Silver Clay เครื่องเงินปั้นได้ดั่งใจนึก
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-04 12:06Silver Clay เครื่องเงินปั้นได้ดั่งใจนึก
งานช่างและงานฝีมือต้องอาศัยทักษะ ความบรรจง ประณีต เพื่อรังสรรค์ออกมาเป็นผลงาน ยิ่งเป็นงานศิลปะที่มีเพียงไม่กี่ชิ้นในโลก หรือมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ยิ่งทรงคุณค่า ทั้งทางด้านมูลค่าและจิตใจ
เครื่องประดับเงินแสนสวยราคาแพงต้องผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอนกว่าจะมาเป็นเครื่องประดับ จะหล่อแบบแต่ละครั้งต้องอาศัยแม่พิมพ์ ซึ่งถ้าเป็นของที่สั่งทำชิ้นเดียวในโลก แม่พิมพ์ก็จะถูกใช้งานเพียงแค่ครั้งเดียว
SHANNTA Silver Clay: ซิลเวอร์เคลย์ สัญชาติไทยเพื่อการขึ้นรูปและออกแบบเครื่องประดับเงินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เหมาะสำหรับงานศิลปะที่มีไอเดียหลากหลายโดยไม่ต้องยึดติดกับค่าต้นทุนแม่พิมพ์อีกต่อไป โดยซิลเวอร์เคลย์มีคุณลักษณะคล้ายดินนำมัน สามารถขึ้นรูปได้ตามความคิด
นายปรินทร แจ้งทวี นิสิตนักวิจัย จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายรูปแบบของซิลเวอร์เคลย์ว่า “ซิลเวอร์เคลย์มีบริษัทชานตาเป็นเจ้าของ ทำวิจัยร่วมกับแล็บวิจัยของจุฬาฯ (แล็บวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์) การขึ้นรูปเครื่องประดับเงินจะต้องทำแม่พิมพ์ออกมา แต่ถ้าเราทำเพียงชิ้นเดียว เราก็ต้องทำแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ทุกอย่างถึงจะหลอมซิลเวอร์ลงไป แต่ถ้าเป็นซิลเวอร์เคลย์จะมีคุณลักษณะคล้ายดินน้ำมัน สามารถปั้นได้โดยไม่ต้องมีมวลหรือแม่พิมพ์ นำไปเผาก็ขึ้นเป็นชิ้นงานได้เลย ซึ่งกระบวนการคือแปลงให้ซิลเวอร์อยู่ในระดับนาโนก่อนและนำไปผสมกับบายเดอร์ทำให้สามารถขึ้นรูปเป็นดินน้ำมันได้ จุดหลอมเหลวก็จะต่ำกว่าปกติ น้ำหนักเบากว่า แต่ความแข็งแรงไม่เท่ากับเงินที่หล่อแบบแม่พิมพ์ครับ ทำให้กระบวนการทำชิ้นงานง่ายขึ้นและเหมาะกับคนที่ทำงานด้านศิลปะ”

นอกจากซิลเวอร์เคลย์จะสามารถขึ้นรูปง่ายคล้ายดินน้ำมันแล้ว ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่ทำให้งานวิจัยไทยเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ “ซิลเวอร์นาโนใช้ได้ในงานหลายรูปแบบมากนะครับ ตั้งแต่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียจนไปถึงทำเครื่องประดับหรือนำไปใช้ในงานอุตสาหกรรมวิจัยได้เยอะมากครับ ถ้าเป็นเทคโนโลยีซิลเวอร์เคลย์ก็ค่อนข้างดีและเสถียรแล้วครับ ตอนนี้อยู่ในช่วงที่บริษัทที่ทำขายกำลังขยายตลาดไปต่างประเทศอยู่ครับ ไปตามตลาดญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรม ตัวนี้ก็เป็นสื่อกลางได้ดี” นายปรินทร กล่าว
งานวิจัยในไอเดียซ้อนไอเดียที่นอกจากจะเปิดกว้างด้านความคิดสร้างสรรค์ ยังเปิดกว้างจินตนาการ สร้างมูลค่าในตัวของชิ้นงานเอง จากชิ้นงานศิลปะที่ถูกตีกรอบให้กำหนดจำนวนชิ้นเพื่อความคุ้มค่า กลายเป็นเครื่องเงินปั้นได้ดั่งใจนึก อาจมีชิ้นเดียวในโลก ถ้าคุณตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น!

นายปรินทร แจ้งทวี
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย