาสตร์จึงมีการผลิตเจลแอลกอฮอล์ จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID–19 เจลแอลกอฮอล์ขาดตลาดอย่างหนัก หลายหน่วยงานภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพยายามผลิตเจลแอลกอฮอล์เพื่อแจกจ่ายให้กับนิสิต เจ้าหน้าที่ และบุคลากรในหน่วยงานไว้ใช้ป้องกันโรคในขณะที่ยังเดินทางมาทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย ซึ่งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเจลแอลกอฮอล์ทำให้ ดร. ธีรพงศ์ พยายามคิดหาวิธีในการผลิตโพลิเมอร์ทดแทนจากธรรมชาติที่มีราคาถูก สามารถขึ้นรูปเจลร่วมกับแอลกอฮอล์ได้ และที่สำคัญไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ในระยะยาว
“เราใช้พอลิเมอร์ทดแทนเป็น แซนแทนกัม (Xanthan gum) เป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติที่หาซื้อได้ทั่วไป และใช้ในการประกอบอาหารได้ครับ ซึ่งมีราคาถูกกว่าคาร์โบพอล แต่ปัญหาในการใช้แซนแทนกัมคือการทำให้สารมีประสิทธิภาพโอบอุ้มแอลกอฮอล์เป็นไปได้ยาก ผมจึงนำเทคนิคจากองค์ความรู้เดิมมาปรับองค์ประกอบและกรรมวิธีการผลิต จนสามารถรับแอลกอฮอล์ได้สูงสุดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยสามารถคงสภาพเนื้อเจลได้แม้เก็บเป็นเวลา 1-2 ปี
สิ่งที่ผมเติมเข้าไปด้วยก็คืออนุภาพนาโนครับ สำหรับคนที่ใช้เจลแอลกอฮอล์ผสมน้ำมันหอมระเหยแล้วไม่ติดทน เป็นเพราะว่าน้ำมันหอมระเหยไปพร้อมกับแอลกอฮอล์ ผมจึงนำน้ำมันหอมระเหยมาใส่ในเทคโนโลยีระดับนาโนให้กักเก็บและห่อหุ้มน้ำมันหอมระเหยไว้ หลังจากแอลกอฮอล์ระเหยกลิ่นหอมก็ยังคงติดมือนานขึ้น ระยะเวลาในการปลดปล่อยกลิ่นก็ยาวนานขึ้น ผมทำน้ำมันหอมระเหยนาโนโดยใช้พืชสมุนไพรไทยที่มีกลิ่นหอม เช่น ตะไคร้หอม มะกรูด ซึ่งมีผลรายงานว่าสมุนไพรเหล่านี้มีผลในการฆ่าเชื้อไวรัสต่างๆ ได้ แต่ผมก็ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเมื่อใช้ร่วมกันแล้วจะมีประสิทธิภาพดีกว่าหรือไม่ ยังอยู่ในขั้นพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดในอนาคตครับ” ดร. ธีรพงศ์ กล่าว

นอกจากเจลแอลกอฮอล์แล้ว แซนแทนกัมพอลิเมอร์ยังสามารถต่อยอดมาสู่เจลกึ่งสเปรย์ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้ดีอีกด้วย “ก่อนหน้านี้ผมได้มีการผสมวิตามินอีหรือสารสกัดที่ให้ความชุ่มชื้นให้กับผิวเช่น ใบบัวบก หรือสารต่างๆ ที่มีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้น แต่ผมพบว่าแซนแทนกัมสามารถให้ความชุ่มชื้นกับผิวได้ดีอยู่แล้ว จนรู้สึกได้ว่าใช้แล้วมือนุ่มนิ่ม ไม่แสบผิว ผมจึงผลิตแบบสเปรย์ขึ้นมาด้วย โดยสเปรย์แอลกอฮอล์ทั่วไปค่อนข้างระเหยเร็ว ระยะเวลาในการสัมผัสเชื้อโรคเร็วเกินไปทำให้ฆ่าเชื้อได้ไม่ดีเท่ากับเจล แต่สำหรับบางคนที่สะดวกแบบสเปรย์มากกว่า ผมจึงทำสเปรย์ในรูปแบบของเจลที่เรียกว่า ‘สเปรย์เจล’ โดยเพิ่มระยะเวลาในการสัมผัสกับเชื้อโรคได้เหมือนกับเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสูตรที่มาจากพอลิเมอร์ธรรมชาติตัวนี้ด้วยเช่นกันครับ”
จุดบังเอิญเล็กๆ ก่อเกิดเป็นนวัตกรรมต่อยอดชิ้นใหม่ จาก ‘วิกฤต’ สู่ ‘โอกาส’ ทำให้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ผลิตโดยคณะสัตวแพทย์เป็นนวัตกรรมนาโนจากสมุนไพรธรรมชาติ ที่นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์เจลล้างมือแล้ว ยังต่อยอดไปถึงการผลิตเวชภัณฑ์ยาในสัตว์เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้อีกด้วย
“สารไตรเอทาโนลามีนใช้ระยะเวลาเป็นปีที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ นะครับ เพราะฉะนั้นแล้วการใช้เจลแอลกอฮอล์ทั่วไปก็ไม่ทำให้เกิดผลเสียเมื่อเทียบกับระยะเวลาในการก่อมะเร็ง แต่ถ้าต่อไปยังมีการใช้เจลแอลกอฮอล์เป็นเครื่องมือป้องกันในระยะยาวเราก็ควรมองหาทางเลือกใหม่และคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ผลงานของผมจึงเป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคในอนาคตครับ เพราะเราไม่รู้ว่าจะใช้เจลแอลกอฮอล์ไปอีกนานเท่าไหร่”

ดร. ธีรพงศ์ ยะทา
หน่วยชีวเคมี ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย