บทความ

Smart GamI & Smart Sensor ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่สำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

3

Smart GamI & Smart Sensor ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่สำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

จะเกิดอะไรขึ้น…เมื่อเด็กๆ สามารถพกอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ออกนอกห้องเรียน โดยลองสวมบทบาทเป็นนักวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ทดสอบหาค่าความเป็นกรด-ด่างในน้ำและดินจากสถานที่จริง รวมไปถึงสามารถเขียนรายงานผลส่งคุณครูได้แบบ Real Time ไม่ว่าจะทำการทดลองอยู่ที่ไหนก็ตาม พร้อมเก็บแต้มคะแนนเพื่อเลื่อนขั้นเป็นศาสตราจารย์รุ่นจิ๋ว รองศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ กรณีกิจ จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นชุดอุปกรณ์ “Smart GamI & Smart Sensor ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่สำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ไหนก็ได้ โดยผู้สอนสามารถติดตามผลและให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา รวมถึงให้คะแนนด้านบุคลิกภาพที่เหมาะสมตามความแตกต่างของผู้เรียนได้อีกด้วย

Q : จุดเริ่มต้นในการทำผลงาน

รศ.ดร.ประกอบ:  เราต้องการให้ผู้เรียนมีความสนุกในการเรียน โดยเฉพาะกิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์ เราต้องการพัฒนาเครื่องมือที่ผู้เรียนสามารถนำไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนได้ โดยเราพัฒนาตัวเซ็นเซอร์ที่ทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่น Smart GamI ที่ผู้เรียนสามารถนำไปทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น เซ็นเซอร์ในการทดสอบค่า pH วัดค่าความเป็นกรดและด่าง เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ เซ็นเซอร์วัดความชื้นในดิน ซึ่งตัว Smart Sensor จะเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตผ่านบลูทูธ เมื่อผู้เรียนวัดค่ากรด-ด่างในสารละลาย ซึ่งอาจจะเป็นน้ำข้างโรงเรียนหรือความชื้นในดิน ระบบจะแสดงผลในรูปแบบของกราฟในแอพพลิเคชั่น โดยผู้เรียนสามารถนำกราฟตัวนี้ไปเขียนผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราได้ผนวกกับ GamI Application เพื่อจำลองหรือสร้างสภาพแวดล้อมได้ และมีบทบาทการมอบภารกิจให้ผู้เรียนไปทำภารกิจให้สำเร็จ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเล่นเกมส์ นั่นก็คือ ผู้เรียนจะสามารถขยับ Level ได้ จากนักวิจัยขยับไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นศาสตราจารย์

นอกจากนี้ครูยังสามารถให้ตราสัญลักษณ์กับผู้เรียนที่มีบุคลิกภาพดี หรือมีทักษะความสามารถต่างๆ ที่ผู้สอนสามารถให้รางวัลแก่เด็กนักเรียนทุกคนได้ เพราะว่าเรามีระบบการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 และการพัฒนาบุคลิกภาพอยู่ในแอพพลิเคชั่น โดยมีแนวคิดที่ว่า ผู้เรียนทุกคนย่อมมีดีและมีศักยภาพที่แตกต่างกันเพราะฉะนั้นครูจึงสามารถให้ตราสัญลักษณ์เป็นรางวัลแก่เด็กนักเรียนทุกคนได้

Qสามารถนำคะแนนในเกมส์ไปแลกเปลี่ยนเป็นอะไรในโลกจริงๆ ได้บ้าง (เช่น คะแนน เกรดการเรียน)

รศ.ดร.ประกอบ: อันนี้ใช้กับการเรียนการสอนอยู่แล้วครับ อาจจะมีการเปลี่ยนดาวให้เป็นคะแนนได้ และในส่วนที่ให้ผู้เรียนได้เขียนรายงานการทดลอง ครูก็สามารถให้ feedback ในการไปชื่นชมนักเรียนหรือให้คอมเม้นตอบกลับได้ คล้ายๆ กับ Facebook ที่สามารถเข้าไปกดไลค์กดถูกใจได้ แต่ในนี้จะเปลี่ยนเป็นตราสัญลักษณ์แทน

Qผู้เรียนที่เหมาะกับเกมนี้อยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่?

รศ.ดร.ประกอบ: อยู่ในช่วงมัธยมต้นและมัธยมปลายครับ เรานำไปทดลองในกลุ่มตัวอย่างหลายๆ พื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด ซึ่งในต่างจังหวัดเราได้ไปทดลองถึงเชียงคาน จังหวัดเลย เพื่อให้เห็นว่า สามารถอยู่ในพื้นที่ไหนก็ได้ในประเทศไทยที่มีอินเตอร์เน็ตเข้าถึง ซึ่งก็จะตอบโจทย์กับรัฐบาลในตอนนี้ ที่นำอินเทอร์เน็ตไปสู่พื้นที่ชายขอบ โดยที่เด็กๆ ก็ชอบมากและสนุกที่ได้ออกไปนอกห้องเรียน เพื่อจะไปดูสภาพพื้นที่แวดล้อมจริง โดยในกล่องอุปกรณ์ก็จะคล้ายกับอุปกรณ์ของช่าง ซึ่งทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นที่เราให้ดาวน์โหลดฟรี ซึ่งเรามอบให้กับโรงเรียนประมาณ 5-7 ชุดตามขนาดของห้องเรียน โดยปกติการทดลองจะทำเป็นกลุ่มอยู่แล้ว แต่เวลาเขียนสรุปการทดลองสามารถนำกราฟที่ได้ไปเขียนผลการทดลองส่วนตัวก็ได้ครับ

Q: การพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ

รศ.ดร.ประกอบ: มีแนวโน้วว่าจะพัฒนาไปเป็นแบบ DIY ครับ ตอนนี้ยังเป็นเครื่องแบบสำเร็จรูปอยู่ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เซนเซอร์ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบมาก เราจะเปลี่ยนให้โรงเรียนสามารถเลือกเซ็นเซอร์ที่เหมาะกับการทดลองที่ครูต้องการจะใช้ได้ ซึ่งจะเป็นแผนต่อไปในอนาคตครับ

รศ.ดร.ประกอบ กรณีกิจ

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย