ปรับเวลาพัก…ขยับเวลานั่ง ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม ด้วย “DynaSeat®”
ธันวาคม 31, 2020 2024-01-08 9:41ปรับเวลาพัก…ขยับเวลานั่ง ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม ด้วย “DynaSeat®”
“ขอให้ไม่เจ็บไม่ป่วย ขอให้ผมไม่ร่วงขอให้ไม่ปวดหลัง” อาจเป็นคำอวยพรยอดฮิตในช่วงปีใหม่ 2021 ที่ผู้ฟังอาจจะยกมือพนมและกล่าวคำว่าสาธุ เนื่องจากอาการปวดหลังที่เกิดในบริเวณคอ บ่า และไหล่ มักเป็นของคู่กันกับมนุษย์ออฟฟิศที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งพิมพ์งานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ซึ่งทำติดต่อกันจนกลายเป็นพฤติกรรม และขยับนิ้วบนแป้นพิมพ์มากกว่าลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีคลินิกกายภาพเกิดขึ้นหลายแห่งในย่านที่มีกลุ่มบริษัทหรือมีพนักงานออฟฟิศอาศัยอยู่และมีราคาการให้บริการค่อนข้างสูง เนื่องจากทรัพยากรนักกายภาพบำบัดมีจำนวนสวนทางกับผู้เข้ารับการรักษาและมีระยะเวลาในการฟื้นฟูค่อนข้างมาก จึงทำให้คุณนิภาพร อัครกิตติโชค นิสติป.เอกจากภาควิชาชีวเวชศาสตร์ คณะบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณภูริพัฒน์ วาวเงินงาม นิสิตป.เอกภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศ.ดร.ประวิตร เจนวรรธนะกุล อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ นำเอาประสบการณ์จากการเป็นนักกายภาพบำบัด คิดค้นนวัตกรรม “DynaSeat” ที่นั่งอัจฉริยะเพื่อป้องกันโรคปวดคอและหลังจากการนั่งเป็นระยะเวลานาน” โดยเน้นไปที่การป้องกันมากกว่ารอรับการรักษา ด้วย ‘แผ่นรองนั่ง อุปกรณ์ที่มนุษย์ออฟฟิศทุกคนต้องคุ้นเคยและต้องมี



“DynaSeat®” ทำงานด้วยส่วนประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ แผ่นรองนั่ง ตัวประมวลผล และแอพพลิเคชั่น โดยส่วนของแผ่นรองนั่ง จะประกอบไปด้วยถุงลมทั้งหมด 4 ชิ้น รองรับสรีระและรูปแบบการนั่งเหมือนที่รองนั่งทั่วไป ซึ่งในแต่ละถุงลมจะมี Pressure sensor คอยตรวจจับน้ำหนักการนั่งและการกระจายน้ำหนักของก้นตามพฤติกรรมของผู้นั่ง และส่งผลไปยัง Processor (ตัวประมวลผล) ที่คอยวิเคราะห์พฤติกรรมการนั่ง แบ่งออกเป็น 2 โปรแกรม ได้แก่ โปรแกรม DynaSit ช่วยในการ “ขยับ” เปลี่ยนท่านั่งผ่านถุงลม หากเครื่องประมวลผลออกมาแล้วพบว่านั่งเอียงด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ถุงลมจะเป่าลมด้านนั้นเพิ่มขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้รู้ตัวว่าทิ้งน้ำหนักในส่วนนั้นมากเกินไป และจะต้องปรับวิธีการนั่งใหม่ให้สมดุล และ โปรแกรม DynaRest คอยแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานพักเบรกหรือลุกออกจากเก้าอี้ ด้วยระยะเวลาและจำนวนครั้งที่เหมาะสม ซึ่งประเมินและวิเคระห์จากพฤติกรรมการนั่งส่วนบุคคล และแสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่น โดยบันทึกและติดตามพฤติกรรมการนั่ง ของผู้ใช้งาน และยังมีฟังก์ชั่น Realtime feedback ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานเรียนรู้ท่านั่งที่เหมาะสมได้ ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งร่วมทุนกับเอกชนภายนอกเพื่อให้เกิดเป็นผลงานที่ใช้ได้จริงในอนาคต รวมทั้งจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Technology Center: UTC) เพื่อผลักดันให้นวัตกรรมสามารถออกสู่ตลาดได้จริงในอนาคต
“เรามีการร่วมทุนกับบริษัท AirLumba ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย โดยมีแผนในอนาคตเยอะมากเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้อุปกรณ์กระชับขึ้น การนำสายไฟออกหรือฝังลงไปในเก้าอี้ เป็นการปรับรูปโฉมให้เหมาะสมมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงซอฟแวร์ที่ต้องการให้เครื่องมีความอัจฉริยะมากขึ้น เหมาะกับชีวิตประจำวันมากขึ้น และอาจจะไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ออฟฟิศอย่างเดียว อาจใช้ได้กับเก้าอี้บนเครื่องบิน เก้าอี้โรงหนัง เก้าอี้สำหรับนักกีฬา E-sport หรือเก้าอี้ในระบบขนส่งสาธารณะ โดยจุดประสงค์แรกอยากให้เป็นเก้าอี้ส่วนบุคคลเพื่อสามารถติดตามพฤติกรรมการนั่งของผู้ใช้งานและปรับให้เหมาะสมตามพฤติกรรมการนั่ง ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยลดการโอกาสในการเป็นออฟฟิศซินโดรมได้ค่ะ” คุณนิภาพร กล่าว


นิภาพร อัครกิตติโชค นิสิตปริญญาเอก
สาขาชีวเวชศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย