บทความ

MTB Strip ชุดตรวจวัณโรคแบบอ่านผลด้วยตาเปล่า

Cover

MTB Strip ชุดตรวจวัณโรคแบบอ่านผลด้วยตาเปล่า

นอกจากโรคโควิด19 ที่ “ไม่ตรวจ=ไม่เจอ” ก็ยังมีวัณโรคที่มีคอนเซ็ปท์คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ เมื่อติดโรคแล้วบางรายไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อยจนกว่าจะพบว่าไอปนเลือด เป็นไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งวัณโรคสามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้ด้วยการไอจามหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่แออัดร่วมกัน ในอากาศที่ไม่ถ่ายเท จากรายงานวัณโรคของโลกปี พ.ศ.2563 โดยองค์การอนามัยโลก พบว่า ประเทศไทย ติดอันดับ 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงขององค์การอนามัยโลก คิดเป็น 21% ของจำนวนผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด

“วัณโรค” โรคที่ต้องหาให้เจอด้วยตาเปล่า

“วัณโรคถือว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของประเทศไทย เป็นโรคติดเชื้อที่เจอมากในคนไทยและระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว การตรวจวัณโรคจึงมีความสำคัญอย่างมาก”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทคนิคการแพทย์หญิงปาหนัน รัฐวงศ์จิรกุล ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยปัญหาข้อจำกัดในการตรวจโรคของโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ทำให้วัณโรคยังคงเป็นโรคอันตรายในพื้นที่ห่างไกลและตามเขตชายแดน

“โรงพยาบาลที่อยู่ตามชายแดนหรือว่าอำเภอเล็กๆ เขาไม่สามารถเข้าถึงการตรวจวัณโรคที่มีความไวและความจำเพาะได้อย่างแม่นยำด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น การเพาะเลี้ยงเชื้อที่ใช้ระยะเวลานาน ต้องใช้ห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ หรือเทคนิค Molecular อื่นๆ ซึ่งมีราคาแพง จึงคิดหาวิธีการทดสอบที่มีความไวต่อเชื้อ ตรวจได้ง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือที่จำเพาะ แต่ราคาประหยัด จึงเป็นที่มาของการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยวัณโรค”  

ชุดตรวจวัณโรคแบบอ่านผลด้วยตาเปล่า (MTB Strip) ชุดตรวจหาสารพันธุกรรมของวัณโรค ด้วยการเพิ่มปริมาณเชื้อที่สกัดจากเสมหะ ภายใต้อุณหภูมิ 37 องศาคงที่ ด้วยเทคนิค RPA (Recombinase polymerase amplification) ใช้เพียงแถบตรวจ MTB Strip และกล่องควบคุมอุณหภูมิทั่วไป ก็สามารถรู้ผลได้ภายในเวลา 40 นาที ซึ่งเหมาะกับการนำไปใช้ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลภาคสนาม หรือสถานีอนามัยในพื้นที่ชุมชน โดยในการพัฒนาชุดตรวจวัณโรคแบบอ่านผลด้วยตาเปล่าได้พัฒนาร่วมกับทีมทำวิจัย “ชุดตรวจวัณโรคดื้อยาหลายขนานแบบอ่านผลด้วยตาเปล่าอย่างรวดเร็ว” จึงถือได้ว่าเป็นผลงานต่อยอดที่ช่วยพัฒนาวงการแพทย์ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น

“วัณโรค” โรคที่ต้องหาให้เจอด้วยตาเปล่า

จากผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้มีความเป็นได้สูงที่จะต่อยอดไปสู่การตรวจหาวัณโรคและโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัณโรค โดยสามารถดูค่าได้ในแถบเดียวกัน ซึ่งจะเป็นโรคที่สามารถพบได้ในระบบทางเดินหายใจ นอกจากจะลดเวลาในการตรวจหาโรคแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจหาโรคได้อีกด้วย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนร่วมมือกับภาคบริษัทเอกชนในการผลิตตัวต้นแบบเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์

 “เราเคยนำไปใช้จริงที่โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล ซึ่งชุดตรวจนี้สามารถตอบโจทย์ปัญหาข้อจำกัดในวินิจฉัยวัณโรค ทำให้โรงพยาบาลสามารถตรวจวัณโรคได้ด้วยชุดตรวจของเรา” อาจารย์ปาหนัน กล่าว

สำหรับการพัฒนาและการออกแบบให้สามารถตรวจโรคพร้อมกันได้ตั้งแต่ 2 โรคขึ้นไป โดยการอ่านค่าพร้อมกันในแผ่นตรวจเดียว จะแบ่งแถบเพื่ออ่านโรค เช่น หากผลแสดงขึ้นที่แถบที่ 1 คือวัณโรค แถบที่ 2 และ 3 แสดงผลหมายถึงโรคอื่นๆ

“ข้อจำกัดของการพัฒนาชุดตรวจ คือ การเข้าไปไม่ถึงสิ่งส่งตรวจโดยตรง ส่วนมากจะตรวจกับเชื้อเพาะเลี้ยงขึ้นมาและทดสอบ แต่การที่จะทำชุดตรวจให้อ่านผลได้ง่ายจะต้องตรวจกับสิ่งส่งตรวจโดยตรงให้ได้ เช่น จากเลือด จากเสมหะ ซึ่งชุดตรวจของเราได้ทดสอบกับสิ่งส่งตรวจโดยตรงมาแล้วและผลก็คือสามารถตรวจได้จริง ไม่ต้องผ่านการเพาะเลี้ยงเชื้ออะไรเลย สกัดจากเสมหะแล้วก็ตรวจได้เลย”

“เราพร้อมผลิตแล้วในระดับโรงงาน แต่เราอยากให้มันสมบูรณ์มากกว่านี้ด้วยการผลิตน้ำยาตรวจเองในประเทศ ต้องบอกตามตรงว่าน้ำยาที่ใช้ในการเพิ่มปริมาณยังนำเข้าอยู่ แต่อนาคตเรามีแผนในการผลิตชุดสกัดและน้ำยาเพิ่มปริมาณ รวมไปถึงการต่อยอดผลิตภัณฑ์แทบตรวจเป็นรุ่นที่ 2 เราต้องการให้ลดราคาลงไปอีก นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจ”

“วัณโรค” โรคที่ต้องหาให้เจอด้วยตาเปล่า

จากรายงานการดำเนินงานวัณโรคของประเทศไทย ปี พ.ศ.2559-2563 พบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงจะเป็นวัณโรคมากที่สุด ได้แก่ ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ต้องขังเรือนจำ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติ และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่มีจุดร่วมกัน คือ การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยตรง ร่างกายที่อ่อนกำลังลง การอยู่รวมกันในพื้นที่แอดอัด หรือคุณภาพชีวิตในการเข้าถึงการตรวจโรคขั้นพื้นฐาน ซึ่ง อาจารย์ปาหนัน และทีมวิจัยมองเห็นถึงปัญหาและช่องทางในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อด้วยการลดขั้นตอนและต้นทุนในการตรวจ เพื่อให้ทุกคนสามารถได้รับการตรวจและรับการรักษาได้ถูกต้องตรงจุด อย่างเท่าเทียมกันในทุกระดับชั้นของสังคม

“งานวิจัยต้องหา Pain Point ของโจทก์งานวิจัยให้เจอ แล้วลองใช้ Pain Point เป็นคำถามงานวิจัย ประเทศไทยยังมีโจทย์ของงานวิจัยที่ให้เราลงไปเล่นได้อีกเยอะเลยค่ะ ซึ่งถ้าเราสามารถหาจุดนั้นได้ก็จะกลายเป็นงานวิจัยที่สามารถไปสู่นวัตกรรมได้ จะไม่ใช่งานวิจัยขึ้นหิ้ง แต่สามารถนำไปใช้ได้จริง สามารถตอบโจทย์ปัญหาของสังคมได้ค่ะ”

ข้อมูลอ้างอิง 

  • รายงานการดำเนินงานวัณโรคของประเทศไทย ปี พ.ศ.2559-2563. กองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.
  • Thiraphon Singlor.(2564). SDG Updates: ส่องสถานการณ์วัณโรคไทย: หนึ่งปัญหาโรคติดต่อ (จากคนสู่คนผ่านทางอากาศ) ที่อยู่กับเรามานาน. https://www.sdgmove.com/
คุณวิลาณี เดชขจร (ด้านซ้าย)

ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ทีมวิจัย)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทคนิคการแพทย์หญิง ปาหนัน รัฐวงศ์จิรกุล (ด้านขวา)

ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย