“พี่กระจก น้องปิ่นโต” หุ่นยนต์ 2 พี่น้อง Take care ผู้ป่วย
กรกฎาคม 12, 2020 2024-01-05 11:02“พี่กระจก น้องปิ่นโต” หุ่นยนต์ 2 พี่น้อง Take care ผู้ป่วย
“การเว้นระยะห่างทางสังคม” หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ อย่าง “Social distancing” กำลังเป็นประเด็นในสังคมทั่วโลก เมื่อเราต้อง “ห่าง-กัน-สัก-พัก” เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อในช่วงการระบาดของไว้รัส COVID-19 หลายอาชีพผันตัวมาทำงานแบบ Work Form Home แต่มีเพียงอาชีพเดียวที่ยังคงดูแลผู้ป่วยและคอยคัดกรองโรค และต้องมาทำงานแบบ Work From Hospital แทบจะ 24 ชม.นั่นก็คืออาชีพ “บุคลากรทางการแพทย์”
นักรบชุดขาวเหล่านี้ ยังคงทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ หากแต่กำลังใจเริ่มถดถอยเมื่อผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง การดูแลอย่างคนไข้ให้ดีที่สุดมีอุปสรรคเป็นอุปกรณ์สนับสนุนในการป้องกันไม่เพียงพอที่จะฝ่าเชื้อโรคเข้าไปเยียวยาคนไข้
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะศิษย์เก่าจุฬาฯ ซึ่งแตกกิ่งเป็นบริษัท
Start up ภายใต้ชื่อบริษัท HG Robotics และบริษัท obodroid ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ “พี่กระจกและน้องปิ่นโต” เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย ด้วยคอนเซ็ปต์ “ห่างกัน แต่ดูแลอย่างใกล้ชิด”

รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ‘หุ่นยนต์น้องปิ่นโต’ ว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีงานวิจัยด้านหุ่นยนต์มาโดยตลอด ซึ่งมีงานที่ได้ทำร่วมกับโรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง เราเคยทำหุ่นยนต์กายภาพช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาต พอมีวิกฤต COVID เข้ามา คณบดีจึงมีนโยบายให้คณะวิศวกรรม จุฬาฯ เข้าไปช่วยเหลือสังคมและโรงพยาบาลต่างๆ โดยเราได้นำหุ่นยนต์ต้นแบบที่เรามีพร้อมทั้งสร้างหุ่นยนต์ใหม่เข้าไปเสนอกับทีมแพทย์และพยาบาล ซึ่งเราได้รับการตอบรับจากผู้ใช้จริงจึงพบว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรซับซ้อนเลยครับ ต้องการเพียงแค่สิ่งที่คุ้นเคย ใช้ง่าย ใช้สะดวก ไม่ติดตั้งวุ่นวาย ไม่สิ้นเปลืองพื้นที่เดิมที่มีอยู่ เราจึงมองหาสิ่งที่โรงพยาบาลมีอยู่แล้ว นั่นก็คือ ‘รถเข็นในโรงพยาบาล’ นำมาดัดแปลง ใส่ระบบควบคุมขับเคลื่อนที่ ติดตั้งกล้อง ใช้แผงควบคุมของโดรน และนำไปทดสอบที่โรงพยาบาล จนกลายเป็น “หุ่นยนต์ปิ่นโต” ทำหน้าที่คอยส่งข้าวส่งน้ำให้กับผู้ป่วย โดยที่พยาบาลไม่ต้องเข้าใกล้ผู้ป่วย หลักจากที่เราพัฒนาตามคำแนะนำและสามารถผลิตเพื่อใช้งานได้สำเร็จ โดยเป็นที่ยอมรับในหลายๆ โรงพยาบาลครับ
ตอนนี้เราผลิตต้นแบบ 20 ตัว และพยายามเพิ่มกำลังการผลิตจากบริษัทภายนอกอีก 100 ตัว ในช่วงนี้เราส่ง “พี่กระจก” เข้าไปช่วยคุณหมอสื่อสารกับคนไข้ก่อนและจะกระจาย “น้องปิ่นโต” ตามไปเมื่อเสร็จเรียบร้อยครับ”
ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมถึง ‘หุ่นยนต์พี่กระจก’ ว่า “เราพยายามจะแยกคุณหมอกับคนไข้ให้ห่างกันในระดับหนึ่งเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ “พี่กระจก” จึงเข้ามาช่วยในส่วนนี้ ลักษณะการทำงาน คือ เราจะมีแท็บเล็ต 2 เครื่อง สำหรับคุณหมอและคนไข้ โดยทั้งสองชิ้นนี้เชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมือถือ ไม่ได้ใช่เครือข่ายโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถใช้ที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ คุณหมอสามารถโทรเข้ามาคุย เสมือนการเดินมาเข้าห้องตรวจ เห็นหน้าและได้ยินเสียงเหมือนปกติแบบ Real Time ไม่มีสัญญาณ Delay ถ้าคนไข้รู้สึกไม่สบายหรือมีคำถาม ก็สามารถกดเรียกคุณหมอหรือพยาบาลได้ ซึ่งในอนาคตเราจะปรับปรุงให้คุณหมอสามารถคุยกับคุณหมอได้ เพื่อสามารถถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเคสของคนไข้ซึ่งกันและกันได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีจำนวนจำกัด และทุกคนก็ต้องการได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง”

“พี่กระจก” และ “น้องเป็นโต” เป็นชุดหุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนามาจากของใช้ทั่วไป ได้แก่ รถเข็นสแตนเลสส่งอาหารในโรงพยาบาลและแท็บเล็ตสื่อสาร โดยแท็บเล็ตมีความสามารถกันน้ำ กันกระแทก และสามารถล้างน้ำหรือเช็ดแอลกอฮอล์ได้โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับตัวเครื่อง หน้าจอสามารถสัมผัสได้แม้ใส่ถุงมือยาง ซึ่งทำงานคู่กับ “น้องปิ่นโต” รถเข็นส่งอาหารบังคับระยะไกลที่ถูกพัฒนามาจากรีโมทคอลโทรลโดรน ใช้งานง่าย และการดูแลรักษาไม่ซับซ้อน เป็นเสมือนตัวแทนแพทย์และพยาบาลในการเข้าไปตรวจเยี่ยมอาการคนไข้ สังเกตอาการ พูดคุยถามตอบ ลดการใช้อุปกรณ์เครื่องป้องกัน ลดระยะเวลา และลดขั้นตอนในการสวมชุด PPE ในการเข้าไปพบผู้ป่วยได้ดีอีกด้วย นอกจากจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัย ผู้ได้รับการรักษาก็อุ่นใจที่สามารถพูดคุยกับคุณหมอได้ตามปกติ
“ตอนนี้ทุกโรงพยาบาลมีสถานการณ์เดียวกัน ไม่ใช่แค่ประเทศไทยแต่เป็นทั่วโลกครับ เราขาดแคลนชุดอุปกรณ์เยอะมาก เราจึงนำเทคโนโลยีและหุ่นยนต์มาใช้ หุ่นยนต์ปิ่นโตและหุ่นยนต์กระจกสามารถช่วยลดอุปกรณ์ได้เยอะจริงๆ แพทย์จากโรงพยาบาลรามาฯ โรงพยาบาลจุฬาฯ ยืนยันกับเราแล้วว่าใช้ได้ผลจริง ทางคุณหมอและพยาบาลเมื่อทราบว่ามีการผลิตก็ต้องการใช้ระบบนี้กันอย่างมากครับ โรงพยาบาลที่ใช้แล้วก็มีการตอบรับที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงและเป็นกำลังใจให้กับแพทย์ พยาบาลมากเลยครับ ต้องฝากขอบคุณผู้ที่ช่วยบริจาคและสนับสนุนทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยครับ” รศ.ดร.วิทยา กล่าว
“ในมุมมองของโครงการนี้ ต้องการให้หุ่นยนต์เข้าไปเซฟคุณหมออีกทีหนึ่งครับ เรานำคำแนะนำกลับมาปรับปรุงอยู่หลายรอบเพื่อให้ได้ผลงานที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ ในสถานการณ์ช่วงนี้ สิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ในตอนนี้เลย คือ ‘Social distancing’ ครับ เราอยู่ห่างกันเข้าไว้ เป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยตัวเราเองและสังคม รวมถึงคุณหมอ อยู่ห่างกันไว้แล้วมันจะผ่านไปครับ” ดร.สุรัฐ กล่าว