บทความ

วัคซีนเชื้อตายแบบหยอดจมูกเพื่อป้องกันโรคไวรัส PRRS

IMG_0088

วัคซีนเชื้อตายแบบหยอดจมูกเพื่อป้องกันโรคไวรัส PRRS

คนป่วยได้ สัตว์ก็ป่วยได้…การเจ็บป่วยของสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมการเกษตร อาจจะส่งผลร้ายแรงต่อมนุษย์ในด้านความมั่นคงของอาหารอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องการตายจากการโรคระบาดส่งผลเสียทั้งด้านการปศุสัตว์ ด้านเศรษฐกิจ ด้านอาหาร รวมไปถึงสร้างความเสี่ยงต่อการติดต่อไปสู่คน ในกรณีที่เชื้อโรคมีการกลายพันธุ์

โรคที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องคอยเฝ้าระวังมาโดยตลอด นั่นก็คือ โรคไวรัส PRRS หรือ Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome ที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร ซึ่งทำให้สุกรแม่พันธุ์เกิดการแท้งลูกมากขึ้น หากในฟาร์มมีการติดเชื้อ ก็จะส่งผลให้สุกรตัวอื่นๆ เสี่ยงต่อการติดโรคและล้มตายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งวัคซีนที่นำเข้าจากต่างประเทศอาจจะส่งผลการรักษาไม่ครอบคลุมต่อเชื้อไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ในประเทศไทย จึงทำให้ รองศาสตร์ นายสัตวแพทย์ ดร.เดชฤทธิ์ นิลอุบล จากคณะคณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.อังคณา ตันติธุวานนท์ จากคณะเภสัชศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิต “วัคซีนเชื้อตายแบบหยอดจมูกเพื่อป้องกันโรคไวรัสพีอาร์อาร์เอส” เพื่อพัฒนาให้การรักษาโรคได้อย่างตรงจุด โดยผลิตยาชนิดหยอดจมูกสุกรเพื่อเลียนแบบการแพร่ของเชื้อโรคทางจมูก และเพื่อให้เหมาะสมกับการแพร่ระบาดในสุกรไทย รวมถึงลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ          

“โครงการนี้เป็นความร่วมมือของคณะสัตวแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ โดยคณะสัตวแพทย์จะศึกษาในส่วนของเรื่องวิวัฒนาการของเชื้อว่า แต่ละปีมีการวิวัฒนาการอย่างไรบ้าง ซึ่งเราจะนำข้อมูลในส่วนนี้ มาพัฒนาวัคซีน ซึ่งเป็นส่วนของเภสัชศาสตร์

โรคไวรัสพีอาร์อาร์เอส เป็นโรคติดเชื้อในหมูที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นภายในฟาร์ม เช่น การแท้งในหมูแม่พันธุ์ การคลอดก่อนกำหนด ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจในสุกร หากฟาร์มไหนเกิดโรคนี้ก็จะทำให้ติดทั้งฟาร์ม ทำให้แม่พันธุ์ในล็อตนั้นไม่สามารถใช้การได้เลย หมูจะเกิดการตายเป็นจำนวนมาก โดยวัคซีนในการรักษาโรคนี้จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีผลที่ไม่คลุมโรคในประเทศไทยเท่าไหร่นัก หรือไม่สามารถป้องกันโรคไวรัสพีอาร์อาร์เอสในประเทศไทยได้มากนั่นเอง เป็นผลมาจากเชื้อโรคตัวนี้มีการวิวัฒนาการแล้วและวิวัฒนาการเร็ว เราจึงจำเป็นจะต้องนำเชื้อที่เกิดการระบาดในช่วงนั้น มาทำเป็นวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่ขายอยู่ตามท้องตลาดเป็นชนิดแบบฉีด ไม่ส่งผลครอบคลุมไปถึงช่วงบริเวณจมูกหมู เราจึงทำวิธีเลียนแบบการแพร่เข้ามาของเชื้อโรค (เชื้อโรคเหล่านี้จะแพร่เข้าทางจมูก) โดยเราใช้เชื้อตาย เนื่องจากว่าปลอดภัยกว่าเมื่อเทียบกับวัคซีนเชื้อเป็น เราจึงนำเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสมาใส่ในระบบนำส่งที่ได้รับการพัฒนามาจากคณะเภสัชและทำการศึกษาเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ใช้ในท้องตลาด ซึ่งพบว่าวัคซีนของเราสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เยื่อเมือก เกิดภูมิคุ้มกันที่บริเวณทางเดินหายใจซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญที่สุดในการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เราทำการทดสอบประสิทธิภาพด้วยการพ่นเชื้อไวรัส เข้าไปในสุกรที่ได้รับวัคซีน พบว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ดีกว่าวัคซีนแบบฉีดตามท้องตลาด ซึ่งเป็นผลที่ดีต่อการพัฒนาวัคซีนในอนาคต หรือว่าจะนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม และสามารถนำเอาไปขายในฟาร์มได้” รศ.น.สพ.ดร.เดชฤทธิ์ กล่าว

โรคไวรัสพีอาร์อาร์เอส มีทั้งหมดสองสายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อเมริกา และสายพันธุ์ยุโรป ซึ่งในประเทศไทยมีการพบทั้งสองสายพันธุ์ หรืออาจจะพบไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ในสุกรตัวเดียวกันก็ได้ ซึ่งไวรัสชนิดนี้มีการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย จึงมีโอกาสกลายพันธุ์ได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงต้องมีการเก็บเชื้อในช่วงที่ระบาดมาทำเป็นวัคซีน

“ไวรัสก็เป็นเชื้อที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นเราจึงต้องมีการศึกษาให้ทันต่อโรคด้วยเช่นกัน ซึ่งในระบบนำส่งที่เราคิดค้นสามารถบรรจุวัคซีนที่เหมาะสมต่อเชื้อโรคในปีนั้นหรือในช่วงนั้นได้ดี ถ้าเราสามารถนำวัคซีนเข้าไปใช้ในฟาร์มได้ จะสามารถกอบประโยชน์ได้อย่างมหาศาลให้แก่ผู้เลี้ยงสุกรที่ไม่ต้องเสียแม่พันธุ์ และสุกรในฟาร์มก็ไม่ต้องตาย สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้สูง เพราะว่าวัคซีนใช้ประมาณ 1 โดสต่อตัว และในฟาร์มเองก็มีหมูหลายพันตัว อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพวกชีววัตถุหรือยาที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงอยู่แล้ว แต่ถ้าเราผลิตเองและพึ่งพาวัคซีนของตัวเองได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรในฟาร์มได้อย่างมากเลยทีเดียว” รศ.น.สพ.ดร.เดชฤทธิ์ กล่าวเสริม ข้อมูลอ้างอิง: กลุ่มไวรัสวิทยา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ภก.ภูวิช ไชยคำวัง

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานร่วมกับ: คณะสัตวแพทยศาสตร์ (รศ.น.สพ.ดร.เดชฤทธิ์ นิลอุบล) คณะเภสัชศาสตร์ (รศ.ภญ.ดร.อังคณา ตันติธุวานนท์)