หุ่นยนต์ช่วยประเมินดูแล ฟื้นฟู บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-05 9:53หุ่นยนต์ช่วยประเมินดูแล ฟื้นฟู บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

หุ่นยนต์ช่วยประเมินดูแล ฟื้นฟู บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
เมื่อถึงเวลาสังขารโรยรา กำลังวังชาก็ร่วงโรย จากเจ็บเล็กเจ็บน้อยก็กลายเป็นป่วยเรื้อรัง ในสังคมเมืองใหญ่ผู้คนต่างมุ่งมั่นในการทำงาน กลุ่มวัยต่างๆ มีบทบาทที่ต้องทำในสังคมที่เร่งรีบ ทำให้เหลือสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการอยู่บ้านเพียงลำพัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน และจุดนี้เอง…ที่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในสังคม
จากข้อมูลในวารสารวิชาการสาธารณสุข ฉบับที่ 6 บทความพิเศษเรื่องปัญหาและความต้องการดูแลทางสุขภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทยฯ ได้กล่าวถึงสถิติการรักษาสุขภาพและภาวะเสี่ยงต่างๆ ในวัยผู้สูงอายุ ในช่วงปี 2557 โดยผู้สูงอายุในประเทศไทย มีภาวะสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรัง การถูกทอดทิ้ง และมีความต้องการได้รับการดูแล ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีส่งต่อนโยบายด้านสาธารณะสุขเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ผู้สูงอายุส่วนมากพึ่งพาอาศัยบริการด้านสุขภาพจากภาครัฐ ยิ่งมีผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มภาระและงบประมาณในการรักษามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจขยายต่อไปถึงปัญหาด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นการเฝ้าระวังและการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถป้องกันปัญหาได้ตั้งแต่ต้นทาง แต่ใครหล่ะ? จะใกล้ชิดกับผู้สูงอายุได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่กระทบต่อการทำงานและไม่เป็นภาระกับใครคนใดคนหนึ่ง
“หุ่นยนต์ช่วยประเมินดูแล ฟื้นฟู บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” เป็นหนึ่งในโครงการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ใช้นวัตกรรมในการช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ลดระยะทางระหว่างหมอกับคนไข้ให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น โดยผู้สูงอายุและผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้โดยไม่รู้สึกเป็นภาระของครอบครัว

“ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งจะมีปัญหาโรคหลอดเลือดในสมอง ทำให้ช่วยเหลือตัวเองลำบากและอาจนำไปสู่สาเหตุที่ทำให้พิการได้ ประกอบกับขาดการดูแลและเป็นภาระของครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐด้วย เราจึงพยายามทำให้คุณภาพผู้สูงอายุดีขึ้น โดยหุ่นยนต์ตัวนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ สามรถติดต่อกับแพทย์โดยผ่านระบบ “แพทย์ทางไกล” สามารถวัดค่าสุขภาพพื้นฐานต่างๆ ได้ด้วยตนเอง เช่น วัดความดัน วัดอัตราการเต้นหัวใจ และที่สำคัญ หากอยู่ในภาวะเสี่ยงหรืออันตราย หุ่นยนต์จะส่งสัญญาณไปยังแพทย์ ทำให้แพทย์สามารถพูดคุยกับคนไข้ได้ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาการแจ้งเตือนฉุกเฉินไปยังลูกหลานหรือผู้ดูแล เตือนผู้ป่วยทานยา ทานข้าว หรือให้ข้อมูลโภชนาการอาหาร หรือเป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุ ทั้งฟังเพลงและเล่นเกมส์” รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากโครงการ “Chula Ari” กล่าวถึงหุ่นยนต์ช่วยประเมินดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุฯ ที่พัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร เพื่อดูแลสังคมผู้สูงวัยในอนาคต
หุ่นยนต์ช่วยประเมินดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุฯ เป็นหุ่นยนต์ต้นแบบที่อยู่ในช่วงพัฒนาและเข้าสู่กระบวนการติดตั้งระบบให้พร้อมรองรับกับทุกพื้นที่ของประเทศไทย ให้สามารถเชื่อมต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทันที โดยการทำงานผ่านระบบจะมีการเก็บข้อมูลใน Big Data ที่ถูกเก็บไว้บน Cloud ช่วยให้สามารถแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวและสามารถค้นหาประวัติข้อมูลคนไข้เพื่อแจ้งไปยังคุณหมอหรือผู้ดูแลได้พร้อมกันแบบ Real time ซึ่งในขณะนี้มีขอบเขตการทดลองอยู่ในชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานคร และมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้สูงอายุที่มีความยากลำบากและขาดคนดูแล

“ประเทศไทยกำลังเป็นเมืองเร็วมาก และเมืองที่ถูกทอดทิ้งก็คือกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นเมืองที่ใหญ่มาก มีสถานะของคนในสังคมต่างกันมาก เราเลยเจาะประเด็นที่กรุงเทพฯ และกำลังพัฒนาต้นแบบบริการในเมือง ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาค่ะ เราพยายามมองหาชุมชนให้หลากหลาย เพื่อเหมาะสมต่อการประประเมินว่าเครื่องควรตั้งไว้ที่ไหนมากกว่ากัน ระหว่างบ้าน สถานีอนามัยในพื้นที่ หรือควรจะแปรงระบบเป็นแอปในมือถือ กำลังอยู่ในขั้นทดสอบนี้เหมือนกันค่ะ” รศ.ดร.วิพรรณ กล่าว
นอกจากการแก้ไขปัญหาด้วยนวัตกรรมแล้ว ยังมีแผนการแก้ไขปัญหาอื่นๆ รองรับสังคมสูงวัยในอนาคต โดยเตรียมความพร้อมให้แก่กลุ่มวัยทำงานสามารถก้าวสู่วัยชราได้อย่างมีคุณภาพ เช่น แนะนำและให้ความรู้เรื่องการออม การจัดการหนี้สิน การวางแผนการเงิน การดูแลสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งโครงการสังคมสูงวัยในขอบเขตการดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการคิดต่อยอด เพิ่มมุมมองให้หลากหลายและครอบคลุมทุกวัย โดยการดูแลตั้งแต่ต้นทาง เตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่มีความรอบรู้ในทุกมิติที่จะใช้ชีวิตได้ดีในสังคมสูงวัย และใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบในการอำนวยความสะดวกเพื่อให้ทุกวัยสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
การประดิษฐ์หุ่นยนต์อาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาที่ได้ดีที่สุดคือการลดโอกาสในการเกิดปัญหา โดยการเตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง เช่น การดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง การวางแผนครอบครัว หรือการวางแผนการออมเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณ เพราะเมื่อถึงเวลาก็จะได้ “ชราอย่างมีคุณภาพ”