บทความ

ชุดกิจกรรม “Mediclaytion” สร้างงานปั้นด้วยสมาธิและดินเหนียว

Cover

ชุดกิจกรรม “Mediclaytion” สร้างงานปั้นด้วยสมาธิและดินเหนียว

ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีระยะเวลาแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี ส่งผลให้การทำกิจกรรมนอกบ้านถูกปรับเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง เช่น การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แฟชั่นขวดสเปรย์และเจลแอลกอฮอล์ การ Work from home รวมไปถึงการเรียนออนไลน์

สำหรับเด็กเล็กในระดับอนุบาลไปจนถึงระดับประถมศึกษา ได้รับผลกระทบจากการถูกจำกัดพื้นที่ ในขณะที่ควรจะวิ่งเล่นและทำกิจกรรมสนุกๆ กับเพื่อนและครอบครัว แต่กลับต้องเรียนออนไลน์อยู่หน้าจอ ทำให้เด็กๆ ส่วนใหญ่เริ่มมีแนวโน้มที่จะ “มีสมาธิในการเรียนรู้ลดน้อยลง” และ “มีความเครียดสะสม” สูงขึ้น

“เด็กปฐมวัย ‘สมาธิ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ของเขา เด็กในวัยนี้จะมีความสนใจค่อนข้างสั้น เราจึงมีแนวคิดที่จะหากิจกรรมเพื่อให้เขามีสมาธิจดจ่อและลดความตึงเครียดระหว่างเรียนออนไลน์ เราจึงนำเอาศิลปะบำบัดเข้ามาพัฒนาร่วมไปกับการเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ โดยนำแนวคิดในเรื่องของมันดาลา ศิลปะจากทิเบต ซึ่งเน้นความสมดุลมาใช้กับการจัดกิจกรรมศิลปะในเรื่องของการปั้น”

นางสาวณัฐณิชา มณีพฤกษ์ นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นคว้าวิจัยผ่าน “ชุดกิจกรรมการปั้นเพื่อเสริมสร้างสมาธิสำหรับ เด็กอายุ 5-7 ปี หัวข้อ Mediclaytion” โดยกิจกรรมจะแบ่งการปั้นออกเป็น 3 ภารกิจ โดยแต่ละภารกิจจะเริ่มจากง่ายไปยาก จากการปั้นรูปทรงง่ายๆ และเพิ่มรายละเอียดที่ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะและการใช้กล้ามเนื้อมือมัดเล็ก ซึ่งมีอุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติมเป็นลูกปัดและกระดุม ใช้หลักการตกแต่งตามกฎของมันดาลา โดยเริ่มจากศูนย์กลางของวงกลมออกไปสู่รอบนอก

มันดาลา* หรือ แมนดาลา (Mandala) เป็นศิลปะที่เริ่มต้นมาจากศาสนาพุทธนิกายวัชรยานในทางทิเบต โดยมีความหมายว่า ‘แก่นกลาง’ หรือ ‘ล้อมรอบจุดศูนย์กลาง’ การสร้างมันดาลาในทางทิเบตจะใช้เม็ดทรายย้อมสี วาดเป็นรูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ เช่น วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และค่อยๆ ขยายเพิ่มรายละเอียดของภาพออกจากจุดศูนย์กลาง ซึ่งระหว่างทำกิจกรรมจะต้องใช้สมาธิจดจ่อในการสร้างผลงาน

เนื่องจากระหว่างทำจะต้องใช้สมาธิและจิตใจที่แน่วแน่อยู่ตลอดเวลา ต้องใช้ทั้งความอดทนและฝีมือ พระลามะทางทิเบตจึงท่องบทสวดมนต์เจริญภาวนาและแผ่เมตตาเพื่อทำสมาธิในระหว่างการสร้างมันดาลา และในท้ายที่สุดมันดาลาจะถูกทำลายกลับเป็นกองทรายธรรมดา ซึ่งแฝงไปด้วยคติธรรมเตือนสติถึงความไม่จีรังยังยืนของชีวิต รวมไปถึง “การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป”

“เราก็เลยนำเอาศิลปะทิเบตตรงนั้นเข้ามาใช้กับการปั้นของเด็ก จากการศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมทางศิลปะพบว่า การปั้นเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สามารถเสริมสร้างสมาธิให้กับเด็ก รวมถึงสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกายในเรื่องของการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้”

“กิจกรรมนี้จะเป็นในลักษณะของการบูรณาการ นอกจากทักษะด้านศิลปะแล้ว ยังมีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ที่เรานำเรื่องโลกและอวกาศ ซึ่งเกี่ยวกับดวงดาวมาใช้เป็นสื่อการสอน ทักษะด้านคณิตศาสตร์เกี่ยวกับรูปทรงเรขาคณิต และทักษะด้านภาษาที่จะมีคำศัพท์ภาษาอังกฤษให้ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยผู้ปกครองสามารถสแกน QR Code เข้าไปดูคลิปคู่มือในการเรียนรู้แบบออนไลน์ได้”

ชุดกิจกรรม Mediclaytion ทำการศึกษาค้นคว้าและทดลองเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับพัฒนาของเด็กในวัย 5-7 ปี โดยมีการทดลองวัสดุที่เหมาะสมแก่การปั้น 3 ประเภท ได้แก่ แป้งโดว์ ดินเหนียว และดินน้ำมัน ซึ่งพบว่า ดินเหนียว มีความเหมาะสมต่อการปั้นขึ้นรูปมากที่สุด รวมถึงลักษณะของผิวสัมผัสและความปลอดภัยจากสารพิษ

นอกจากสมาธิและทักษะอื่นๆ ที่ได้จากการเรียนรู้ในระหว่างการปั้นแล้ว ศิลปะในการปั้นแบบมันดาลาก็ยังช่วยพัฒนาด้านสภาพจิตใจให้กับเด็กๆ ในช่วงระหว่างเรียนออนไลน์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นเครื่องมือช่วยสังเกตและสำรวจพฤติกรรมของเด็กในระหว่างทำกิจกรรมได้อีกด้วย

นางสาวณัฐณิชา กล่าวถึงการพัฒนาชุดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ จากปรัชญาทางศาสนาสู่การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยว่า “กิจกรรม Mediclaytion จะเป็นเรื่องของการปั้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งในอนาคตจะมีการต่อยอดการเรียนรู้ในเรื่องของมันดาลา ผ่านการทำกิจกรรมศิลปะที่หลากหลาย เช่น การวาดรูประบายสี การเล่นทราย หรือเสริมทักษะอื่นๆ ให้เด็กได้ฝึกฝนสมาธิ พร้อมทั้งมีความเพลิดเพลินและได้ความรู้ควบคู่กัน”


ติดตามสื่อแนะนำได้ที่  https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=U69CuNmtHfc&feature=youtu.be

ข้อมูลอ้างอิง *ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล. (2558). ศิลปะทิเบต. กรุงเทพ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 391-397.

นางสาวณัฐณิชา มณีพฤกษ์

นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา พรมพันธุ์