บทความ

“History of Art…การเดินทางของศิลปะ” ประวัติศาสตร์ศิลป์สนุก เพื่อประถมศึกษาตอนปลาย

Cover

“History of Art…การเดินทางของศิลปะ” ประวัติศาสตร์ศิลป์สนุก เพื่อประถมศึกษาตอนปลาย

ขึ้นชื่อว่าประวัติศาสตร์ใคร ๆ ก็สายหน้าหนี เพราะต้องแบกตำราเป็นปึก! และยิ่งเป็นประวัติศาสตร์ศิลป์ด้วยแล้ว ถือว่าเป็นยาขมของวิชาศิลปะ กว่าจะได้เริ่มเรียนทักษะวาดรูป ก็หัวหมุนไปกับการท่องจำชื่อคนที่ยาวเป็นกิโลฯ

ปัญหาเรื่องการเรียนประวัติศาสตร์ในวิชาศิลปะจะหมดไป เมื่อได้พบกับ ‘History of Art…การเดินทางของศิลปะ’ แบบเรียนยุคใหม่ อ่านยังไงก็เพลิน จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมการสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ระดับประถมศึกษาตอนปลาย: History of Art…การเดินทางของศิลปะ” โดย นางสาวสุภิญญา สมทา นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“แนวคิดเกิดมาจากปัญหาของตัวเองที่เป็นครู ไม่มีหนังสือที่ได้รับการปรับปรุงเหมือนวิชาอื่น ๆ เด็กต้องเรียนตามใจของผู้สอน ไม่มีการสอนที่เป็นรูปธรรม จึงคิดว่าอยากจะทำหนังสือศิลปะขึ้นมาสัก 1 เล่ม เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และเปิดประสบการณ์ให้เด็กมีความรู้ศิลปะที่หลากหลายเพื่อจะได้นำไปใช้ต่อในอนาคต”

ประเทศไทยได้นำหลักการเรียนที่เรียกว่า ‘DBAE’ (พหุศิลปศึกษาเชิงแบบแผน  (Discipline-based Art Education) ได้แก่ ศิลปะปฏิบัติ ศิลปวิจารณ์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และสุนทรียศาสตร์มาใช้ในการสอน แต่ส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับอุดมศึกษา สำหรับเด็กประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะเน้นศิลปะปฏิบัติเป็นหลัก อีกทั้งความน่าสนใจของหนังสือประวัติศาสตร์ศิลป์ในต่างประเทศ จึงนำมาประยุกต์ใช้กับเด็กช่วงประถมศึกษาตอนปลายในประเทศไทย เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ทางศิลปะที่หลากหลาย จุดประกายไอเดียและแนวคิดที่อยากทำงานด้านศิลปะต่อไปในอนาคต ด้วยการเรียนรู้บนพื้นฐานของความสนุก

“เราเอาประวัติศาสตร์ศิลปะสอนเด็กได้นะ น่าสนใจดี แต่ว่าจะทำยังไงล่ะ? ที่จะเอามาสอนให้สนุก โดยเฉพาะเด็กประถมศึกษาด้วยแล้ว อย่างที่ทุกคนทราบกันดี ว่าประวัติศาสตร์เป็นข้อมูลที่ยาวและก็น่าเบื่อมาก แม้แต่การเรียนในอุดมศึกษาก็เป็นการเรียนแบบบรรยาย เราจึงลองหาสื่อการเรียนรู้และวิธีการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ทำออกมาเป็นชุดการเรียนรู้โดยสามารถตอบสนองวิธีการเรียนรู้ของเด็กที่แตกต่างกันได้”

 นอกจากการพัฒนาหนังสือเรียนในวิชาศิลปะแล้ว ยังมีสื่อการเรียนการสอนอื่น ๆ ที่เหมาะกับความสนใจของเด็กในช่วงประถมวัย เช่น E-book ที่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ในยุคโควิด-19 หมดห่วงเรื่องการเตรียมเอกสารประกอบการเรียน หรือการเรียนรู้ผ่านคลิปวีดีโอ เหมาะสำหรับเด็กนักเรียนที่ชอบดูหรือฟังเพียงอย่างเดียว หรือคนที่ชอบลงมือปฏิบัติก็สามารถทำกิจกรรมศิลปะตามแรงบันดาลใจของแต่ละยุคสมัยในหนังสือเรียนได้ ส่วนคนที่ชอบเล่นเกมส์ก็มีเกมส์การ์ด เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ได้เล่นกับเพื่อนและคุณครูในห้องเรียน โดยทุกสื่อการสอนผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านทางคู่มือหรือข้อแนะนำในหนังสือ

“ในอนาคตก็มีอยู่ อย่าง ที่อยากต่อยอดค่ะ อย่างแรกก็คือ ‘การรวมชุดการเรียนรู้’ ซึ่งประวัติศาสตร์ศิลป์ทั่วโลกมีหลายภูมิภาคมาก อาจจะเป็นชุดที่เจาะลึกลงไปในแต่ละประเทศ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น คล้ายกับหนังสือประวัติศาสตร์ศิลป์ที่มีอยู่แล้ว แต่ว่าทุกวันนี้ที่มีอยู่เป็นตัวหนังสือหมดเลย เอามาใช้กับเด็กไม่ได้เลย เราจึงเอามาแปลงให้มันเป็นกิจกรรม หนังสือภาพ หรือคลิปที่เขาสามารถเรียนรู้ได้ตามความสนใจ”

“อย่างที่ 2 ที่อยากต่อยอดพัฒนา คือ ‘บอร์ดเกมส์’ เป็นกาเรียนผ่านการเล่น ซึ่งเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือคุณครู คิดว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะลองเอามาทำเป็นบอร์ดเกมส์ให้มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เขานำไปเล่นได้จริง” นางสาวสุภิญญา กล่าว

E-book: http://online.anyflip.com/ggdlh/veei/mobile/index.html

นางสาวสุภิญญา สมทา

นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษา: ผศ.ดร.อินทิรา พรมพันธุ์