เด็กไทยยุคใหม่เก็บเงิน “Fins” เลย
ธันวาคม 17, 2020 2024-01-08 9:07เด็กไทยยุคใหม่เก็บเงิน “Fins” เลย
จากผลการสำรวจทักษะการเงินของคนไทยในช่วงปี 2559 สำรวจตามแนวทางของ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ที่ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง ทั้งในและนอกเขตเทศบาลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศพบว่า คนไทยมีความรู้ทางด้านการเงินน้อยที่สุด มีคะแนนอยู่ที่ 48.6% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อเทียบกับ 30 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพราะกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา จะมีทักษะทางด้านการเงินต่ำกว่ากลุ่มอื่นซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์*
*ข้อมูลอย่างอิงจาก รายงานผลการสำรวจทักษะการเงินของไทย ปี 2559
ในยุควิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในปี 2563 ก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าเงินออมมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตการณ์ที่ประเทศถูกล็อคดาวน์ ผู้คนถูกเลิกจ้างงาน การซื้อขายถูกระงับ แต่การใช้ชีวิตและการใช้จ่ายเพื่อครองชีพก็ยังคงดำเนินอยู่ โดยที่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าโรคระบาดจะสิ้นสุดเมื่อใด แม้แต่เงินค่าขนมของเด็กๆ เองก็มีผลในช่วงที่ขาดเรียนไปเช่นกัน การเก็บออมเงินเพื่อสิ่งของที่ต้องการจึงต้องมีการจัดการวางแผนใหม่และจะต้องเรียนรู้ภาวะเสี่ยงจากเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ รอบตัว ทำให้ ดร.อลิษา เมืองผุด จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดไอเดียคิดค้นแอพพลิเคชั่น “Fins” เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ จัดการกับการออมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดร.อลิษา กล่าวถึงแอพพลิเคชั่น ‘เด็กไทยยุคใหม่ใส่ใจเรื่องเงินไปกับ Fins’ เกี่ยวกับเครื่องมือในการเรียนรู้ด้านการเงินและการจัดการแผนเงินในแอพพลิเคชั่นว่า “เราใช้สถานการณ์ในการเรียนรู้โดยอิงตามสภาพจริงของผู้เรียน ประกอบไปด้วย 4 สถานการณ์ด้วยกัน ได้แก่ ธุรกรรมทางด้านการเงิน การวางแผนและการจัดการทางด้านการเงิน ความเสี่ยงและผลตอบแทน และสุขภาพทางด้านการเงิน โดยเบื้องต้นเราจะตั้งคำถามให้ผู้เรียนก่อน เช่น ‘ทำยังไงให้มีเงินล้าน?’ ‘ทำยังไงให้มีเงินเก็บระดับปริญญาตรีโดยที่ไม่ต้องขอพ่อแม่’ หรือ ‘เก็บเงินอย่างไรให้สามารถซื้อของขวัญให้กันในช่วงเทศการต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องขอเงินพ่อแม่’ ซึ่งภายในแอพพลิเคชั่นจะมีสถานการณ์ปัญหาให้ผู้เรียนลองแก้ไข ช่วยปรับในเรื่องพื้นฐานและพฤติกรรมทางการเงินของผู้เรียนก่อน และภายในแอพฯ จะมีการบันทึกรายรับ-จ่ายประจำวันของตัวเอง เพื่อจะได้เห็นลักษณะการใช้เงินแบบรายวัน รายเดือน รายปี ว่าเป็นอย่างไรบ้าง”
ความสามารถพิเศษของแอพพลิเคชั่น Fins คือ มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินคอยให้คำปรึกษาหรือช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงิน โดยการแชทโต้ตอบและการแจ้งเตือน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถตั้งคำถามด้านการเงินกับผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง รวมถึงสามารถแบ่งปันความรู้ด้านการเงินระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ใช้งาน หรือผู้ใช้งานกับผู้เชี่ยวชาญได้ และสามารถแชร์ไปยังโซเซี่ยลมีเดียเพื่อแบ่งปันความรู้และกรณีศึกษาด้านการเงินของตัวเองให้กับผู้อื่นได้ หากสนใจออมเงินรวมกับธนาคาร สามารถติดต่อกับธนาคารได้โดยตรงตามข้อมูลการติดต่อที่แอพพลิเคชั่นรวบรวมไว้ให้ หรือสนใจข้อมูลรอบตัวเกี่ยวกับการลงทุน การออมเงิน และความเสี่ยงในลงทุนก็มีข้อมูลอัพเดทอยู่ตลอดเวลา ในส่วนด้านการเรียนการสอน สามารถเป็นสื่อให้กับครูอาจารย์ในการสอดแทรกลงไปในการสอนของแต่ละวิชาได้เช่นกัน
“จากที่ทำวิจัย จะมุ่งเป้าไปที่ช่วงระดับเยาวชนเป็นหลักค่ะ แต่เคยนำแอพลิเคชั่นตัวนี้ไปใช้กับกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากค่ะ เพราะบางเรื่องคนวัยทำงานก็ยังไม่รู้เลย น่าจะเหมาะกับทุกเพศทุกวัย เราต้องการจุดประกายจากการตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรให้มีเงินเก็บ” รู้จักที่จะตั้งเป้าหมายกับตัวเอง เข้าใจด้านการเงิน ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการออมค่ะ” ดร.อลิษา กล่าว

ดร.อลิษา เมืองผุด
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย