‘ไทยอารี’ สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ชราภาพแต่ไม่ใช่ภาระ
เมษายน 30, 2021 2024-01-08 10:03‘ไทยอารี’ สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ชราภาพแต่ไม่ใช่ภาระ
สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างก้าวกระโดด แต่การเตรียมความพร้อมรับมือด้านนโยบายเชิงรุกยังคงล่าช้าสวนทางความเปลี่ยนแปลง
“สังคมไทยเปลี่ยนเป็นสังคมสูงวัยเร็วมาก ๆ แต่ยังไม่มีระบบที่รองรับสังคมผู้สูงวัยและมีการพัฒนาที่ช้ามาก จุฬาฯ มีนโยบายให้นำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีผลกระทบต่อประเทศ เพื่อผลักดันให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างมีพลัง ไม่ใช่ภาระ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมตลอดช่วงชีวิต” ศ.ดร.วิพรรณ กล่าว
ที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้มีโครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมสูงวัย หรือเรียกโดยย่อว่า “จุฬาอารี” (Chulalongkorn University Platform for Ageing Research Innovation) ทำงานวิจัยปฏิบัติการเชิงรุกในเขตพื้นที่สังคมสูงวัยในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เพื่อพัฒนางานวิจัยไปสู่แผนนโยบายและนวัตกรรมทางสังคมในอนาคต ได้แก่ จัดหาระบบสร้างงานและการจัดการเงินของผู้สูงอายุ การพิทักษ์สิทธิ์ของผู้สูงอายุในทางกฎหมาย โมเดลแบบแปลนบ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งไฟฟ้าไฟฟ้าสำหรับบริการผู้สูงอายุ (ทดลองวิ่งบริเวณชุมชนทรัพย์สินใหม่ เขตวังทองหลาง) การทดลองใช้หุ่นยนต์ในการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ที่มีฟังก์ชั่นการตรวจวัดทางการแพทย์เบื้องต้น สามารถพูดคุยกับแพทย์ทางไกล แจ้งเตือนการทานยา ติดต่อทีมแพทย์และลูกหลานในกรณีฉุกเฉินได้ เป็นต้น



ก้าวสู่การวิจัยปีที่ 4 (2564) ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ต่อยอดโครงการ จุฬาอารี” เป็นโครงการ “ไทยอารี” (Thai ARI: Thai Platform for Ageing Research Innovation) มุ่งเน้นการบูรณาการภาควิชาการ ภาคนโยบาย และภาคปฏิบัติในทุกระดับ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยและดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุอย่างเป็นองค์รวม นำไปสู่การสูงอายุอย่างอยู่ดีมีสุข ขยายการวิจัยเป็น 4 ชุมชนเมือง ของ 4 จังหวัด ได้แก่ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และอำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี
“หลายคนเข้าใจว่าสังคมผู้สูงวัย คือสังคมของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วคือสังคมที่มีหลากหลายวัยมากขึ้น โดยที่วัยอื่น ๆ ต้องเปิดใจยอมรับด้วย เพราะฉะนั้น การที่เราทำความเข้าใจว่า “วันหนึ่งฉันก็ต้องเป็นผู้สูงอายุ” เป็นการสร้างความตระหนักรู้และการเตรียมตัว รวมถึงการระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย เช่น เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน มหาวิทยาลัยร่วมมือกันทำงานวิจัยโดยพัฒนาร่วมกับภูมิปัญญาชุมชน”



โครงการ ‘ไทยอารี’ เป็นผลิตผลจากการต่อยอดการวิจัยเชิงปฏิบัติการ และการขยายผลต้นแบบระบบรองรับสังคมสูงวัยในเมืองมหานคร เพื่อระดมพลังสถาบันการศึกษา ชุมชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไปสู่ชุมชนเมืองอื่นของประเทศ ให้เป็นชุมชนที่สร้างเสริมพลังของผู้สูงอายุและน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย โดยมีแผนพัฒนาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคต ได้แก่
- ด้านฐานข้อมูล Data-driven Policy ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ รองรับสังคมสูงวัยระดับท้องถิ่น
- ด้านสุขภาพและบริการทางการแพทย์ ส่งเสริมให้เกิดการป้องกัน ดูแล และการฟื้นฟูสุขภาพในระดับชุมชนและครัวเรือน หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพ เพื่อติดต่อบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
- ด้านเศรษฐกิจและสังคม ผลักดันมาตรการที่เหมาะสม เพิ่มโอกาสใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรมการบริการและผลิตภัณฑ์รองรับสังคมสูงวัย หรือเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน โดยใช้หลักการ ‘Universal Design’ ออกแบบให้เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุและผู้คนทุกช่วงวัย ในเขตเมืองของภูมิภาคต่าง ๆ
- ด้านการศึกษา เพื่อให้สังคมไทยตระหนักและเตรียมการรองรับนวัตกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (Life Long Learning)
หลักสำคัญของโครงการนี้ คือ การตระหนักรู้และเตรียมตัวให้พร้อมสู่สังคมสูงวัย และยุทธศาสตร์นโยบายที่ส่งเสริมและรองรับเป็นแบบแผนที่พัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต โดยที่คนทุกวัยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของพื้นที่

การสูงวัยในอนาคตไม่ใช่วัยพึ่งพิงลูกหลานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นวัยที่พึ่งพาตนเองได้ มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะตามทันเทคโนโลยี เป็นแหล่งความรู้จากผู้มีประสบการณ์จริงในอดีตให้กับกลุ่มคนรุ่นหลัง และเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของประเทศที่แม้จะเกษียณแล้ว แต่ก็พร้อมสนับสนุนประเทศไปกับวัยหนุ่มสาว ช่วยให้วัยเกษียณมีพลังใจและนึกถึงคุณค่าในตัวเอง ว่า “ฉันคือพลเมืองสูงวัย แค่ชราภาพ…แต่ไม่ใช่ภาระ”
*อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Chula Ari โครงการเพื่อคนสูงวัย ใส่ใจถึงวัยทำงาน ได้ที่ https://www.research.chula.ac.th/th/news/6918/
**อ่าน จุฬาฯ ลงนามความร่วมมือ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ได้ที่ https://www.research.chula.ac.th/th/news/11879/