บทความ

นวัตกรรมหมักปลาร้า งานวิจัยทำจริงที่ไม่ถูกดอง

IMG_2453

นวัตกรรมหมักปลาร้า งานวิจัยทำจริงที่ไม่ถูกดอง

ปลาร้า เป็นอาหารที่เกิดจากการถนอมอาหารโดยการนำปลามาหมักและดอง ของนัวของแซ่บของขึ้นชื่อในแทบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เอ่ยขึ้นเมื่อไหร่ก็ต่างพากันน้ำลายสอ เป็นเครื่องปรุงรสในอาหารอีสานหลายเมนู ทั้งส้มตำ ปลาร้าหลน ปลาร้าทอด ซุปหน่อไม้ ฯลฯ แม้จะมีกลิ่นที่ค่อนข้างแรงและเป็นเอกลักษณ์ แต่หลายคนก็ชอบทานถึงกับต้องมีไหหมักปลาร้าเก็บไว้ที่บ้านกันเลยทีเดียว

แม้จะมาจากถิ่นอีสานแดนคูณเหมือนกัน แต่รสชาติแต่ละจังหวัดก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ระยะเวลาการหมัก กรรมวิธี และส่วนผสมสูตรเฉพาะ จึงทำให้ปลาร้ามีรสชาติต่างกัน เนื่องด้วยปลาร้าขายดีในหมู่ร้านอาหารอีสาน หรือแม้กระทั่งเป็นของฝากรสเด็ดประจำจังหวัด ทำให้ปลาร้าผลิตไม่ทันตามความต้องการ กระทบต่อเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมจากการผลิตปลาร้าผลิตไม่ทัน ขาดตลาด ทำให้ผู้บริโภคอดแซ่บนัว ส่งผลกระทบกันทุกส่วน เนื่องจากกระบวนการผลิตปลาร้าโดยทั่วไปต้องใช้เวลาหมักที่ยาวนาน โดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์ในสภาวะที่เหมาะสม ทำให้เกิดเป็นปลาร้าที่เราทานกันทุกครั้งที่สั่งอาหารในร้านส้มตำ

ปัจจุบันการผลิตปลาร้าได้ขยับจากภาคครัวเรือนไปสู่การผลิตเพื่อการค้า ที่มีอัตราการผลิตสูงถึงปีละ 40,000 ตันต่อปี คิดเป็นเงินมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านบาท แถมไม่ได้ขายแค่ในประเทศเราเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย ดังนั้นเมื่อตลาดใหญ่ขึ้นคุณภาพปลาร้าและประสิทธิภาพในการผลิตต้องดีกว่าเก่า นักวิจัยจึงรวมทีมกัน โดยมี ดร.ศานต์ เศรษฐชัยมงคล จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ สกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผลิตกล้าเชื้อปราร้าชีวภาพพร้อมใช้สำหรับเร่งกระบวนการหมักปลาร้าและกระบวนการผลิต จากการหมัก 6 เดือน ถึง 2 ปี เหลือเพียง 3 เดือน ร่นเวลา ลดต้นทุนการผลิต แต่คงไว้ซึ่งคุณภาพและอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น

สำนักบริหารวิจัยมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.ศานต์ เศรษฐชัยมงคล ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และ ดร.ชื่นจิต จันทจรูญพงษ์ ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ  เกี่ยวกับความเป็นมาของผลงานวิจัยในงาน “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 2” ณ อาคารไปรษณีย์กลางและศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) บางรัก กรุงเทพฯ

Q: จุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจในการค้นค้นผลงาน

ดร.ศานต์: จุดเริ่มต้นเรามาจากการสำรวจและการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ ปัญหาก็คือระยะเวลาหมักปลาร้าใช้เวลาค่อนข้างนาน ประมาณ 1-2 ปี เร็วที่สุด 6 เดือน เราได้ออกไปคุยกับผู้ประกอบการจึงได้โจทย์กลับมาว่าจะผลิตปลาร้ายังไงให้ใช้เวลาสั้นที่สุด จาก 1 ปี เป็น 4 เดือน หรือเร็วที่สุด เมื่อผลิตได้เร็ว ก็ขายได้เร็วขึ้นด้วย

ดร.ชื่นจิต: แต่ยังต้องคงลักษณะดั้งเดิมไว้

ดร.ศานต์: เร็วขึ้นแต่ต้องมีกลิ่น รส เนื้อสัมผัส สี รสชาติเหมือนเดิม อร่อยเหมือนเดิม แต่ระยะเวลาที่ใช้จาก 1 ปี เป็น 4 เดือน นี่ก็เป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้

Q: มีต่อยอดงานวิจัยชิ้นอื่นไหม ที่เกี่ยวกับเรื่องปลาร้าให้ครบวงจร

ดร.ชื่นจิต: หลังจากที่เราได้กล้าเชื้อปลาร้าชีวภาพพร้อมใช้งานแล้ว เราได้ทดลองใช้หมักปลาร้าที่มีเอกลักษณ์คงเดิม นำเอาปลาร้าที่หมักจากกล้าเชื้อปลาร้าไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายงานวิจัย จะได้ผลิตภัณฑ์ออกมา 2 ตัว ได้แก่ ปลาร้าผงที่สามารถประกอบอาหารได้หลายรูปแบบ เอาไปทำเป็นน้ำปลาร้าก็ได้ โดยผสมน้ำหรือนำไปใส่ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เพื่อได้กลิ่นรสของปลาร้า อีกชิ้นเป็นปลาร้าฟู ลักษณะจะคล้ายกับน้ำพริกแห้ง หรือคลุกกับข้าวก็ทานได้หลากหลาย เรายังจัดทำคู่มือวิธีใช้หัวกล้าเชื้อ โดยบอกถึงวิธีการใช้งานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผลิตออกมาในลักษณะไหน ควบคุมการผลิตอย่างไร รวมไปถึงถ้าผู้ประกอบการขยายผลไปถึงการทำธุรกิจอุตสาหกรรม จะต้องมีข้อกำหนด หรือขออนุญาตอย่างไรบ้าง เรารวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ในคู่มือเรียบร้อยแล้วค่ะ

Q: ต่อไปจะมีผลผลิตงานอื่นๆ หรือไม่?

ดร.ศานต์:  คุยกับทาง สวก.อยู่ครับ น่าจะมีข่าวออกมาเร็วๆ นี้ ว่าเราจะต่อยอดอะไรบ้าง งานวิจัยนี้เป็นการทำร่วมกันของเครือข่ายวิจัยระหว่าง 4 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ที่เราสร้างเครือข่ายเพาะเชื้อกล้าที่เราพัฒนาออกมามี 3 สูตร ได้แก่ สูตรโคราช-ชัยภูมิ สูตรสกลนคร-นครพนม สูตรอุดร-หนองคาย ตอนศึกษาเราสำรวจและเก็บตัวอย่างมาศึกษาทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ว่าปลาร้าทั้ง 3 ถิ่นมีอัตลักษณ์และแตกต่างกันอย่างไร แล้วเรานำมาผลิตกล้าเชื้อเฉพาะพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ได้ผลิตภัณฑ์เร็วชึ้น มีอัตลักษณ์เหมือนเดิมและเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นด้วย

ดร.ศานต์ เศรษฐชัยมงคล

ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์, จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

ดร.ชื่นจิต จันทจรูญพงษ์

ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุสาหกรรมเกษตร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ