ข่าวสาร

เวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 24 เรื่อง “ระเบิดเบรุต จุดชนวนความปลอดภัยอย่างยั่งยืน”

IMG_9854

เวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 24 เรื่อง “ระเบิดเบรุต จุดชนวนความปลอดภัยอย่างยั่งยืน”

เมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม 2563 สำนักบริหารวิจัย ร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม และศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 24 ในหัวข้อเรื่อง “ระเบิดเบรุต จุดชนวนความปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ณ ห้องประชุม 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี กล่าวเปิดงานเวทีจุฬาฯ เสวนา ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์การระเบิดรุนแรงของคลังเก็บสินค้าแอมโมเนียมไนเตรตที่ท่าเรือเบรุต ประเทศเลบานอน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จึงนำมาสู่การจัดเสวนาเพื่อสร้างความตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีอันตรายอย่างถูกต้อง รวมถึงแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงลักษณะและการคาดการณ์สาเหตุของการเกิดระเบิด วิธีการจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีที่ท่าเรือเบรุต เพื่อเป็นกรณีศึกษาและตระหนักรู้ถึงการใส่ใจข้อมูลจากฉลากสารเคมี สัญลักษณ์เตือนอันตราย เอกสารข้อมูลความปลอดภัย และการเก็บสารรักษาอย่างเหมาะสม

คุณเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาซเคม โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์ จำกัด ที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่ม Responsible Care® ประเทศไทย กล่าวถึง ตัวอย่างการเกิดเหตุการณ์อื่นๆ อันตรายจากสารเคมีระเบิด และวิธีการจัดการที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการ โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีตระหนักถึงความปลอดภัยด้านการจัดเก็บและการจัดการสารเคมี รวมถึงตระหนังถึงอันตรายและความเสี่ยงอย่างระมัดระวังและรอบด้าน

ดร. ไพฑูรย์ งามมุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตดอนเมือง อดีตหัวหน้าฝ่ายจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการ สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ให้ความรู้เกี่ยวกับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยภาครัฐมีแผนการป้องกันและการตอบโต้ฉุกเฉินตามหลักสารกล รวมถึงให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับอุบัติภัยสารเคมี พร้อมถอดบทเรียนเหตุการณ์จากอดีตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สู่การปรับปรุงแผนรับมือ สร้างความตระหนัก และการใส่ใจด้านความปลอดภัย

รองศาสตราจารย์ สุชาตา ชินะจิตร ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการความปลอดภัยด้านเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง การบริหารจัดการความปลอดภัยเพื่อหาปัจจัยความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการช่วยกันเฝ้าระวัง เพื่อลดอัตราการเกิดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต