หัวสุนัขจำลอง: ผลงานต่อยอด เพื่อคุณหมอ (สัตว์) มือใหม่
มีนาคม 29, 2022 2025-01-13 17:08หัวสุนัขจำลอง: ผลงานต่อยอด เพื่อคุณหมอ (สัตว์) มือใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงภาวนา เชื้อศิริ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับการต่อยอดนวัตกรรมทางการสอนนิสิตคณะสัตวแพทย์ให้ก้าวข้ามไปอีกขั้น จากจุดเริ่มต้นในผลงาน “หัวสุนัขจำลองจากเยื่อกระดาษและยางพารา*” เมื่อ 2 ปีที่แล้วกลายเป็นหุ่นจำลองปฏิสัมพันธ์ทางกายวิภาคหัวสุนัขเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่สามารถให้ความรู้กับนิสิตคณะสัตวแพทย์ชั้นปีที่ 1 ได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น โดยเพิ่มลูกเล่นเพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นการเรียนรู้เชิงรุก และช่วยเพิ่มความเข้าใจ ควบคู่กับการใช้ร่างอาจารย์ของน้องหมากับผู้เรียนที่ขาดความชำนาญ
“ปัญหาส่วนมากที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนจริง คือ นิสิตจะใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ที่ผ่านการถนอมร่างแบบร่างนิ่ม ซึ่งเด็กปี 1 ยังขาดประสบการณ์และทักษะในการผ่าชำแหละร่างเพื่อการเรียนรู้ภายในเวลาที่จำกัด ทำให้โครงสร้างอวัยวะที่สำคัญชำรุดเสียหายไปในระหว่างการเรียน การลอกผิวหนังที่ขาดความระมัดระวังเพื่อศึกษา ทำให้สิ่งที่ควรรู้จากการเรียนบางอย่างก็จะหลุดติดไปกับหนังด้วย แต่เมื่อมีหุ่นจำลองทดแทน นิสิตสามารถทบทวนเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ รวมทั้งหุ่นนี้มีความพิเศษ คือ นำไปใช้ฝึกทักษะหัตถการทางคลินิกได้อีกด้วย”
*อ่านบทความ “หัวสุนัขจำลองจากเยื่อกระดาษและยางพารา” ได้ที่ https://www.research.chula.ac.th/th/news/6842/

หุ่นจำลองหัวสุนัขตอบโต้ได้
จากการขึ้นรูปหัวสุนัขด้วยด้วยวัสดุเหลือใช้ อาทิเช่น ฝาขวด เม็ดโฟมเหลือใช้จากสำนักงานเพื่อเป็นฉนวนไฟฟ้าในการต่อไฟ LED เข้ากับจุดสำคัญของโครงสร้างและอวัยวะต่าง ๆ เพื่อชี้จุดและให้ข้อมูล พร้อมขยายขนาดสเกลหัวสุนัขจำลองให้สามารถมองเห็นอวัยวะได้ชัดเจนและใช้เป็นหุ่นเพื่อทดลองสอดท่อช่วยหายใจหรือท่อให้อาหารให้กับนิสิตได้เป็นอย่างดี
“ชุดหัวสุนัขจำลองแบ่งออกเป็น 2 ซีก คือ ชั้นผิวกับชั้นลึก โดยที่เรามีการฝังหลอดไฟ LED รวมทั้งเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ต่อเข้ากับแผงวงจรไฟฟ้าให้สามารถโต้ตอบกับผู้เรียนได้ นอกจากช่วยแสดงถึงโครงสร้างที่สำคัญภายใต้ชั้นผิวหนังแล้ว ยังสามารถฝึกทักษะในการช่วยชีวิตเบื้องต้น เช่น การสอดท่อช่วยหายใจ การสอดท่อทางเดินอาหาร หากสอดท่อผิดเส้นทาง เซ็นเซอร์จะส่งเสียงเตือน ซึ่งทำให้นิสิตเกิดความสนใจและตื่นเต้นกับการฝึกทักษะปฏิบัติมากยิ่งขึ้น”
“ในสุนัขที่มีชีวิตอยู่ เราไม่สามารถมองเห็นโครงสร้างทางกายวิภาคได้ชัดเจน เนื่องจากหัวสุนัขมีขนาดเล็ก ถ้าเป็นหุ่นจำลองจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น การทำหัตถการเบื้องต้นจึงมีความสำคัญและจำเป็นมากในการช่วยชีวิตสัตว์ ซึ่งหุ่นจำลองนี้ช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้ในส่วนนี้ได้” ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าว
หุ่นจำลองหัวสุนัขสามารถใช้งานได้ 2 ด้าน คือ ด้านนอกที่แสดงโครงสร้างชั้นผิวประกอบด้วย กล้ามเนื้อ อวัยวะและหลอดเลือดที่สำคัญ รวมถึงระบบประสาทที่นิสิตสัตวแพทย์มือใหม่จะต้องรู้ หากพลิกอีกด้านจะเป็นโครงสร้างด้านในหัวของสุนัขแบบผ่าครึ่งซีก ซึ่งจะเห็นโครงสร้างของระบบหายใจ และท่อทางเดินอาหารที่อยู่ภายใน ในส่วนนี้เองที่นิสิตสามารถทดลองสอดท่อที่ปากหรือจมูกของหุ่นจำลองได้ โดยมีกลไกการเปิด-ปิดระหว่างหลอดอาหารและหลอดลม ที่จะมีเสียงเตือนเมื่อนิสิตสอดท่อผิดช่องทาง
ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เผยถึงบรรยากาศในชั้นเรียนว่า “เวลาเรียนกับอาจารย์ใหญ่ก็จะผ่าซีกตามแบบโมเดลเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้สามารถอธิบายทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนได้ นิสิตจะให้ความสนใจและกระตือรือร้นที่จะตั้งคำถาม หรืออยากทดลองกับแบบจำลอง”
กายวิภาคหัวสุนัข 101
นอกจากกายวิภาคเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ ภายในหัวสุนัขแล้ว ขั้นต่อไปของการพัฒนาคือการขยายโมเดลหุ่นจำลองไปสู่กายวิภาคของสัตว์ชนิดอื่น เพื่อลดต้นทุนในการจัดซื้อหุ่นจำลอง ช่วยเพิ่มมูลค่าจากการแปรรูปขยะในสำนักงานให้กลับมามีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอีกครั้ง
“ตอนนี้กำลังทำหุ่นจำลองในสัตว์ทดลองชนิดอื่นในรูปแบบของโครงการวิจัยด้วยค่ะ เพื่อให้เกิดต้นแบบไปสู่การพัฒนาต่อยอดและเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในลำดับต่อไป กับนิสิตคณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ โดยเราจะนำประเมินผลหลังจากใช้งานหุ่นให้เกิดประโยชน์ต่อองค์ความรู้เรื่องกายวิภาคสัตว์ที่จับต้องได้อย่างชัดเจน ก่อนที่นิสิตจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้งานในทางคลินิก”
ความรู้เรื่องกายวิภาคสัตว์จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในห้องผ่าตัดของคณะสัตวแพทย์อีกต่อไป เมื่อ ผศ.สพ.ญ.ภาวนา พัฒนาต่อยอดความรู้ให้อยู่ใกล้ตัวนิสิตมากขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อใช้เรียนรู้ร่วมกับหุ่นจำลอง
“หลังจากขั้นตอนการพัฒนา และได้รับผลตอบรับที่พึงพอใจ ก็ได้ต่อยอดเพิ่มนำไปสู่สื่อการสอนในรูปแบบเกม AR เพื่อใช้ประกอบกับการเรียนแบบปนเล่น (Edutainment) แม้ไม่มีหัวสุนัขก็ยังเรียนรู้ได้ เพราะแอพพลิเคชั่นกับหัวสุนัขจำลองจะเชื่อมโยงกัน หุ่นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของไอเดียการต่อยอดที่อยากขยายองค์ความรู้ให้มากขึ้น”
เพราะมี Feedback จึงได้ไปต่อ
ตลอดระยะเวลาในการพัฒนางานวิจัยหุ่นจำลองหัวสุนัข ผศ.สพญ.ภาวนา มองว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสิ่งที่ให้ความสนใจมาโดยตลอด มองเห็นปัญหาและต้องการแก้ไข พร้อมเปิดรับความคิดเห็นเพื่อนำไปพัฒนาต่อให้ดีขึ้น
“การทำงานวิจัยอาจารย์มองว่าทุกอย่างจะต้องเริ่มจากความสนใจของตัวเรา ต้องปรับตัวให้ทันกับยุคสมัย โดยที่จะต้องพยายามทำให้ตรงกับเป้าหมายในสิ่งที่เราต้องการ นั่นคือ กลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย อย่างของอาจารย์คือสื่อการสอน กลุ่มลูกค้าอาจารย์ก็คือนิสิต กว่าที่จะได้ชิ้นงานวิจัยที่เหมาะสม เราจะต้องให้นิสิตประเมินว่าใช่สิ่งที่เขาต้องการ หรือตอบโจทย์ปัญหาอะไรบางอย่างหรือไม่ เพื่อให้เรารู้ความต้องการและแก้ไขจุดที่ผิดพลาดนำไปสู่การพัฒนาให้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ”

“การทำงานวิจัยอาจารย์ก็มองว่าทุกอย่างจะต้องเริ่มจากความที่เราสนใจ เราต้องปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยนะคะ โดยที่จะต้องพยายามทำให้ตรงกับเป้าหมายในสิ่งที่เราต้องการ นั่นคือ กลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างของอาจารย์คือสื่อการสอน กลุ่มลูกค้าอาจารย์ก็คือนิสิต กว่าที่จะได้งานวิจัยอาจารย์จะต้องให้นิสิตประเมินเพื่อให้เรารู้ความต้องการและดูตรงไหนผิดพลาดยังไงก็พัฒนาให้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงภาวนา เชื้อศิริ
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย