“หนูน้อยนักออม” แอพพลิเคชั่นส่งเสริมการออมเงินของทุกคนในครอบครัว
ธันวาคม 7, 2020 2024-01-08 8:38“หนูน้อยนักออม” แอพพลิเคชั่นส่งเสริมการออมเงินของทุกคนในครอบครัว
เป้าหมายในการใช้เงินของแต่ละคนมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว การวางแผนทางการเงินทำให้การใช้จ่ายในแต่ละเดือนถูกแบ่งสัดส่วนตามความเหมาะสม ในระหว่างนี้ เราก็มีสิ่งของที่อยากได้ มีมูลค่า เป็นค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ได้มาซึ่งของชิ้นนั้น การเก็บออมจึงเป็นวิธีการจัดการที่สามารถช่วยให้เราได้ซื้อของที่อยากได้โดยไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายประจำ ซึ่งเด็กก็เช่นกัน พวกเขาได้รับค่าขนม มีของเล่นที่อยากได้ แต่ไม่เข้าใจวิธีการบริหารจัดการเงินเนื่องจากมีผู้ปกครองค่อยจัดการให้ ต่อให้ขนมหรือของเล่นจะมีราคาเกินกว่าเงินค่าขนมของตัวเองตาม ทำให้เด็กขาดความเข้าใจและการตระหนักรู้ถึงความสมดุลเรื่องการเงิน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา พรมพันธุ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวนิตย์ สงคราม จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวคิดในการทำให้เรื่องการจัดการเงินของเด็กๆ เป็นเรื่องเข้าใจง่าย ผ่าน “หนูน้อยนักออม ชุดกระปุกออมสินและแอปพลิเคชันเพื่อการออมเงินอย่างมีเป้าหมายและมีความสุข” ที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้การจัดการเงินค่าขนมและค่าของเล่นของตัวเองได้ โดยผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมและช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ เก็บเงินได้ตามเป้าหมาย รวมถึงส่งเสริมการรู้จัก “ให้” ผ่านกระปุกออมเงินเพื่อบริจาค “เริ่มแรก จะฝึกนิสัยการออมของเด็กๆ ด้วยการแบ่งเงินเป็น 6 ส่วนตามแนวคิด jars money management system จากปกติที่เก็บเงินเพียงกระปุกเดียว ในช่วงแรกของผลงาน เราก็ทำเป็นกระปุกสวยงามน่ารัก แต่ต่อมาเราคำนึงถึงการใช้งานว่า การออมเงินไม่ได้ใช้แค่กับเด็กเท่านั้น จึงคิดต่อยอดไปถึงการเชื่อมโยงระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ให้สามารถช่วยกันเก็บเงินเพื่อจะฝึกนิสัยการบริหารการเงินตั้งแต่เด็ก และกลายเป็นแอพพลิเคชั่นจัดการทางการเงินที่มีชื่อว่า ‘My money blueprint’ เป็นการวางแผนหรือการวางพิมพ์เขียวทางการเงินของตัวเอง



เนื่องจากเด็กๆ ยังไม่สามารถวางแผนทางการเงินเพียงลำพังได้ จึงผนึกกำลังระหว่างเด็กกับพ่อแม่ในการช่วยกันวางแผนการเก็บเงิน เริ่มจากเด็กๆ มีสิ่งของที่อยากได้ และให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งเงื่อนไขว่า จะเก็บเกินเป้าราคาของเล่นที่กำหนด เช่น ของเล่นราคา 500 จะต้องเก็บตังค์ให้ได้ถึง 1,000 บาท ซึ่งเงินส่วนเกินจากการซื้อของเล่นจะแบ่งเงินเข้าตามกระปุกในด้านต่างๆ โดยมีกระปุกซื้อของเล่นเป็นเป้าหมายสูงสุด สัดส่วนทั้งหมดคิดเป็น 100% และแบ่งปริมาณลดหลั่นกันไปตามจำนวนกระปุก ซึ่งเด็กๆ จะเป็นผู้คิดคำนวณเอง ตั้งเปอร์เซ็นต์เอง ว่าในแต่ละช่องควรจะเก็บเงินเท่าไหร่ สามารถแจ้งผู้ปกครองได้ว่าเงินที่ได้มาจากค่าขนมอยากจะแบ่งเงินใส่ในกระปุกไหนบ้าง เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ซึ่งมีเงื่อนไขในการออมจะต้องใส่เงินให้ครบทุกกระปุก เราจะมีกระปุกนึงที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการ “ให้” โดยสอนในเรื่องของการแบ่งปันและการช่วยเหลือผู้อื่น ในส่วนนี้จะมีลูกเล่นเป็นตัวละครสมมติที่มีการเจริญเติบโตขึ้นในแอพพลิเคชั่นตามผลการออมเงินของเด็กๆ” ผศ.ดร.อินทิรา กล่าว
6 Jars System เป็นแนวคิดการจัดการด้านการเงินจาก ที ฮาร์ฟ เอคเคอร์ (T Harv Eker) นักธุรกิจและนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ กล่าวถึงการแบ่งเงินออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่ เงินสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน (Necessity) มีสัดส่วน 55% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เงินสำหรับให้รางวัลของตัวเอง (Play) การลงทุน (Financial Free) การศึกษา (Education) และเก็บออม (Long-term Saving) อย่างละ 10% และเงินสำหรับการบริจาคอีก 5% สำหรับการปรับใช้กับเด็กๆ ก็สามารถแบ่งเป็นเงินสำหรับค่าขนมประจำวัน ค่าของเล่น เก็บออม เงินบริจาค และด้านอื่นๆ ที่เด็กๆ สนใจ เพื่อส่งเสริมการวางแผนด้านการเงินและรู้ถึงคุณค่าของการใช้จ่ายของตัวเอง ผศ.ดร.อินทิรา กล่าวถึงด้านการพัฒนาต่อยอดผลงานจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ในกระปุกร่วมด้วย เพื่อให้ลิงก์กับแอพลิเคชั่นและติดตามยอดการออมได้ ร่วมถึงสร้างรูปแบบกระปุกให้เป็นของประดับตกแต่งบ้านที่สามารถค่อยสังเกตการณ์ได้ “จุดประสงค์อยากให้เป็นของประดับตกแต่งบ้านได้ด้วย ทำให้เด็กสามารถสังเกตได้ว่าตอนนี้กระปุกมีเงินไปเท่าไหร่แล้ว และนำเงินออกมาได้ง่ายนำกลับไปใช้ซ้ำได้ การพัฒนาในลำดับต่อไปจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้าไปในกระปุก ต้องออกแบบให้สามารถเข้ากับบ้านได้ทุกบ้านสามารถเป็นของขวัญของประดับภายในบ้าน ซึ่งต่อไปถ้ามีเซ็นเซอร์แล้วกลุ่มเป้าหมายอาจจะใช้ได้กับผู้ใหญ่ได้ ซึ่งผู้ใหญ่ก็ควรมีการจัดการและบริหารการเงินแบบนี้ด้วยเช่นกัน”

รศ.ดร.เนาวนิตย์ สงคราม
และ ผศ.ดร.อินทิรา พรมพันธุ์
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย