บทความ

ศิลปะที่มองไม่เห็น…ของเด็กประถมที่บกพร่องทางการเห็น

cover

ศิลปะที่มองไม่เห็น…ของเด็กประถมที่บกพร่องทางการเห็น

ศิลปะ…เป็นเรื่องของนามธรรมและความอิสระ ศิลปะ…ไม่เคยตัดสินผู้ชมว่าใครมีสิทธิ์จะชื่นชมหรือไม่สมควร ต่อให้อยู่ในโลกที่เลือนรางหรือมืดบอด ศิลปะก็สามารถเข้าถึงและกล่อมเกลาจิตใจให้เราเป็นหนึ่งเดียวและสามารถแชร์ความรู้สึกซึ่งกันและกันได้

นางสาวจิราพร พนมสวย นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำศิลปะเข้ามาสร้างความสนุกให้กับโลกของเด็กพิการทางสายตาที่มีระดับการมองเห็นเลือนรางไปจนถึงตาบอดสนิท รวบรวมเป็นงานวิจัย “กิจกรรมศิลปะเพื่อสร้างประสบการณ์สุนทรียะสำหรับเด็กประถมศึกษาที่บกพร่องทางการเห็น” โดยกล่าวว่า “เราพัฒนาในเรื่องของประสบการณ์สุนทรียะสำหรับกลุ่มเด็กตาบอด ซึ่งปกติแล้วเขาจะไม่ใช้สายตาในการมองอย่างคนปกติ แต่ว่าเขาจะใช้ประสาทสัมผัสที่เหลืออยู่ อย่างเช่น การฟังเสียง การสัมผัส การดมกลิ่น ในเคสของห้องเรียนปกติในโรงเรียนเด็กตาบอดจะมีระดับการมองเห็นที่หลากหลายอยู่ด้วยกันในห้องเดียวกันค่ะ”

ศิลปะแบบ ‘MATA’

จากการสำรวจผ่านการสัมภาษณ์ผู้สอนกลุ่มเด็กบกพร่องทางสายตาพบว่า ประสบการณ์สุนทรียภาพในศิลปะของชั้นเรียนเด็กตาบอดจะไม่ได้เน้นในเรื่องนี้โดยเฉพาะ จากการศึกษาวิจัยชี้ว่าศิลปะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็ก จึงเกิดแรงบันดาลใจในการนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อกระตุ้นสุนทรียะของเด็กตาบอดไปพร้อมกับการเรียนรู้ กลายเป็นหลักการพัฒนากิจกรรมศิลปะที่เรียกกันว่า ‘MATA’ โดยคุณครูศิลปะหรือนักวิจัยสามารถนำไปต่อยอดเพื่อออกแบบกิจกรรมที่ใช้ได้จริงในห้องเรียน ประกอบด้วย 4 แนวทาง  ได้แก่

  1. พหุประสาทสัมผัส (Multiple Sensories)
    เน้นการกระตุ้นประสาทสัมผัสโดยใช้การสัมผัส การฟังเสียง การดมกลิ่นที่เหลืออยู่ในกรณีที่เด็กมีระดับการมองเห็นเลือนราง
  2. วิธีการสอนเชิงสุนทรียะ (Aesthetical Teaching) อยู่ในช่วงวัย 6-12 ปี เน้นความสนุกสนาน เปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็นต่องานศิลปะหรือสิ่งที่อยู่ในกิจกรรม การสอนเรื่องความเหมือนจริงโดยการพาไปสัมผัสสถานที่จริง รับประสบการณ์ตรงผ่านการทำจริง หรือว่าเปรียบเทียบกับของจริง สอนเรื่องเทคนิคของศิลปินที่จะสอดแทรกเข้าไปในในความเป็นศิลปะ 
  3. การเลือกใช้สื่อและวัสดุอุปกรณ์ที่มีพื้นผิว (Tactile Media) กระตุ้นประสาทสัมผัสอื่น ๆ  การใช้อุปกรณ์ที่สามารถสัมผัสได้ อย่างเช่น ดินน้ำมันหรือว่าสื่อภาพนูนที่มีความนูนขึ้นมาให้เด็กสามารถสัมผัสได้หรือใช้ดนตรีในการกระตุ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีอุปกรณ์รวมกันไม่เกิน 10 ชิ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสับสนเนื่องจากอุปกรณ์มีมากเกินไป
  4. การวัดและประเมินผล (Assessment) ประเมินผลจากการสังเกต สอบถามเด็กขณะทำกิจกรรมตลอดเวลา

ศิลปินที่มองไม่เห็น กับ ศิลปะที่จับต้องได้

ในช่วงที่ 2 ของการวิเคราะห์รูปแบบการเรียนรู้ด้วยศิลปะ สู่การแปลงผลเป็นกิจกรรมศิลปะแสนสนุก โดยสามารถแตกกลุ่มกิจกรรมได้ทั้งหมด 4 กิจกรรม ได้แก่

  1. กิจกรรมละเลงศิลปะบนผนังถ้ำ นำเด็กๆ ไปสู่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบว่ามนุษย์มีการสร้างสรรค์ผลงานกันมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มีการจำลองบทบาทสมมุติให้เด็กลอดใต้ผนังถ้ำ ซึ่งเป็นโต๊ะเรียนที่ใช้จำลองความแคบของถ้ำ ปลายทางเป็นผนังถ้ำจำลองที่ทำมาจากกระดาษขยำที่มีความขรุขระคล้ายถ้ำจริง เพื่อให้เด็กใช้ประสาทสัมผัส และฟังเสียงที่ครูคอยบรรยายตลอดกิจกรรม สอดแทรกการเล่าเรื่องว่าศิลปินสมัยนั้นเขาใช้เทคนิคอะไรในการสร้างผลงาน และพาเด็ก ๆ ทำสเตนซิลฝ่ามือของตัวเอง โดยการเอามือตัวเองเป็นแม่พิมพ์ ฝึกการดีดสี จุ่มสี ทารอบฝ่ามือ ซึ่งเด็กที่ตาบอดสนิทและตาบอดเลือนรางจะมีการช่วยเหลือกันระหว่างทำกิจกรรมเป็นผลงานกลุ่ม ปิดท้ายด้วยการล้อมวงเล่าเรื่องราวของถ้ำที่ได้สร้างสรรค์ร่วมกัน
  2. กิจกรรมนิทานใบไม้ เป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนโดยการพาเด็กๆ ไปที่สวนพฤษศาสตร์เพื่อสำรวจใบไม้ กิ่งไม้ที่มีอยู่ในโรงเรียน เก็บมาสร้างสรรค์เป็นตัวละครนิทานใบไม้ ให้เด็กอธิบายคาเรคเตอร์ กล่าวถึงลักษณะ นิสัยของตัวละคร แลกเปลี่ยนกันสัมผัสและชื่นชมความงามผลงานของตนเองและของเพื่อน นำมาร้อยเรียงเป็นนิทานเรื่องเดียวกัน กระตุ้นการรับฟัง การมีส่วนร่วม และการยอมรับในสังคม
  3. กิจกรรมเขียนเส้นเล่นอารมณ์ เรียนรู้เทคนิคการใช้เส้น ทั้งเส้นตรง เส้นหยัก ฯลฯ ใช้สื่อภาพนูนโดยการใช้เส้นแปะลงบนกระดาษและอธิบายลักษณะเส้นต่าง ๆ ว่าให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างไร จากนั้นให้นักเรียนฟังดนตรีที่ไม่มีเนื้อร้อง เพื่อให้เขาแสดงความรู้สึกออกมาโดยการเขียนเส้น ซึ่งอุปกรณ์ไม่จำกัดว่าจะเป็นสีเทียน สีไม้ หรืออุปกรณ์สำหรับคนตาบอด เช่น เซ็ตอุปกรณ์เล่นเส้น กระดาน มุ้งลวด อุปกรณ์อื่นๆ ที่เด็กสามารถเลือกใช้ได้อย่างอิสระ ที่มีพื้นผิวหลากหลายให้เด็กได้สัมผัส
  4. สร้างสรรค์ใบหน้าสไตล์ปิกัสโซ ศิลปินระดับโลกที่โด่งดังในลัทธิคิวบิสม์ (Cubism Art หรือ บาศกนิยม) แต่ถ้าจะสอนเด็กตาบอดในเรื่องของศิลปิน เราจะต้องแปลงเป็นสื่อภาพนูน เช่น การปั้นด้วยดินน้ำมันสร้างความนูนขึ้นมา และให้สัมผัสส่วนที่แตกต่างกันบนใบหน้า โดยอธิบายว่าส่วนจมูกลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งผลงานของปิกัสโซจะโดดเด่นในเรื่องของการตัดทอนและมีรูปทรงเป็นเรขาคณิต เป็นเหลี่ยม เป็นวงกลม เด็ก ๆ สามารถสัมผัสและเทียบเคียงกับใบหน้าตัวเอง สอนปั้นอวัยวะทีละชิ้นไปพร้อมกัน โดยที่เด็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องปั้นเหมือนคุณครู สามารถสร้างสรรค์ได้โดยเป็นสไตล์ของตัวเอง แลกเปลี่ยนกันสัมผัส และนำเสนอผลงาน

ชุดเสริมสร้างการเรียนรู้ศิลปะสำหรับเด็กตาบอด

นางสาวจิราพร กล่าวถึง การเรียนออนไลน์ของเด็กตาบอดในยุคโควิด-19 ที่ต้องมีการลดทอนอุปกรณ์การเรียนรู้ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสามารถหาได้ง่ายภายในบ้าน และต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองในการเป็นครูพี่เลี้ยงเพื่อช่วยเด็ก ๆ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกันได้ กลายเป็นช่วงเวลาสร้างสรรค์ร่วมกับครอบครัวในยุคที่ต้องห่างไกลเพื่อนและโรงเรียน ช่วยบรรเทาความเครียดในระหว่างกักตัวภายในที่พักอาศัยได้

นอกจากนี้ นางสาวจิราพร ยังกล่าวถึงแผนการต่อยอดในอนาคตว่า “สามารถนำไปพัฒนาเป็นเซ็ตกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการในอนาคต ผู้วิจัยหรือผู้ที่สนใจสามารถพัฒนาเป็นอุปกรณ์เสริมสร้างทักษะต่าง ๆ เช่น ทักษะทางศิลปะ ทักษะทางอารมณ์ ให้เด็ก ๆ ได้ไปถึงศักยภาพที่สมวัยของเขา สำหรับเด็กที่เรียน Home School ก็สามารถมีชุด Kit กิจกรรมที่เรียนรู้ได้ที่บ้านในราคาที่ไม่แพง ซึ่งเด็กตาบอดมีศักยภาพในตัวเองอยู่แล้ว สามารถเลือกทำหรือพัฒนาอะไรได้หลายอย่างมาก เราควรสนับสนุนในความสามารถของเขา มากกว่าปล่อยให้เลือนรางไปพร้อมกับสายตาของเขา”

นางสาวจิราพร พนมสวย

นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษา: ผศ.ดร.อินทิรา พรมพันธุ์ และ อาจารย์ ดร.สริตา เจือศรีกุล