บทความ

ผัดกะเพราะเหมือนเดิม…เพิ่มเติมโอมาก้า

IMG_8444

ผัดกะเพราะเหมือนเดิม…เพิ่มเติมโอมาก้า

“วันนี้กินอะไรดี?” คำถามโลกแตกที่เรามักจะถามเพื่อน ถามตัวเอง หรือลามไปถึงแม่ค้าร้านข้าวแกง ซึ่งมักจะลงท้ายด้วยอาหารเมนูเดิมๆ เช่น ผัดกะเพราหมู ผัดกะเพราไก่ และพิเศษแบบชุดใหญ่จัดเต็ม อย่าง…“ผัดกะเพราหมูกรอบไข่ดาว” แม้เมนูอาหารตามสั่งจะมีมากร่วม 100 รายการ แต่หนึ่งในใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก็ต้องยกนิ้วให้กับเมนูผัดกะเพรา

ผัดกะเพราเดิมๆ เพิ่มเติมจะมีอะไรได้นอกจากไข่ดาว แต่ไม่ใช่ผัดกะเพราในปี 2019 เพราะนอกจากจะอร่อยเหมือนเดิมแล้ว ยังใส่ใจสุขภาพด้วยการรักษาสมดุลคุณค่าทางอาหารระหว่างโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 งานนี้เข้าครัวง่ายๆ เครื่องปรุงไม่ต้องเพราะคำนวณมาให้หมดแล้ว

“โอเมบอส ซอสปรับสมดุลไขมันโอเมก้าสำหรับเมนูผัดกะเพรา” ผลงาน Senior Project ของนางสาวปภัสวรรณ ชูจิต และนางสาวกฤติกา สุนทรโภคิน นิสิตปี 4 ภายใต้ที่ปรึกษา ดร.สุกฤต ศิริขวัญพงศ์ จากภาควิชาโภชนาการและกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองเห็นจุดต่างในผัดกะเพราจานเดิม โดยน้องปภัสวรรณกล่าวว่า “โอเมก้าทั้ง 2 ตัวนี้มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ถ้าหากรับประทานมากเกินไปก็ก่อให้เกิดผลเสียได้ จึงทำให้พวกเราสนใจเกี่ยวกับเรื่องอัตราส่วนของโอเมก้าทั้งสองตัวนี้ เราอยากให้อาหารจานหนึ่งที่เรารับประทานเข้าไป ได้รับสารอาหารที่มีอัตราส่วนโอเมก้า 6 และโอเมก้า 3 ที่ดีและเหมาะสมจึงพัฒนาออกมาในรูปแบบของซอสขึ้นมาค่ะ”

ไขมันโอเมก้าเป็นไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายและพบได้ในอาหารทั่วไป ทั้งน้ำมันทำอาหาร เนื้อสัตว์ นม รวมไปถึงอาหารเสริมชนิดเม็ด โดยโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติเป็นสารต้านการอักเสบ และโอเมก้า 6 ช่วยให้การแข็งตัวของเลือดดีขึ้น แต่ถ้ารับประทานโอเมก้า 3 ในปริมาณที่มากจนเกินไปก็อาจจะเสี่ยงต่ออาการเลือดออกง่าย ส่วนโอเมก้า 6 ตรงกันข้าม เกิดเป็นสารเหนี่ยวนำทำให้เกิดการอักเสบ โดยมีความสัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคไขมันข้างตับหรือไขมันพอกตับ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด เป็นต้น เพราะฉะนั้นแล้วโอเมก้าทั้ง 2 ชนิดเปรียบเสมือนหยิงหยางที่ค่อยปรับดุลซึ่งกันและกัน หากรับประทานมากหรือน้อยย่อมส่งผลต่อร่างกายอย่างแน่นอน

จากการศึกษาของผู้ผลิตซอสโอเมบอสระบุว่า ค่าที่ดีที่สุดระหว่างไขมันโอเมก้าทั้ง 2 ชนิด ต้องน้อยกว่า 2 ต่อ 1 (โอเมก้า 6 : โอเมก้า 3) โดยได้ทำการทดลองผลิตด้วยน้ำมันทำอาหารที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ได้แก่ น้ำมันปาล์มและน้ำมันงาขี้ม้อน ซึ่งน้ำมันงาขี้ม้อนมีโอเมก้า 3 สูงที่สุดถึง 60% ผสมกับน้ำมันปาล์มที่เกิดควันน้อยเหมาะแก่การประกอบอาหาร ปรุงรสพร้อมบรรจุกะเพรา พริก กระเทียม สามารถผัดกะเพราทานได้ภายใน 2 นาที “ซอสของเราเป็นซอสสำเร็จรูปค่ะ สามารถนำไปประกอบอาหารและรับประทานได้เลย เพราะมีทั้งพริกกระเทียม ใบกระเพรา ปรุงรสให้เสร็จ รวมถึงน้ำมันที่เราได้คำนวนปริมาณสัดส่วนเรียบร้อยแล้วค่ะ โดยสามารถทำตามวิธีการปรุงที่เราได้แนะนำไว้ข้างขวด คือ ใส่น้ำมัน 1 ช้อนชา ผัดกับเนื้อสัตว์ 100 กรัม ผัดจนสุกและเติมซอสลงไป 3 ช้อนโต๊ะ ผัดต่อไปประมาณ 2 นาทีเพื่อให้ซอสซึมเข้าเนื้อสัตว์ แล้วก็พร้อมเสิร์ฟค่ะ สามารถประกอบอาหารได้ 6 ครั้ง (280 กรัม) ในตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดราคาที่แน่นอน แต่จากการสอบถามผู้บริโภคส่วนหนึ่งให้ราคาอยู่ที่ 80–200 บาทค่ะ” น้องกฤติกานำเสนอวิธีปรุงสุกโดยใช้ซอสโอเมบอสเป็นส่วนประกอบ

นอกจากโอเมก้าจะสมดุลแล้ว เรื่องความอร่อยก็ต้องคงที่ โดยผู้ผลิตได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงอายุในการเก็บรักษาแม้ในยามห่างไกลอยู่ต่างแดน ก็สามารถรับประทานผัดกะเพราไทยๆ ได้ตลอดทั้งปี “เราได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับอายุการเก็บรักษาในสภาวะเร่งที่ 55 องศา เป็นเวลา 7 สัปดาห์ หรือเทียบเท่าอุณภูมิห้อง 25 องศา เป็นเวลา 1 ปี รวมไปถึงการศึกษาอัตราส่วนโอเมก้าในซอส ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง หมายความว่าไม่มีผลต่อรสชาติและคุณค่าทางอาหาร โดยทีมวิจัยมีการนำตัวอย่างออกมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทุกๆ สัปดาห์ เกี่ยวกับคุณทางอาหารและรสชาติ เนื่องจากผัดกระเพราเป็นอาหารยอดนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรามองไปถึงด้านพาณิชย์ในการส่งออก และในเมนูผัดผักต่างๆ มักจะมีส่วนประกอบเป็นน้ำมันเยอะ ดังนั้น เราจึงนำอัตราส่วนโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 มาพัฒนาในซอสผัดกะเพราเป็นส่วนแรกค่ะ”

ผู้ผลิตซอสโอเมบอสยังคงภูมิใจนำเสนอต่อไปว่า “ถ้าได้รับการตอบรับที่ดีก็อาจจะพัฒนาต่อยอดไปสู่ซอสรสอื่นๆ ด้วยค่ะ เช่นซอสสำหรับผัด ในส่วนของซอสกะเพราเองอาจจะมีการปรับสูตรเป็นโซเดียมต่ำเพื่อสุขภาพค่ะ ผลงานยังรอการร่วมมือจากผู้ผลิตภายนอกเพื่อนำออกสู่ตลาด ซึ่งตอนนี้เราลดต้นทุนโดยการผลิตน้ำมันขี้ม้อนเอง ซึ่งทางคณะมีเครื่องผลิตอยู่ค่ะ เรามุ่งเป้าไปยังกลุ่มบุคคลทั่วไปที่รักสุขภาพ โดยเน้นให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจด้านอาหารเพื่อสุขภาพสามารถร่วมลงทุนได้ค่ะ โดยการติดต่อผ่านทางอาจารย์ที่ปรึกษาได้เลยค่ะ (ดร.สุกฤต ศิริขวัญพงศ์ ภาควิชาโภชนาการและกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์)” น้องปภัสวรรณและน้องกฤติกา ยังคงผลัดกันตอบอย่างมีจังหวะ

เรื่องของสุขภาพในยุคปัจจุบันต้องคำนึกให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องอาหารการกิน แต่เลือกนักมักอดของอร่อย แต่ไม่ใช่กับเมนูผัดกะเพราอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพของผู้ที่รักผัดกะเพรามาถึงแล้ว รอแค่เพียงบรรจุขวดขายอย่างเป็นทางการก็เท่านั้นเอง

นางสาวปภัสวรรณ ชูจิต
และ นางสาวกฤติกา สุนทรโภคิน

นิสิตปี 4 ภาควิชาโภชนาการและกำหนดอาหาร , คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย