บทความ

Platform Antigen test kit เชื้ออ่อนพบชัวร์ แม่นยำ 3 เท่า

Cover

Platform Antigen test kit เชื้ออ่อนพบชัวร์ แม่นยำ 3 เท่า

ในปี 2022 คงไม่มีใคร Swab จมูกไม่เป็น เพราะต้องตรวจคัดกรองโรคด้วยตัวเองทุกสัปดาห์หรือทุกครั้งที่มีความเสี่ยง ทั้งใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว อยู่ในสถานที่แพร่ระบาดอย่างหนัก หรือเพื่อความสบายใจของตัวเอง ซึ่งหลายครั้งที่เราอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการติดเชื้อจนต้องกักตัวเพื่อตรวจหาเชื้อภายใน 7-14 วัน เพราะต้องรอเพาะเชื้อให้แสดงอาการ เนื่องจากจำนวนเชื้อที่อ่อนเกินกว่า Antigen test kit จะตรวจเจอ

“ปัจจุบัน ชุดตรวจ ATK ทั่วไปตามท้องตลาด มีการตรวจวัดพบเจอเชื้อบ้างไม่พบเชื้อบ้าง เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับความไวในการตรวจวัดที่ไม่สามารถตรวจวัดได้ในปริมาณเชื้อที่ต่ำ เราจึงมีความสนใจที่จะพัฒนา Platform Antigen test kit โดยนำไฮโดรโฟบิกเซลลูโลสมาใช้ช่วยเพิ่มความไวในการตรวจวัดที่ทำให้ชุดตรวจมีความสามารถในการที่จะวัดตัวเชื้อในปริมาณที่ต่ำได้”

นางสาวปวันรัตน์ ศรีทอง นิสิตระดับปริญญาโท ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนา “ชุดทดสอบอิมมูโนวิทยาแบบชะลอการไหลในแนวระนาบ สำหรับการตรวจวัดแอนติเจนโควิด19” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำให้ชุดตรวจประมาณ 3 เท่า เมื่อเทียบกับชุดทดสอบในงานวิจัยก่อนหน้า

“ประสิทธิภาพความแม่นยำประมาณ 3 เท่า เมื่อเทียบกับชุดทดสอบในงานวิจัยก่อนหน้า โดยมีความไวกว่าชุดทดสอบในงานวิจัยก่อนหน้าอยู่ที่อยู่ที่ประมาณ 78.3 เปอร์เซ็นต์ในการตรวจจากเชื้อปริมาณน้อยและตรวจจับเชื้อโควิดได้ 100% ใช้เวลาในการตรวจ 10-15 นาทีเหมือน ATK ทั่วไป”

Polymerase chain reaction* หรือ ปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส คือศัพท์ทางเทคนิคที่ใช้เรียกการเพาะเชื้อหรือ DNA ของสิ่งมีชีวิต เป็นขั้นตอนกระบวนการในการตรวจหาเชื้อที่มีความแม่นยำสูง ต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ห้องแลป และนักวิจัยที่มีความชำนาญการในการอ่านค่า เรามักจะคุ้นเคยกันกับการตรวจ RT-PCR (Real-time Polymerase chain reaction) ที่ต้องตรวจกับโรงพยาบาลและใช้เวลารอผลมากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป แต่สามารถตรวจการติดเชื้อได้แม้มีปริมาณเชื้อที่ต่ำ รวมไปถึงมีค่าใช้จ่ายสูง ตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน

* Polymerase Chain Reaction (PCR) Fact Sheet. (2020). National Human Genome Research Institute.

นอกจากการพัฒนาตัวตรวจวัดให้สามารถหาเชื้อได้อย่างแม่นยำแล้ว ในด้านของค่าใช้จ่ายก็ยังคุมราคา  ให้ถูกลงกว่าเดิมด้วยการใช้แอนตี้บอดี้เพียง 1 ตัวเท่านั้น ต่างจากชุดตรวจ ATK โดยทั่วไปที่มีการใช้แอนติบอดี้หรือตัวตรวจวัดเชื้อโรคประมาณ 2 ตัว ซึ่งการพัฒนาชุดตรวจจะทำให้การอ่านผลแตกต่างจากในรูปแบบปัจจุบันเพียงเล็กน้อย แต่ทำให้ราคาต้นทุนของ ATK ถูกลงอยู่ที่ราคา 15-20 บาท ซึ่งสามารถขายได้ในราคา 30-40 บาท โดยประมาณ

“ชุดตรวจของเราตั้งใจมุ่งพัฒนาไปที่ตัว Platform เน้นการตรวจวัดที่มีความไวมากกว่าและมีราคาที่ถูกกว่า ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดใช้ได้กับการตรวจเชื้อโรคทุกชนิดในอนาคตได้ เพียงแค่เปลี่ยนตัวตรวจวัดหรือตัวแอนติบอดี้ที่กล่าวไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”  

แม้ในอนาคต โควิด19 อาจจะหายไปหรือกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่วิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ก็ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์มากมายที่ทำให้วงการการวิจัยสามารถสร้าง Platform เครื่องมือตรวจวัดเชื้อโรคที่สามารถปรับใช้ไปสู่การตรวจคัดกรองในโรคอื่นๆ ได้และสามารถตรวจวัดได้ด้วยตนเอง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและเข้าถึงการรักษาได้ในราคาที่เหมาะสม

สนใจสร้างความร่วมมือหรือติดต่อพัฒนา Platform Antigen test kit ได้ที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ ประไพรักษ์สิทธิ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณปวันรัตน์ ศรีทอง (มหาบัณฑิต)

ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ ประไพรักษ์สิทธิ์