ข่าวสาร

เสวนา: ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมสู่วิสาหกิจใต้ร่มจุฬาฯ

สตรีม-VDO1

เสวนา: ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมสู่วิสาหกิจใต้ร่มจุฬาฯ

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 CU SiHub จัดเสวนา: ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมสู่วิสาหกิจใต้ร่มจุฬาฯ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการพัฒนาศักยภาพและการส่งเสริมทักษะการประกอบการและนวัตกรรมทางสังคมให้แก่ กลุ่มคณาจารย์และนักวิจัย ผ่านการประชุม Zoom meeting

ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย เป็นประธานกล่าวเปิดเสวนา โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดี อาจารย์ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ รองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส และอดีตผู้อำนวยการ CUD4S ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ จากคณะอักษรศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา พรมพันธุ์ จากคณะครุศาสตร์ เป็นวิทยากรร่วมบรรยาย

สำนักบริหารวิจัย เห็นถึงความสำคัญของการบ่มเพาะคณาจารย์และนักวิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์และความรู้ความสามารถด้านการประกอบการสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมทางสังคม (SOCIAL INNOVATION) และหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (SOCIAL ENTERPRISE) ตามเงื่อนไขความพร้อมและบริบทที่เหมาะสมต่อไปในอนาคตและสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ อย่างยั่งยืน อีกทั้งการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านการพัฒนาต้นแบบเพื่อการทดลอง (PROTOTYPING) การพัฒนา โมเดลทางธุรกิจเพื่อสังคมและแผนธุรกิจเพื่อสังคม และการนำเสนอแผนดังกล่าวสู่กลุ่มเป้าหมายเชิง ยุทธศาสตร์ที่มีความสนใจ โดยมุ่งหวังว่ากลุ่มคณาจารย์หรือนักวิจัยจะเกิดความพร้อมสู่การตัดสินใจดำเนินการ ในรูปแบบ SOCIAL ENTERPRISE โดยสามารถสร้างต้นแบบเพื่อการทดลอง และแผนธุรกิจทางสังคม

บทเรียนระหว่างเสวนากล่าวถึงความเป็นไปได้ของการนำงานวิจัยสู่การประกอบการทางสังคม โดยกลไกของการทำ Social Enterprise มี 3 หลักการ ได้แก่ การสร้างกำไรแบบมีวัตถุประสงค์ทางสังคม (Profit with purpose) การทำงานด้านสังคมแบบมีผลกำไร (Not-for-profit) และการทำงานด้านสังคมแบบไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit) โดยใช้กลไกการตลาดในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้นำออกไปใช้ได้จริงในสังคม สามารถควบคุมราคาให้ถูกลงและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งการใช้กลไกทางธุรกิจจะเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคม แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Social Innovation Hub) จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่อาจารย์และนักวิจัยในจุฬาฯ สามารถเข้าใจกระบวนการทำ Social Enterprise และผลักดันนวัตกรรมการวิจัยให้สามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ