บทความ

อุปกรณ์วัดค่าความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะโคชนิดไร้สายเพื่อปศุสัตว์ยุคใหม่

IMG_6432

อุปกรณ์วัดค่าความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะโคชนิดไร้สายเพื่อปศุสัตว์ยุคใหม่

ตรวจโรคคนว่ายากแล้ว ตรวจโรควัวยิ่งยากกว่า…การตรวจสุขภาพสำหรับมนุษย์นั้น อาจเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับใครหลายๆ คน แต่การตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอทำให้เราห่างไกลโรคร้าย สัตว์ก็เช่นกัน เพราะสัตว์พูดไม่ได้ การตรวจโรคอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะสัตว์ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ยิ่งไม่ควรละเลยการตรวจสุขภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีและการได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

นายสัตวแพทย์ปิยะณัฐ ประสมศรี ภาควิชาอายุศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าใจปัญหาด้านการตรวจสุขภาพสัตว์ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด นอกจากขั้นตอนวินิจฉัยจะยากแล้ว ขั้นตอนการนำตัวอย่างจากภายในร่างการสัตว์ออกมาตรวจยิ่งยากกว่า จึงได้คิดค้นร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพิบูลย์สงคราม ออกมาเป็นเทคโนโลยี “อุปกรณ์วัดค่าความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะโคชนิดไร้สาย” เพื่อเกษตรกรยุคใหม่ ตรวจโรคกรดเกินในกระเพาะหมักโคได้ง่ายๆ เพียงแค่เปิดดูข้อมูลจากสมาร์ทโฟน

โรคกรดเกินในกระเพาะหมักโค (Ruminal acidosis) เป็นความผิดปกติทางเมตาบอลิซึมที่พบได้บ่อยในโคนม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและผลผลิตโดยตรง เพราะโคที่เป็นโรคนี้จะมีค่าความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะหมักลดลงต่ำกว่า 5.8 (pH unit) มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน การวินิจฉัยโรคในปัจจุบันจึงต้องใช้เข็มเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปในกระเพาะหมักเพื่อดูดของเหลว (Ruminocenthesis) และนำมาวัดค่าความเป็นกรด-ด่างด้วยเครื่อง pH meter อีกที

วิธีการวินิจฉัยโรคดังกล่าว มีข้อเสียคือ ไม่สามารถทำได้หลายครั้ง เพราะเป็นวิธีการที่ค่อนข้างสร้างความเจ็บปวดให้กับโคเป็นอย่างมาก ทั้งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาแทรกซ้อน การติดเชื้อ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของสัตว์ในการเจาะซ้ำหลายครั้ง ทำให้ข้อมูลไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากกระเพาะหมักของโคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยค่าความเป็นกรด-ด่างได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

สภาวะโรคกรดเกินของโคในประเทศไทย จากการศึกษาในศาสตร์ของคณะสัตวแพทย์ พบว่าจากโค 100 ตัวจะมีโค 15 ตัวที่เป็นโรคนี้ ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าค่อนข้างสูงมาก และเป็นโรคสุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง

“การวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนจาก พวอ. (โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เราได้คิดประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาสำหรับป้อนให้โคกินเพื่อวัดค่า pH ในกระเพาะและส่งสัญญาณออกมาภายนอก เข้าคอมพิวเตอร์ แลปท็อป หรือโทรศัพท์มือถือก็ได้ เราสามารถตรวจค่า pH ในกระเพาะโคได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าโคมีความผิดปกติเราสามารถวินิจฉัยควบคุมและป้องกันปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีดั้งเดิมที่ทำกัน” นายสัตวแพทย์ปิยะณัฐ ประสมศรี กล่าว

วิธีการใช้อุปกรณ์ไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงแค่ป้อนอุปกรณ์นี้เข้าไปทางปากโคเพียงครั้งเดียว อุปกรณ์จะวัดค่าความเป็นกรด-ด่างและถ่ายโอนด้วยระบบไร้สายมายังคอมพิวเตอร์ แลปท็อป หรือโทรศัพท์มือถือ  ทำให้เจ้าของหรือสัตวแพทย์สามารถทราบข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยลดความเจ็บปวดให้กับโค สร้างความสบายใจได้ทั้งโคและผู้เลี้ยง พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจมากขึ้น

นายสัตวแพทย์ปิยะณัฐ กล่าวว่าอุปกรณ์ที่นำเสนอเป็นเพียงอุปกรณ์ต้นแบบ ซึ่งในอนาคตสามารถปรับแต่งข้อมูลให้สามารถวินิจฉัยโรคได้หลากหลายขึ้น ทำให้การตรวจสุขภาพโคเป็นเรื่องง่ายและมีคุณภาพมาก

“ในทางวิศวกรรมสามารถต่อยอดได้อีกเยอะมากครับ อาทิเช่น ในอนาคตจะมีเซ็นเซอร์สามารถวัดพฤติกรรมความเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาของโคเพิ่มขึ้นมา เราก็ใช้ฐานความรู้เดิมเพิ่มเซ็นเซอร์เข้าไปทำให้สามารถขยายการตรวจนอกเหนือจากที่สามารถตรวจแค่ pH ได้ อาจจะตรวจอย่างอื่นได้อีก อีกอย่างนึงเลยที่ตั้งใจก็คืออยากทำออกมาในลักษณะของไทยทำไทยใช้ เป้าหมายสูงสุดคืออยากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยได้ใช้ โดยที่เราเป็นเจ้าขององค์ความรู้ทั้งหมด สามารถปรับเปลี่ยนทุกอย่างได้เอง ปัจจุบันนี้เราซื้อเทคโนโลยีต่างๆ จากต่างประเทศ แต่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขตามที่ต้องการได้ในบางครั้ง เพราะเทคโนโลยีถูกตั้งค่าขึ้นมาในบริบทของประเทศอื่น ที่ไม่ใช่ประเทศของเรา ซึ่งเทคโนโลยีคงไม่พอดีกับทุกประเทศหรอกครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำของเราได้เองแล้วก็จะมีข้อดีหลายอย่างเลยครับ” นายสัตวแพทย์ปิยะณัฐ กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ “อุปกรณ์วัดค่าความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะโคชนิดไร้สาย” จะเป็นเพียงต้นแบบ แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรไทย นี่อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ดี ที่ทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรไทยเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ ก็เป็นได้

นายสัตวแพทย์ปิยะณัฐ ประสมศรี

ภาควิชาอายุรศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย