เอกลักษณ์ทางดนตรีที่ลงตัว ในเพลงชุด “รูปสลักหินวีรบุรุษโบราณ”
ธันวาคม 7, 2020 2024-01-08 8:40เอกลักษณ์ทางดนตรีที่ลงตัว ในเพลงชุด “รูปสลักหินวีรบุรุษโบราณ”
“รูปสลักหินวีรบุรุษโบราณ” เป็นบทพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 9 ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีพระราชดำริและพระราชนิพนธ์บทขับร้องเพื่อประกอบการบรรเลงดนตรีไทยและดนตรีสากลในโอกาสฉลองครบรอบ 102 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ประจำปี 2562) โดยพระราชทานบทพระราชนิพนธ์ให้แก่ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปี 2557 นำมาบรรจุเพลงและประพันธ์ทำนองเพลงไทยเดิม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูวิทย์ ยุระยง จากภาควิชาดนตรีศึกษา ภาควิชาศิลปะดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ เรียบเรียงการบรรเลงดนตรีสากล
“สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชวโรกาสพระราชนิพนธ์เนื้อร้อง เนื่องในวันคล้ายสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและออกแสดงในวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี ซึ่งบทพระราชนิพนธ์จะเปลี่ยนแปลงไปตามหัวข้อของแต่ละปี โดยในปี 2562 บทพระราชนิพนธ์เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน จึงทำให้แนวดนตรีมีกลิ่นอายของชนชาติจีน นอกจากการบรรเลงด้วยดนตรีไทยกับดนตรีสากลแล้ว ก็จะมีวงดนตรีจีนเข้ามาผสมผสานด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูวิทย์ ยุระยง กล่าว
บทกลอนพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘รูปสลักหินวีรบุรุษโบราณ’ ถูกดัดแปลงมาจากงานเขียนของนักประพันธ์ชาวจีน นามว่า ‘เย่เซิงเถา’ ในปี พ.ศ. 2473 เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับประติมากรฝีมือดีคนหนึ่ง ได้รับมอบหมายจากกรมการเมืองให้เลือกก้อนหินสลักประติมากรรม ซึ่งเขาเลือกหินภูเขาก้อนหนึ่งสลักเป็นวีรบุรุษโบราณ โดยนำเศษหินที่เหลือมาทำเป็นฐานประติมากรรม จนวันเวลาล่วงผ่านเลยไป รูปสลักหินวีรบุรุษโบราณเป็นที่สักการะบูชาของชาวเมือง จึงหยิ่งผยองว่าตนเองนั้นยิ่งใหญ่และพูดจาดูถูกถากถางจนหินที่อยู่ด้านล่างฐานเกิดความน้อยใจ ต่อมาในคืนนั้นเอง อนุสาวรีย์ก็พังทลายลงกลายเป็นเศษหินและทั้งหมดจึงถูกแปรสภาพเป็นถนนให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ต่อไป หินที่เคยเป็นฐานจึงเกิดความพึงพอใจที่เกิดความเท่าเทียมกัน ส่วนประติมากรเกิดความเสียใจที่ผลงานชิ้นเอกของตนพังทลายจึงเลิกทำงานศิลปะตลอดชีวิต



ในด้านความท้าทายทางผลงานดนตรี คือการบรรเลงร่วมกันของดนตรีต่างแขนงโดยคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของเครื่องดนตรีไทย ดนตรีสากล และดนตรีจีน ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งให้บทเพลงมีทำนองจีนแบบดั้งเดิม ที่ไม่ใช่เพลงไทยสำเนียงจีนเพียงอย่างเดียว แต่ก็ไม่ใช่เพลงจีนแบบดั้งเดิมเสียทีเดียว จึงเป็นการรังสรรค์ผลงานขึ้นมาใหม่ที่ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาการด้านดนตรีตะวันตกเพิ่มมิติความเป็นสากลให้ดนตรีไทยในลักษณะ World Music Orchestra โดยเน้นการบรรเลงดนตรีไทยเป็นหลักและสนับสนุนด้วยดนตรีสากล เพิ่มกลิ่นอายจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยเครื่องดนตรีจีน จึงเพิ่มมิติการรับฟังให้นุ่มลึกและหลากหลายมากขึ้น รวมถึงรักษาคุณลักษณะบันไดเสียงตามหลักการทางดุริยางคศาสตร์ดนตรีไทยและหลักการเสียงของดนตรีสากล เกิดเป็นจุดร่วมที่ลงตัวและคงไว้ซึ่งลักษณะเฉพาะของดนตรีทั้ง 2 ระบบ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูวิทย์ กล่าวเสริมว่า “หลักการใหญ่คือการผสมผสานดนตรีไทยกับดนตรีสากล โดยไม่ไปเปลี่ยนลักษณะเฉพาะของแต่ละตัวเครื่องดนตรี เป็นเรื่องการเทียบเสียงมาตรฐานของดนตรีไทยและดนตรีสากล แต่มีโมเดลในการนำเสนอออกมาร่วมกันได้ ทำให้รูปแบบในการบรรเลงมีมิติมากยิ่งขึ้น มีความน่าสนใจมากขึ้น มีเครื่องดนตรีจีนเข้ามาผสมผสาน และพัฒนาการบรรเลงร่วมกันระหว่างดนตรีไทยและดนตรีสากลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตามหลักแล้ว ดนตรีไทยกับดนตรีสากลจะตั้งเสียงที่แตกต่างกัน แต่ที่ผ่านมาจะมีการตั้งเสียงตามกัน กล่าวคือ ดนตรีไทยตั้งเสียงเหมือนดนตรีสากล หรือ ดนตรีสากลตั้งเสียงเหมือนดนตรีไทยเพื่อให้เกิดความเข้ากัน แต่สำหรับกาลนี้ ได้น้อมนำพระราชดำริฯ ให้คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของดนตรีทั้ง 2 ระบบไว้ ฉะนั้นระบบการตั้งเสียงหรือการเทียบเสียงก็จะเป็นแบบเดิม ไม่มีการเปลี่ยน แต่จะแสวงหาตัวร่วมที่สามารถบรรเลงไปด้วยกันได้ หรือเกื้อหนุนไปด้วยกัน”
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจากนิตยสาร IS AM ARE ครอบครัวพอเพียงฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หน้า 42-43
ติดตามรับชมเพลงชุดรูปสลักหินวีรบุรุษโบราณได้ที่ Youtube: CU Art Culture

ผศ.ชูวิทย์ ยุระยง
ภาควิชาดนตรีศึกษา ภาควิชาศิลปะดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์