บทความ

การตรวจสอบชุด PPE ที่มีคุณภาพเพื่อใช้ในหัตถการ ICU-COVID-19

Banner

การตรวจสอบชุด PPE ที่มีคุณภาพเพื่อใช้ในหัตถการ ICU-COVID-19

ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID–19 ทุกคนต่างส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์อย่างล้นหลาม เนื่องจากเป็นผู้เสียสละโดยแท้จริงในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ นอกจากส่งกำลังใจแล้ว หลายคนยังส่งกำลังทรัพย์ กำลังวัสดุอุปกรณ์เพื่อช่วยป้องกันโรค เช่น หน้ากากอนามัย รวมไปถึงชุด Personal Protective Equipment หรือ PPE

แต่รู้หรือไม่? ชุด PPE มีหลายคุณภาพ ชุดหลายยี่ห้อไม่สามารถใช้ได้ในห้องผู้ป่วย ICU หรือห้องที่มีการทำหัตถการได้ ในขณะที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน อาจมีตัวแทนจำหน่ายหรือผู้ค้ารายย่อยที่ฉวยโอกาสเพิ่มราคาสินค้าไม่ตรงตามคุณภาพให้กับผู้ที่ต้องการซื้อเพื่อบริจาคให้กับบุคลากรณ์ทางการแพทย์ และเราจะทราบได้อย่างไรว่าชุด PPE ที่มีคุณภาพควรตรวจสอบได้จากอะไรบ้าง

รองศาสตราจารย์ ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนทีมทดสอบ “การตรวจสอบชุด PPE ที่มีคุณภาพเพื่อใช้ในหัตถการ ICU” ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับตรวจสอบคุณภาพชุด PPE ว่า “ที่จุฬาฯ เข้ามารับทดสอบชุด PPE เนื่องจากสภากาชาดไทย ได้เชิญคณบดีและทีมงานเข้าร่วมประชุมเรื่องปัญหาชุดและหน้ากากที่ได้รับบริจาคมาไม่สามารถปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ได้ ทีมจุฬาฯ จึงรับทดสอบให้ทั้งชุดและหน้ากากค่ะ เราทำงานร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการทดสอบคุณภาพชุด ซึ่งตอนนี้มีเอกชน นักวิจัยที่กำลังทำงานพัฒนาและเทคโนโลยีในแต่ละอุตสาหกรรม ร่วมพูดคุยก่อให้เกิดผลงานใหม่และนำมาทดสอบ เพื่อพัฒนาไปถึงกระบวนการตัดเย็บต่อไป”

World Health Organization (WHO) ได้แนะนำคุณภาพของชุด coverall ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Personal Protective Equipment (PPE) จากเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบล่า ในช่วงปี 2014 โดยมีมาตรการในการทดสอบเรียกว่า “EN 14126” ซึ่งมีมาตรฐานย่อยอีก 5 มาตรฐาน ประกอบด้วย

  1. มาตรฐาน ISO 16603: การตรวจสอบความต้านทานแรงดันของเลือดเทียม
  2. มาตรฐาน ISO 16604: การตรวจสอบความต้านทานแรงดันของเลือดเทียมที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส
  3. มาตรฐาน ISO 22610: การตรวจสอบความต้านทานของเหลวที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย
  4. มาตรฐาน ISO 22611: การตรวจสอบการป้องกันละอองของของเหลวที่ปนเปื้อนแบคทีเรียในอากาศ
  5. มาตรฐาน ISO 22612: การตรวจสอบความต้านทานอนุภาคปนเปื้อน

นอกจากนี้ยังตรวจสอบไปถึงลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ ของชุด ได้แก่ การทนแรงดึง การทนต่อแรงฉีก การทนต่อการเจาะ การทนการขีดข่วน นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบความแข็งแรงของตะเข็บในการตัดเย็บ และสมรรถนะของชุด

 “การทดลองจะจำลองสถานการณ์ในขณะที่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในห้องผ่าตัด มีการสอดท่อ มีเลือดพุ่งออกมาใส่ชุดบุคลากร เราจึงเตรียมเลือดสังเคราะห์ที่มีสมบัติต่าง ๆ ทั้งความตึงผิว ความหนืด ค่ากรด-ด่าง ความหนาแน่น และการนำไฟฟ้า ให้ใกล้เคียงกับเลือดจริงตามค่ามาตรฐาน และทดสอบอัดความดันในแต่ละระดับเพื่อทดสอบการป้องกันของผ้า หากผ่านขั้นตอนนี้ไปก็จะส่งไปที่คณะเภสัชฯ โดยมีอาจารย์จิตติมา (ผศ.ภญ.ดร.จิตติมา ลัคนากุล) ทดสอบเลือดเทียมผสมเชื้อไวรัสที่ไม่ก่อโรค โดยไวรัสต้องไม่สามารถผ่านชุดได้ จึงจะไปกระบวนการต่อไปค่ะ

การทดสอบนี้เป็นการคัดแยกเกรดที่เหมาะกับการปฏิบัติงานของบุคลลากรทางการแพทย์ การที่เราทดสอบตรงนี้ อย่างน้อยจะได้รู้ว่า ‘ชุดป้องกันเลือดได้มากเท่าไหร่ในสภาวะห้องผ่าตัด’ ‘บุคลากรทางการแพทย์ใกล้ชิดกับคนไข้ได้ไหม?’ ‘ชุดป้องกันบุคลากรได้ไหม?’ เป็นเกณฑ์คัดได้ว่าชุดไหนผ่านเกณฑ์และสามารถทำให้บุคลากรมั่นใจในการใกล้ชิดกับคนไข้ ส่วนชุดที่มีคุณภาพต่ำก็สามารถนำไปใช้ในงานอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำได้ค่ะ” รศ.ดร.อนงค์นาฏ กล่าว

ในด้านกำลังการผลิตในประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาวัสดุในการตัดเย็บ ส่วนใหญ่จึงเป็นการนำเข้าและยังคงอยู่ในสภาวะขาดแคลนเมื่อชุดและวัสดุเป็นที่ต้องการจากทั่วโลก ซึ่งการทดสอบคุณภาพของชุด PPE ตอนนี้จากความร่วมมือของภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยกำลังเป็น “โอกาสในวิกฤต” ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและผลิตวัสดุจนสามารถตัดเย็บชุด PPE ที่มีคุณภาพส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ของไทยได้ทำหน้าที่ได้อย่างมั่นใจและลดปัญหาการขาดแคลนได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับผู้ที่สนใจ ต้องการสั่งซื้อชุด PPE เพื่อบริจาคให้กับแพทย์และมีความประสงค์จะส่งตรวจสอบ รศ.ดร.อนงค์นาฏ จึงได้ให้คำแนะนำว่า “ถ้าเป็นล็อตใหญ่เรารับทดสอบได้ค่ะ เนื่องจากว่าเราต้องนำชุดมาตัดเพื่อแยกการทดสอบ เราจะสุ่มชุดตัวอย่างมาใช้ทดสอบ ฉะนั้นการส่งตรวจสอบจำนวนน้อยจะทำให้สิ้นเปลืองชุดค่ะ นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่สภากาชาดเล็งเห็นและเปิดรับบริจาคเงิน เพื่อจะได้นำเงินไปซื้อชุดล็อตใหญ่และทดสอบให้ผ่านคุณภาพ เพื่อแจกจ่ายไปตามกิ่งสภา ซึ่งจะทำให้มั่นใจในของที่ส่งออกไปด้วย แต่ถ้าอยากบริจาคเป็นชุดและต้องการคำปรึกษาสามารถติดต่อมาได้ค่ะ เราจะดูเบื้องต้นตามสเปกในใบรับรองก่อนว่าชุดอยู่ในขั้นไหน และนำมาทดสอบว่าถูกต้องตามที่ใบรับรองแจ้งไว้หรือไม่ อาจจะขอแนะนำเป็นการบริจาคผ่านสภากาดชาดโดยตรง หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ เพื่อให้เขารวมเงินไปซื้อล็อตใหญ่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าค่ะ”

รองศาสตราจารย์ ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์

ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย