บทความ

ชุดตรวจวัณโรคดื้อยาหลายขนานแบบอ่านผลด้วยตาเปล่าอย่างรวดเร็ว

IMG_9133

ชุดตรวจวัณโรคดื้อยาหลายขนานแบบอ่านผลด้วยตาเปล่าอย่างรวดเร็ว

การตรวจวินิจฉัยเชื้อวัณโรค และเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนานทางห้องปฏิบัติการสามารถทำได้หลายวิธี โดยวิธีดั้งเดิมที่เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบ คือ การเพาะเลี้ยงเชื้อ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะแยกเชื้อโดยประมาณ 1 ถึง 4 สัปดาห์ ในปัจจุบันเทคนิคทางอณูชีววิทยาได้เข้ามามีบทบาทในการตรวจวินิจฉัยเชื้อวัณโรค หรือเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน เพื่อให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้แพทย์สามารถพิจารณาเลือกใช้ยาได้อย่างเหมาะสม ช่วยในการกำกับติดตามผลของการรักษา และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของวัณโรคได้ ซึ่งเทคนิคทางอณูชีววิทยาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์หรือเครื่องมือราคาสูงที่มีความเฉพาะและผู้ปฏิบัติงานต้องมีทักษะชำนาญการพิเศษ อีกทั้งต้องทำในห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่

คุณนันทิตา สิงห์พนมชัย จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และการวัดผลที่แม่นยำ ด้วย “ชุดตรวจวัณโรคดื้อยาหลายขนานแบบอ่านผลด้วยตาเปล่าอย่างรวดเร็ว” ด้วยวิธีการทำงานอย่างง่ายโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะ หรือไม่จำเป็นต้องทำในห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ ซึ่งใช้หลักการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม ด้วยไพรเมอร์ที่ออกแบบให้มีความจำเพาะกับเชื้อที่ก่อให้เกิดวัณโรค อีกทั้งยังสามารถจำแนกเชื้อ ระหว่างสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์และไม่มีการกลายพันธุ์ได้ โดยปฏิกิริยาการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมสามารถเกิดได้ด้วยการบ่มที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 15 นาที และหยดสี Fluorescent dye ที่ชื่อว่า ‘SYBR Green I’ เพื่อทำให้สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า ชุดตรวจวัณโรคดื้อยาหลายขนานฯ จึงสามารถใช้ในการตรวจวินิจฉัยเชื้อวัณโรค ร่วมกับตรวจหาการกลายพันธุ์ที่สัมพันธ์กับการดื้อต่อยาต้านวัณโรคได้ในคราวเดียวกัน

คุณนันทิตากล่าวเสริมว่า “เชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน คือ เชื้อวัณโรคที่ดื้อต่อยาต้านวัณโรคที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา 2 ชนิด ได้แก่ ยา Rifampicin และ ยา Isoniazid ซึ่งกลไกการดื้อยาทั้ง 2 ชนิดนี้ มักมีสาเหตุหลักมาจากการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งเป้าหมายของยา การตรวจวินิจฉัยวัณโรคดื้อยาหลายขนานจะช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาเลือกใช้ยาต้านวัณโรคได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และยังช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อีกด้วยค่ะ”

ในอนาคต ชุดตรวจวัณโรคดื้อยาหลายขนานฯ มีแนวโน้มที่จะถูกพัฒนาให้สามารถอ่านผลได้ง่ายมากยิ่งขึ้นและเข้าถึงระบบสาธารณสุขระดับจังหวัด อำเภอ หรือตำบล เพื่อทำให้การรักษาและควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดการเดินทางมาตรวจโรคในโรงพยาบาลเมืองและจำกัดวงในการแพร่เชื้อ โดยปัจจุบันอุปกรณ์ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้สามารถตรวจได้จากเสมหะของผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งชุดตัวอย่างถูกพัฒนามาจากการตรวจวินิจฉัยจากการใช้สารพันธุกรรมที่สกัดที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงเชื้อ ซึ่งอาจจะยังไม่ตอบโจทย์กับการนำไปใช้ในระดับสาธารณสุขชุมชน

“ชุดตรวจนี้ ‘กำลังอยู่ในขั้นพัฒนา’ เพื่อให้สามารถตรวจได้จากเสมหะผู้ป่วยโดยตรง อีกทั้งเราจะพัฒนาให้มีรูปแบบการตรวจวินิจฉัยที่ดีขึ้นกว่าการอ่าน หรือจำแนกสี โดยพัฒนาเป็นแถบสี ในรูปแบบของสตริป เพื่อให้สามารถอ่านผลได้ชัดเจน และแปลผลได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้นค่ะ” คุณนันทิตากล่าว

นาวสาวนันทิตา สิงห์พนมชัย

คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย