หัวสุนัขจำลองจากเยื่อกระดาษและยางพารา
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-05 7:18หัวสุนัขจำลองจากเยื่อกระดาษและยางพารา
ขั้นนตอนในการผลิตคุณหมอคุณภาพ 1 คน นิสิตแพทย์ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้วิธีการรักษาหลากหลายรูปแบบ ทั้งวิชาความรู้ในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งในทางปฏิบัตินิสิตแพทย์จะได้เรียนรู้ระบบต่างๆ ในร่างกายจากหุ่นจำลองและเรียนรู้จากร่างกายจริงของอาจารย์ใหญ่ที่ได้รับมาจากการบริจาค
ในทางด้านสัตวแพทย์ แม้จะมีการเรียนการสอนในรูปแบบที่คล้ายกัน แต่อุปกรณ์การเรียนการสอนบางอย่าง ก็ไม่เอื้ออำนวยสำหรับนิสิตสัตวแพทย์ ทั้งเรื่องของอาจารย์ใหญ่ (น้องหมา) และหุ่นจำลองร่างกายที่มีข้อจำกัด เช่น สรีระไม่เหมาะกับการเรียนการสอน ไม่หลากหลาย และนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีค่อนข้างมีราคาสูง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงภาวนา เชื้อศิริ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดไอเดียจากกองเอกสารภายในภาควิชา ผนวกกับมีปัญหาด้านอุปกรณ์เพื่อการเรียนการสอน จึงได้เป็นผลงาน “หัวสุนัขจำลองจากเยื่อกระดาษและยางพารา” กลายเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอน ที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้ และที่สำคัญ มีราคาถูกช่วยลดขยะในสำนักงานได้ดีอีกด้วย
“แรงบันดาลใจมาจากเสียงเรียกร้องของนิสิตที่ใช้ในการเรียนผ่าอาจารย์ใหญ่ที่เป็นสุนัข เวลาเรียนนิสิตจะบ่นว่ามองโครงสร้างต่างๆ ไม่ค่อยเห็น สิ่งที่อาจารย์สอนในชั่วโมงบรรยายพอมาทำปฏิบัติการจริงเขามองได้ไม่ชัด และเมื่อใช้สุนัขจริงในการเรียน นิสิตก็มักจะบ่นถึงปัญหากลิ่นที่มีความรุนแรง ส่วนตัวอาจารย์ก็อยากมีสื่อการสอนที่ถูก ประหยัด อาจารย์จึงคิดว่าคงถึงเวลาแล้วที่จะต้องพัฒนาสื่อการสอนแบบใหม่ให้มีความปลอดภัย ทั้งในส่วนของผู้เตรียมตัวอย่างอาจารย์เอง รวมถึงนิสิตที่เรียนในห้องเรียนด้วย” ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าว

หัวสุนัขจำลองจากเยื่อกระดาษใช้หลักการความรู้จากการทำประติมากรรมกระดาษอัด (Paper mache) และการหล่อชิ้นส่วนอวัยวะโดยใช้ยางพารา ผ่านกระบวนการค้นคว้าหาเยื่อกระดาษที่เหมาะสมที่สุดและปรับส่วนผสมในการเตรียมกระดาษโดยการแช่น้ำและปั่นให้ละเอียดเป็นเยื่อกระดาษ รวมทั้งเพิ่มส่วนประกอบ เช่น แป้งมันสำปะหลัง ในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งใช้กระดาษกล่องนม กระดาษลัง แกนกระดาษชำระ และกระดาษเอกสารเพื่อให้ได้สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถใช้งานได้ในลักษณะเดียวกัน ขณะที่การหล่อยางพาราจะใช้ทำส่วนประกอบที่ต้องการความยืดหยุ่น มีการใช้แม่เหล็กฝังทางด้านในของชิ้นส่วนประติมากรรมกระดาษอัดเพื่อสะดวกในการประกอบและแยกชิ้นส่วนได้ง่าย เพื่อให้ได้ผลงานที่ถอดประกอบได้
ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าวถึงขั้นตอนการทำและความแตกต่างของหัวสุนัขจำลองจากเยื่อกระดาษที่ทำให้มีความน่าสนใจและตอบสนองต่อการใช้งานว่า “หลังจากที่ทำเสร็จ เราก็จะมีการหล่อจากหัวจริงและมีการปั้นเติมในลักษณะของโครงสร้างที่เราสอนจริงในห้องเรียน ใช้เทคนิคของเปเปอร์มาเช่ ปรับแต่งเติมโครงสร้างให้มีลักษณะและสีสันต่างๆ ที่เข้ากัน ทำให้ผลงานน่าจะสัมผัสและอยากที่จะจับต้องมากขึ้น”

ผลจากการวิจัยเปรียบเทียบผลพบว่า นิสิตมีความพึงพอใจในงานวิจัยหัวสุนัขจำลองจากเยื่อกระดาษ เพราะไม่ต้องเสี่ยงต่อกลิ่นฉุนที่รุนแรงหรือการสัมผัสที่อันตรายจากร่างอาจารย์ใหญ่ที่เป็นสุนัข แถมยังเห็นโครงสร้างต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น มีความแข็งแรง คงทน น้ำหนักเบาและขนย้ายสะดวก
“อยากจะพัฒนาต่อยอดเป็นส่วนอื่นๆ ในร่างกายของสัตว์มากขึ้นค่ะ เนื่องจากสื่อการสอนของสัตว์หาได้ค่อนข้างยากในประเทศไทย ถ้าเรานำเข้าก็ต้องใช้ต้นทุนเยอะและไม่ตรงตามที่อาจารย์ใช้จริงด้วย อยากให้สิ่งเหล่านี้พัฒนาต่อยอดนำไปใช้ในรายวิชาอื่นๆ หรือว่าจะเป็นในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นระดับนักเรียนหรือคุณครูที่สอนเกี่ยวกับชีววิทยาได้ใช้และใช้ในทางคลินิกได้ด้วย ก็อยากจะพัฒนาแบบนั้นต่อไปค่ะ” ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าว
บางครั้งงานศิลปะก็ช่วยให้การเรียนรู้ของ “ว่าที่สัตวแพทย์” มีคุณภาพมากขึ้น อย่ามองข้ามความรู้พื้นฐานเล็กๆ เกี่ยวกับงานศิลปะ แต่จงนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมเหมือนกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงภาวนา เชื้อศิริ ที่ผลิตสื่อการสอนได้ตามความต้องการ อีกทั้งมีราคาถูก แถมช่วยลดโลกร้อนจากการนำสิ่งของรอบตัวมาปรับใช้แก้ปัญหาของตนเองได้อย่างหลักแหลม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงภาวนา เชื้อศิริ
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย