บุกกับงานวิจัยไทย ดึงคุณประโยชน์จากดินสู่ดาว
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-04 12:03บุกกับงานวิจัยไทย ดึงคุณประโยชน์จากดินสู่ดาว
บุก พืชขี้อายที่ซุกตัวอยู่ใต้ดินพร้อมแอบซ่อนคุณประโยชน์มหาศาลไว้กับตัว ซึ่งประโยชน์นี้ขึ้นชื่อในหมู่สาวไทยว่ามีสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก อันเนื่องมาจากให้ใยอาหารสูงแต่มีพลังงานต่ำ รู้จักกันมาแต่โบร่ำโบราณ โดยนักวิจัยไทยรุ่นใหม่นำหัวบุกนี้มาเปิดเผยคุณสมบัติอื่น ส่งเสริมเศรษฐกิจไทย ทำให้หัวบุกใต้ดินธรรมดาๆ กลายเป็นดาวในวงการการวิจัยไทย
“การผลิตบุกคุณภาพสูงและวิธีการประยุกต์ใช้” เป็นผลงานการวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล อาจารย์และนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แมวมองผู้ดึงคุณประโยชน์ของบุกออกมาด้วยการวิจัย
สำนักบริหารวิจัยมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล เกี่ยวกับความเป็นมาและการดึงความสามารถของบุกแปลงเป็นงานนวัตกรรม ในงาน “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 2” ณ อาคารไปรษณีย์กลางและศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) บางรัก กรุงเทพฯ

Q: จุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจในการค้นค้นผลงาน
A: เป็นแนวคิดมาจากอาจารย์ที่ปรึกษาตอนเรียนปริญญาเอกที่ต่างประเทศค่ะ อาจารย์เป็นคนที่ชอบลงชุมชนและมาเมืองไทย ท่านก็ทำงานกับเกษตรกรด้วย แล้วพบว่ามีพืชตัวหนึ่งที่น่าสนใจนั่นก็คือต้นบุกที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ซึ่งคนไทยก็ทานมานานแล้วนำมาต้มหรือทำแกง แต่ถ้าในเมืองจีนหรือญี่ปุ่นเขาจะสกัดเป็นแป้งแล้วไปทำเส้นก๋วยเตี๋ยว อย่างอาหารญี่ปุ่นก็จะเป็นเส้นอุด้ง ซึ่งคุณลักษณะที่เป็นเส้นจะต้องเหนียวและขึ้นรูปเจลได้ ซึ่งบุกมีคุณสมบัตินั้นและเมืองไทยก็มีพันธุ์ที่ให้คุณสมบัตินั้นดีมาก ดีกว่าเมืองจีน ปลูกได้เฉพาะที่ไทย ซึ่งพ่อค้าจากจีนมาซื้อหัวสดจากเมืองไทยกลับไปแปรรูปเป็นผงบุกมาขายคนไทย จากตรงนั้นที่ได้ฟังจากอาจารย์ก็จุดประกายว่าทำไมเราไม่คิดแปรรูปจากบุกของเราที่มีคุณภาพสูงมาแนะนำให้คนไทยรู้จักและวิจัยกระบวนการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเพิ่มมูลค่าให้กับผงบุก
เริ่มศึกษาจากการสกัดผงบุกโดยใช้วิธีการสกัดแบบผสมผสานคือแบบเปียกและแบบแห้ง และใช้การอบแห้ง ก็จะแบ่งเป็นขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีไม่โครเวฟสูญญากาศ และในขั้น SMEs /อุสาหกรรม เราทำได้ เรามีการปรับกระบวนการอบแห้งให้แป้งบุกเทียบเคียงคุณภาพสูงได้ แต่ลงทุนไม่สูงมาก จากนั้นเราก็ศึกษาเรื่องของสายพันธุ์ เกี่ยวกับสารกลูโคแมนแนน มีคุณสมบัติหนืดที่เราสามารถเอาไปทำเจล พันธุ์บุกในประเทศไทยมีมากกว่า 50 พันธุ์ เวลาที่เราจะนำมาเพาะปลูกหรือต่อยอดจะต้องจำแนกพันธุ์ให้ถูกต้อง ซึ่งหน้าตามันเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นเลยศึกษาการตรวจสอบ DNA โดยการทำ Develop Biomarker เพื่อความแม่นยำในการให้สารสำคัญสูงและการจำแนก การเพาะปลูกสายพันธุ์ต่อไป

Q: มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์อีกไหม
A: เราศึกษาการใช้ประโยชน์จากแป้งบุก ซึ่งบุกสามารถขึ้นรูปเป็นฟิล์มได้ ซึ่งเป็นฟิล์มจากพืช กินได้ ย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเราจึงเอาบุกมาขึ้นรูปฟิล์ม ผสมสารสำคัญต่างๆ เช่น สาร LA ซึ่งเป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช เราทดลองกับกล้วยไม้ นำฟิล์มที่ผสมสารตามโดสที่เราคำนวนไว้ นำไปวางไว้ที่รากไม้ สารจากฟิล์มจะค่อยๆ ปล่อยออกมา ส่งผลให้ช่อดอกมีมากขึ้น ใหญ่ขึ้น และมีสีสดมากขึ้น ย่อยสลายได้เอง ไม่ตกค้าง และไม่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
นอกเหนือจากนั้นจะทำเป็นสารสกัดจากพืชแล้วนำมาใส่ เช่น สารยืดอายุอาหาร เราพบว่ากลูโคแมนแนน เป็นพรีไบโอติก เมื่อเราทดลองกับจุลินทรีย์บางกลุ่มโปรไบโอติกสามารถย่อยตัวนี้ได้ พอนำมารวมกันก็จะเป็นซินไบโอติกซึ่งมีประโยชน์ เราจะได้ยินบ่อยๆ ในโฆษณานมผง คือเป็นอาหารให้โปรไบโอติกเจริญเติบโตในลำไส้ของมนุษย์ เมื่อเรานำมาอยู่ด้วยกัน ก็จะนำมาประยุกต์ใส่ในอาหารได้ เช่น อบขนมปังใหม่ๆ เราสามารถใส่โค้ดฟิล์ม ซินไบโอติก ทำให้ขนมปังเป็นอาหารฟังก์ชั่น ทำให้อาหารมีประโยชน์ เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร ถ้าเราไม่ชอบทานพวกนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต หรือไม่ชอบทานเป็นแคปซูล แต่เราสามารถทานร่วมกับอาหารก็ทานได้ง่าย สามารถโค้ดใส่ผลไม้ก็ได้ เราทดสอบกับผักและผลไม้ ก็พบว่าช่วยชะลอการหายใจของพืชและยืดอายุได้

อีกรูปแบบหนึ่งใส่เป็นไมโครแคปซูเลชั่น เป็น coaching materials ใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ผงต่างๆ เช่น กาแฟสำเร็จรูป ผสมสารละลายบุกและสารสกัดจากกาแฟ พบว่าสามารถเก็บกักสารสำคัญของกาแฟ อย่างสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งสูงกว่ากาแฟปกติ อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นพวกอาหารธรรมดา เจลลี่ผสมบุกและโปรไบโอติก มีประโยชน์เวลาทานด้วยกัน และกลุ่มของเส้น ก็จะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวจากบุก ประโยชน์ของบุกก็จะเป็นใยอาหารแต่ให้พลังงานน้อย ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย ช่วยขัดขวางการดูดซึมไขมันและน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดในลำไส้เล็ก จะช่วยให้สุขภาพดี ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักและสุขภาพเป็นหลัก
จริงๆ แล้วบุกมีคุณสมบัติหลากหลายถ้านำมาใช้ให้ถูกต้อง สามารถเพิ่มมูลค่าให้กลุ่มอาหารไทย เครื่องสำอางหรือยาได้ค่อนข้างมาก ซึ่งทางกลุ่มยุโรปเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น ถึงกับนำไปผสมใส่ในพาสต้าให้มีใยอาหารมากขึ้น มีรสสัมผัสเนียน มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีคนต้องการมากขึ้น ส่งผลให้คนปลูกมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องปลูกกลางแดด สามารถปลูกร่วมกับต้นไม้อื่นๆ ได้ เพราะบุกชอบพื้นที่ร่มและระบายน้ำได้ดี เพียง 2 ปีก็สามารถขุดหัวนำไปแปรรูปได้ ซึ่งประเทศไทยมีอยู่มากในภาคเหนือโซนตะวันตก แถวแม่ฮ่องสอน ตาก บริเวณชายแดนพม่า
พบว่ามีการส่งเสริมให้ปลูกบุกมากขึ้น เพราะมีคนหันมาเห็นประโยชน์มากขึ้น ก็หวังว่างานวิจัยจะทำให้เห็นว่า นอกจากจะทำเป็นเส้นหรือเป็นเจลแล้ว ก็ยังสามารถนำไปผลิตอย่างอื่นได้หลายอย่าง

ผศ. ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย