บทความ

Integrated Smart City เมืองฉลาด สังคมดี

Screen-Shot-2018-04-03-at-9.49.59-AM

Integrated Smart City เมืองฉลาด สังคมดี

โฮโลแกรมเมืองล้ำๆ ที่เหล่านักวิจัยสามารถดึงข้อมูลและดูพิกัดได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส มักปรากฏอยู่บ่อยครั้งในบทภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ Sci-fi เหนือจินตนาการ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “มนุษย์” กำลังเข้าใกล้จินตนาการเข้าไปทุกที ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถูกผลิตและคิดค้นขึ้นจากนักวิจัยคนไทยของเรานี่เอง

Integrated Smart City Cloud Platform ถูกเปิดตัวขึ้นในงาน Thailand Innovation Hubs 4.0s ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยเป็นความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันที นิภานันท์)

ลักษณะการทำงานของ Smart City Cloud Platform เป็นระบบศูนย์กลางข้อมูลในการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆ รองรับระบบ Smart City จำนวน 5 ด้าน ได้แก่

  1. Smart living: ดูแลเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ความปลอดภัยในอาคาร รวมถึงแอปพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อภายในบ้านเพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งรองรับสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
  2. Smart mobility: ใช้ในการวางแผนเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกต์ การจราจร แจ้งจุดจอดรับรถประจำทางหรือป้ายรถเมล์ ทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
  3. Smart economy: มุ่งเน้นการจัดการด้านเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายและแนวทางของเศรษฐกิจในท้องถิ่น รวบรวมข่าวสารด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงความสอดคล้องของเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
  4. Smart environment: ดูแลและจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบเตือนภัยพิบัติ แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยง ทั้งโรคระบาดและภาวะแวดล้อมอื่นๆ รวมถึงตรวจสอบคุณภาพน้ำและอากาศ เพื่อสุขอนามัยของประชาชน
  5. Smart utility: แหล่งรวมการวิเคราะห์ข้อมูล ตรวจระบบความปลอดภัย น้ำ ไฟ และสถานีให้บริการ เซ็นเซอร์ความปลอดภัยอย่าง CCTV เพื่อความปลอดภัยทั้งกลางวันและกลางคืน

ระบบ Smart City สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบต่างๆ ได้ถึง 6 API* ซึ่งสามารถให้บริการในบางพื้นที่เท่านั้น ได้แก่ Facebook Data, Twitter Data, Density of population in the location, Sentimental of people in the location, Environmental Data (water/ air quality) และ  Data Taxi อีกทั้งมีแนวทางการพัฒนาเพื่อรองรับ API* อื่นๆ ในอนาคตต่อไป

*API ย่อมาจาก Application Programming Interface คือ ช่องทางการเชื่อมต่อ ,ช่องทางหนึ่งที่จะเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ผู้ให้บริการ API จากที่อื่น เป็นตัวกลางที่ทำให้โปรแกรมประยุกต์เชื่อมต่อกับโปรแกรมประยุกต์อื่นหรือเชื่อมการทำงานเข้ากับระบบปฏิบัติการ

นอกจากนี้ระบบ Smart City ยังมีลูกเล่น “CityViz” หรือระบบแสดงผลอัตโนมัติบนแผนผังเมืองจำลอง โดยระบบจะรับข้อมูลจากผู้ใช้งาน นำมาวิเคราะห์โครงสร้างและแปลงผลเป็นข้อมูลชนิดแสดงผล ซึ่งจะแสดงผลแบบจำลองตามความเหมาะสมของข้อมูลที่ได้รับมา อีกทั้งผสมผสานกับเทคโนโลยีแบบจำลอง 3D เพื่อรองรับการใช้งาน Augmented Reality (AR)* Application / Mixed Reality ผ่านมุมมองจาก Microsoft Hololens ซึ่งเป็นแว่นตาที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของ NASA และ Microsoft เป็นการสร้างภาพที่แสดงผลในลักษณะโฮโลแกรมหรือภาพ 3 มิติในโลกดิจิทัล ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและสร้างมุมมองเพิ่มเติมในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ดีขึ้นอีกด้วย

* Augmented Reality (หรือ AR เทคโนโลยีการผสมระหว่างโลกเสมือน (Virtual World) และโลกจริง (Physical World) โดยการแสดงภาพ, วิดิโอ, เสียง หรือข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบดิจิตอล ทับซ้อนกับสถาพแวดล้อมจริง เพื่อให้เกิดความดึงดูดและน่าสนใจ)

ระบบเมืองอัจฉริยะนี้ เป็นต้นแบบในการต่อยอดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆ ได้อีกหลากหลาย และทำให้การจัดการระบบต่างๆ เป็นไปได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งปัญหาภายในชุมชนจะถูกแก้ไขได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในประเทศได้มากขึ้นตามไปด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก smartcity.kmitl.io