นวัตกรรมสมุนไพรไล่ยุงบนสิ่งทอ ไล่ยุงนานไม่ระคายผิว
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-08 8:25นวัตกรรมสมุนไพรไล่ยุงบนสิ่งทอ ไล่ยุงนานไม่ระคายผิว
ยุง…แมลงกวนใจที่เป็นพาหะไข้เลือดออกมาหลายยุคหลายสมัย มนุษย์พยายามพัฒนาอุปกรณ์กำจัดและป้องกัน ทั้งไม้ตียุง มุ้งลวด เครื่องช็อตไฟฟ้า หรือบ่อยครั้งที่เราใช้สารเคมีในระยะใกล้ เพื่อให้การป้องกันยุงมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สเปรย์กันยุง น้ำมันหอมระเหย รวมไปถึงโลชั่นทาตัว ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสผิวโดยตรงอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง สารระเหยต่าง ๆ ก่อให้เกิดอาการแพ้ในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งหากใช้สะสมเป็นระยะเวลานานก็สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้ใช้ได้เช่นกัน
เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลดใช้สารเคมีกับผิวหนัง สู่อีกขั้นแห่งนวัตกรรมการไล่ยุง ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงคิดค้นนวัตกรรมสมุนไพรไล่ยุงบนสิ่งทอ โดยสกัดน้ำมันตะไคร้หอม พืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการไล่ยุงเพิ่มประสิทธิ์ภาพในการป้องกันยุงยาวนานถึง 6 ชั่วโมง โดยลดการระคายเคืองบนผิวหนังและเพิ่มคุณสมบัติการฆ่าเชื้อโรค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรีรัตน์ จารุจินดา จากภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มคณะทำงาน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กาวี ศรีกูลกิจ (หัวหน้าโครงการ) รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงดาว อาจองค์ และศาสตราจารย์ ดร.ประณัฐ โพธิยะราช ให้สัมภาษณ์ถึงแนวความคิดว่า “ไอเดียนี้ไม่ใช่ไอเดียใหม่ที่นำเอาสารสกัดจากตะไคร้หอมมาใช้ไล่ยุง แต่เราพยายามคิดค้นนวัตกรรมเพื่อดึงประสิทธิภาพที่ดีที่สุดของธรรมชาตินำออกมาใช้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งตามท้องตลาดก็มีผลิตภัณฑ์ไล่ยุงอยู่หลากหลาย แต่ก็มีส่วนผสมของสารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายและก่อให้เกิดการระคายเคือง อาจทำให้เกิดลมพิษหรือเป็นผื่นที่ผิวหนัง รวมไปถึงมีสารตกค้างที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย จากการค้นคว้าพบว่าน้ำมันตะไคร้หอมมีข้อเสียคือระเหยง่าย เราจึงพยายามคิดค้นให้น้ำมันตะไคร้หอมค่อย ๆ ปลดปล่อยสารระเหยไล่ยุง โดยบรรจุอยู่ในรูปของแคปซูล ทั้งรูปแบบนาโนอิมโมชั่นและไมโครแคปซูล”


การทดลองนี้ได้มีการนำไปใช้บนเนื้อผ้า โดยการทดสอบกับยุงตัวเมียปลอดเชื้อโรค 200 ตัวในกรงเลี้ยงที่ยังไม่ได้ให้อาหาร พบว่า ไม่มียุงเกาะบริเวณผ้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากการวิจัยมากกว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งสรุปได้ว่าสามารถไล่ยุงได้ โครงการนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ นายแพทย์เผด็จ สิริยะเสถียร ภาคปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นที่ปรึกษาและออกแบบการทดสอบการไล่ยุงให้แก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากสรรพคุณไล่ยุงแล้ว ยังพบว่าสามารถต้านแบททีเรียได้เช่นกัน ผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าโครงการจะนำไปใช้ในการต่อยอด คือ น้ำยาซักผ้า ที่สามารถใช้ได้กับชุดนักเดินป่าหรือชุดทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในป่า รวมไปถึงแผ่นรองเท้า ถุงเท้า ที่นอกจากจะช่วยในเรื่องของการไล่ยุงแล้ว ยังสามารถดับกลิ่นได้ดีอีกด้วย
“นอกจากจะปล่อยสารระหายได้ยาวนานแล้ว เรายังคิดค้นไปถึงการลดการปล่อยกลิ่นตะไคร้ โดยพยายามสกัดสารไล่ยุงและลดกลิ่นฉุนของตะไคร้ ซึ่งส่วนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาอยู่ค่ะ เราได้มีการติดต่อพูดคุยกับโรงงานผลิตสิ่งทอ เช่น บริษัททองไทยการทอ ที่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งปกติแล้วโรงงานจะใช้ผลิตภัณฑ์จากสารเคมีในการไล่ยุงอยุ่แล้ว จึงขอแนวทางในการใช้สารตะไคร้หอมนำไปไล่ยุงแทนสารเคมี ในลำดับต่อมาได้มีการจดสิทธิบัตรและทดสอบการระคายเคืองของผิว เพื่อต่อยอดในการเป็นผลิตทางการค้าที่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยจากสารเคมีและผ่านการทดสอบทางผิวหนัง ซึ่งได้มีการติดต่ออาจารย์หมอที่คณะแพทย์ จุฬาฯ อีกท่านหนึ่งที่เชี่ยวชาญในการทดสอบการระคายเคืองผิวในการทดสอบผลิตภัณฑ์ของเราด้วยเช่นกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรีรัตน์ กล่าวเสริม

ผศ.ดร.สิรีรัตน์ จารุจินดา
ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะ: รศ.ดร.กาวี ศรีกูลกิจ (หัวหน้าโครงการ) รศ.ดร.ดวงดาว อาจองค์, ศ.ดร.ประณัฐ โพธิยะราช, ศ.นพ.เผด็จ สิริยะเสถียร (ที่ปรึกษา)