บทความ

Creative Weaving Craft Kit เรียนงานศิลป์ง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้

Cover

Creative Weaving Craft Kit เรียนงานศิลป์ง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้

“เครื่องจักสาน” เป็นเครื่องใช้ประเภทขัด-สานจากวัสดุอุปกรณ์ธรรมชาติ ที่ถูกผลิตเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ทั้งตะกร้า กระบุง เครื่องดักจับสัตว์ และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันสอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตใหม่ ในสไตล์ “เรียบแต่โก้” ให้ความรู้สึกอบอุ่น คุมโทน เรียบง่าย จึงไม่แปลก! ที่ร้านคาเฟ่สายมินิมอลในปัจจุบันจะเลือกนำเครื่องจักสานไปเป็นของประดับตกแต่งภายในร้าน เพื่อเสริมสร้างความเรียบง่ายให้มีสไตล์ พร้อมผ่อนคลายจากความวุ่นวายในเมืองกรุง

แม้ลวดลายจะเรียบง่าย แต่กว่าจะได้ผลงานแต่ละชิ้นกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยทักษะฝีมือและความชำนาญในการผลิต รวมถึงความอดทนและสมาธิในการจดจำเส้นสานต่าง ๆ ให้สลับหว่างอย่างถูกต้อง เพื่อลวดลายที่สวยงามเป็นมาตรฐาน

กลับกัน…เมื่อนำงานสานมาใช้ในห้องเรียน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและสมาธิ เกิดเป็นปัญหาขนาดย่อมในห้องเรียน ผู้เรียนที่ยังไม่มีทักษะขาดแรงบันดาลใจในการสานงานต่อ ทำให้ไม่เกิดชิ้นงานที่สมบูรณ์และล้มเลิกความตั้งใจไปเสียก่อน

“ปัญหาที่เจอสำหรับเราที่เป็นครูศิลปะในหัวข้องานจักสานพบว่า คนที่ทำไม่เป็นเลยก็จะไม่ทำต่อ เพราะรู้สึกว่ามันยาก แม้ว่าลายสานจะง่ายมากและเหมาะกับผู้เรียนในขั้นเบื้องต้นแล้วก็ตาม แต่เราลืมไปว่า เวลาเราไปเจอวิชายาก ๆ เราเองก็ไม่อยากทำหรือไม่อยากเข้าใจเหมือนกัน ผมและอาจารย์ที่ปรึกษาเลยคิดว่าจะทำยังไงให้คนที่ทำไม่เป็นเลย สามารถทำงานฝีมือสำเร็จได้ในครั้งแรก คือทำชิ้นงานที่สวยงามได้เลย เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจ มีกำลังใจในการเรียนต่อไปได้” นายสุชาติ อิ่มสำราญ นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แก้ไขปัญหาด้วย ชุดกิจกรรม “สานสร้างสรรค์” อุปกรณ์เรียนรู้การจักสานอย่างง่ายด้วยตัวเลข กู้สถานการณ์ในห้องเรียนให้กลับมาสนุกอีกครั้ง จุดไอเดียสานต่อ ขยายสู่การต่อยอดประยุกต์ใช้เป็นผลงานสร้างสรรค์ได้อย่างไม่มีสะดุด

“ระบบการสานด้วยตัวเลข เป็นความรู้จากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการสานด้วยตัวเลขต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างยาก เราจึงประยุกต์ใช้ตัวเลขมากำกับการยกขึ้น-ยกลงของเส้นยืนเพื่อสอดเส้นนอนให้ออกมาเป็นลวดลายตามแบบมาตรฐาน โดยต้นแบบแรกที่คิดค้นคือเครื่องสานกระดาษโดยใช้การกด แต่ปรากฏว่าเครื่องสานกระดาษใช้เวลาการผลิตอุปกรณ์นานและใช้ต้นทุนสูง จึงทำการปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับการสอนนักเรียน ซึ่งงบประมาณจะต้องไม่สูงมาก จึงเกิดเป็นตัวต้นแบบที่ 2 นำเอาตัวเลขที่อยู่ในเครื่องมาใส่ลงบนกระดาษเส้นยืนเลย ซึ่งสามารถผลิตซ้ำได้ในเวลาอันรวดเร็ว ประหยัดต้นทุน พกพาสะดวก เราสามารถส่งชุดอุปกรณ์และจัดเรียนออนไลน์ให้เด็กทำได้จากที่บ้าน รวมไปถึงวัสดุสามารถกำหนดเองได้ทั้งกระดาษและความหนาของกระดาษ”

การสานช่วยเพิ่มสมาธิและช่วยทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของตัวเลข นอกจากนี้ยังสามารถขยายผลไปยังกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อฝึกการใช้กล้ามเนื้อ หรือเป็นกิจกรรม “ฮิลใจ” ของผู้คนในช่วงกักตัวอยู่แต่ในบ้านเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น งานสานจึงเข้ามาช่วยบำบัดความเครียดในยุคที่กิจกรรมทุกอย่างถูกจำกัดพื้นที่

นายสุชาติกล่าวต่อไปว่า“เราต้องการทำให้เป็น activity for all คือเป็นกิจกรรมสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยชรา หรือลืมแม้กระทั่งผู้พิการ” แผนพัฒนาต่อยอดชิ้นถัดไป จะแบ่งปันความสนุกในไปถึงผู้พิการทางสายตา ด้วยการพัฒนาเครื่องยกกระดาษที่ตีตัวเลขเป็นอักษรเบล เพื่อเพิ่มพื้นที่การสัมผัสและสร้างความมั่นใจให้ผู้พิการทางสายตา สามารถสานลายที่สวยงามได้แม้ตาจะมองไม่เห็น

“นอกจากกิจกรรมสำหรับการเรียนการสอนแล้ว ยังต่อยอดเป็นเชิงพาณิชย์ได้ เป็นชุดกระบวนการวิธีสานหรือขายชุดสำหรับการทำกิจกรรมทั้งกระบวนการ เรามองว่าระบบตัวเลขไม่จำเป็นต้องปริ้นในกระดาษเพียงอย่างเดียวก็ได้ อาจจะเป็นหนัง หรือ PVC ตามความต้องการของลูกค้าที่ต้องการพื้นผิววัสดุแปลกใหม่ สามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกทาง ซึ่งเราก็ได้จดสิทธิบัตรการออกแบบเอาไว้เรียบร้อยแล้ว” นายสุชาติกล่าว

วิธีการใช้อุปกรณ์สานกระดาษแบบปุ่มกด https://www.youtube.com/watch?v=HsDViv-9hwE

นายสุชาติ อิ่มสำราญ

นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษา: ผศ.ดร.โสมฉาย บุญญานันต์