Shield+: Protecting Spray สเปรย์หน้ากากผ้ากรองฝุ่น ป้องกันไวรัส
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-05 11:32Shield+: Protecting Spray สเปรย์หน้ากากผ้ากรองฝุ่น ป้องกันไวรัส
หน้ากากอนามัย เป็นผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งเพื่อสุขลักษณะอนามัยที่ดี แม้จะหมดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่หน้าอนามัยก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันฝุ่นและมลพิษทางอากาศ ก่อนจะกลายเป็นขยะปริมาณจำนวนมหาศาลที่ต้องกำจัดอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคในถังขยะและแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ (CU Innovation Hub) ร่วมกับคณะเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นผลิตภัณฑ์ต่อยอด เพื่อเปลี่ยนให้หน้ากากผ้าใช้ซ้ำให้มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5 ต้านไวรัสและเชื้อโรค ช่วยลดขยะที่เกิดจากการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่ใช้หน้ากากแบบผ้าให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น



“วันนี้เราใช้หน้ากากอย่างทิ้งขว้างโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แต่สเปรย์ตัวนี้จะทำให้หน้ากากผ้าธรรมดาสามารถกรองฝุ่นและไวรัสได้ดีขึ้น เราสามารถใช้ซ้ำได้ โดยลดการทิ้งหน้ากากอนามัยได้จำนวนหนึ่ง เราคำนึงว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีกำลังทรัพย์ในการซื้อหน้ากากราคาแพง สเปรย์ตัวนี้จะช่วยเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากราคาแพงได้ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันฝุ่นได้เช่นกัน ซึ่งสามารถต่อยอดพัฒนาในระยะยาวได้ และคาดว่าจะขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย” ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ (CU Innovation Hub) กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.จิตติมา ลัคนากุล ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสเปรย์หน้ากากผ้ากรองฝุ่น กันไวรัส “Shield+” ที่พัฒนาขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19 ว่า “สเปรย์ตัวแรกที่พัฒนาคือเปรย์สีใส ซึ่งเป็นผลงานวิจัยในช่วง PM 2.5 มีปัญหาอย่างหนักก่อนช่วง COVID-19 เมื่อเราเห็นหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วทิ้งที่อาจจะเป็นขยะทำลายสิ่งแวดล้อม เราจึงคิดหาวิธีการเสริมหน้ากากผ้าให้กรองฝุ่นได้ดีขึ้น โดยใช้พอลิเมอร์ในเภสัชภัณฑ์มาประยุกต์และผสมเพื่อให้เกิดกลไกที่หลากหลาย ทำให้พอลิเมอร์เข้าไปแทรกตัวและสอดประสานเส้นใยของผ้า ลดช่องว่างระหว่างเส้นใยผ้าให้เล็กลง เพิ่มประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นได้ดีขึ้น ช่วยผลักฝุ่นและเชื้อโรคออกไปได้ด้วยค่ะ”
Shield+: Protecting Spray เป็นสเปรย์ที่ถูกผลิตคิดค้นออกมา 2 ชนิด ได้แก่ Shield (ไม่กันน้ำ) และ Shield+ (กันน้ำ) เริ่มจากการคลี่มุมพับหรือกางตะเข็บของหน้ากากออก ฉีดสเปรย์บริเวณด้านหน้าของหน้ากากผ้าให้ทั่วประมาณ 12-15 ครั้ง จากนั้นนำไปตากให้แห้งสนิทก็สามารถนำไปใช้ได้ ส่วน Shield+ กันน้ำจะต้องรีดด้วยเตารีดให้แห้งสนิทก่อน จึงจะเพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำได้ โดย 1 ขวดมีปริมาณ 60 มิลลิลิตร สามารถใช้ได้ 24 ครั้งหรือโดยเฉลี่ย 1 เดือน สามารถใช้ได้ทุกวัน ซึ่งพอลิเมอร์ที่เคลือบอยู่บนหน้ากากผ้าจะละลายไปในขณะซัก อาจจะมีหลงเหลือบนผ้าบางส่วนสำหรับ Shield+ แต่ก็ยังคงปลอดภัยต่อผู้ใช้ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่ใช้ในเภสัชภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพ
“จากการทดสอบด้วยตัวเอง ไม่ได้รู้สึกหายใจลำบากขึ้นนะคะ เนื่องจากพอลิเมอร์ที่ใช้คือพอลิเมอร์ในการผลิตยาไม่ใช่พลาสติก เป็นวัสดุกึ่งนาโนเทคโนโลยีจึงต้องใช้ความร้อนทำให้วัสดุยึดติดกับผ้าและสามารถกันน้ำได้ การรีดจึงเป็นการคลายอนุภาคออกให้เคลือบได้ทั่วถึง กลายเป็นฟิล์มเคลือบหน้ากาก ควรฉีดแค่ด้านนอกก็พอค่ะ ซึ่งสูตรนี้จะมีกลไกในการผลักฝุ่นและไวรัสออกไป โดยทดสอบกับเชื้อราในอากาศและแบคทีเรียในน้ำลาย เรามีการทดสอบหลายอย่างกับหน้ากากผ้ามาตรฐานทั่วไป ทั้งการทดสอบคุณสมบัติการกรองอนุภาคด้วยมาตรฐานสากล ASTM* โดยมีองค์กรรับตรวจสอบและมีใบรับรอง ในด้านคุณสมบัติการกรองฝุ่น 0.3 ไมครอน ก็ใช้ได้ดีขึ้น 83% เมื่อเทียบกับหน้ากากที่ไม่ได้ใช้สเปรย์ และมีการทดสอบต่อในคุณสมบัติการกรองเชื้อ 2 ระดับ ทั้งเชื้อในอากาศและเชื้อในน้ำลาย สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีศูนย์ทดสอบที่สามารถออกใบรับรองได้ เราจึงปรับเปลี่ยนตามมาตรฐานต่างประเทศที่สามารถทำได้เองในห้องปฏิบัติการ และด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงเราได้รับความอนุเคราะห์ด้านเครื่องมือในการทดสอบเชื้อที่มากับอากาศ ซึ่งช่วยลดเชื้อในอากาศได้ 140% ส่วนเชื้อในน้ำลายเราทดสอบในน้ำลายอาสาสมัครด้วยการหยอดลงบนหน้ากากและเพิ่มความดันบังคับให้น้ำลายซึมลงผ้า ซึ่งเป็นแรงดันในการทดสอบสูงกว่าการไอ-จามของคนปกติถึง 177 เท่า พบว่าสามารถกันเชื้อได้ถึง 90%
ข้อควรระวังในการใช้ เราไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อหน้ากากอนามัยเลยค่ะ ควรเลือกใช้กับหน้ากากผ้าเท่านั้น เนื่องจากสเปรย์มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยทำมาจากเส้นใยสังเคราะห์ อาจละลายเมื่อโดนแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่ใช่หน้ากากอนามัยทุกชนิดจะสามารถใช้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง อย่าใช้ร่วมกันเลยค่ะ” ผศ.ภญ.ดร.จิตติมา กล่าว
*ASTM International (American Society for Testing and Materials) เป็นสมาคมวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กำหนดและจัดทำมาตรฐาน เป็นที่นิยมใช้และได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนทางด้านวิชาการ เพื่อเป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรม หน่วยงานของรัฐ และสาธารณชนทั่วไป โดยการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับลักษณะและการทำงานของวัสดุ ผลิตภัณฑ์ การบริการ และระบบการใช้งาน (ข้อมูลจาก: วิกิพีเดีย)


สำหรับการผลิตในขั้นแรกเป็นการเปิดระดมทุนการผลิต 10,000 ขวดแรก เพื่อบริจาคให้กับบุคลากรเบื้องหลังที่อยู่ในโรงพยาบาล ผู้คัดกรองผู้ป่วย คลินิกทันตกรรม หรือบุคลากรที่ไม่สัมผัสผู้ป่วย COVID โดยตรง รวมไปถึงอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานเก็บขยะ และพนักงานทำความสะอาด
ผศ.ภญ.ดร.จิตติมา กล่าวเสริมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ด้านสมุนไพรและสิ่งทอ เพื่อพัฒนาให้สเปรย์มีฟังก์ชันในการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นหรือมีประสิทธิภาพในการกำจัดแบคทีเรียที่ดีขึ้น นอกจากช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้มีอุปกรณ์เสริมในการป้องกันตนเอง ทั้งจากไวรัสและมลพิษทางอากาศ ในยามที่หน้ากากอนามัยขาดแคลนและมีราคาสูง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.จิตติมา ลัคนากุล
าควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย