Closhare ตู้เสื้อผ้าเสมือน แชร์ทุกลุค โดยไม่ต้องช็อป
มกราคม 30, 2023 2025-01-13 16:59Closhare ตู้เสื้อผ้าเสมือน แชร์ทุกลุค โดยไม่ต้องช็อป
โลกแห่งแฟชั่นมักนำเราหนึ่งก้าวเสมอ ผู้ที่ตามทันแฟชั่นคือผู้ที่วิ่งตามกระแส หรืออาจจะเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังค้นหาเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับตัวเองอยู่ก็เป็นได้ เพื่อให้ทันสมัยและเข้ากับสถานการณ์อยู่เสมอ อุสาหกรรมด้านแฟชั่นจึงเฟื่องฟูในขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลับจมดิ่งเพราะกองเสื้อผ้าที่ตกรุ่นไปตามกระแสนิยม
คุณอุมาภรณ์ สมศิริวัฒนา และคุณศรายุธ ทองหมัน นิสิตปริญญาเอก สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รื้อประเด็นความลับจากตู้เสื้อผ้า ว่าทำไมเสื้อผ้ามีอยู่เต็มตู้เราจึงบอกว่าไม่มีเสื้อใส่? หรือซื้อเสื้อมาแขวนเยอะๆ ไปทำไม? ในเมื่อเราก็ซื้อใหม่อยู่ดี
“คุณค่าที่ผู้บริโภคเลือก คือ การใส่เสื้อผ้าแล้วเกิดความมั่นใจ เขาต้องการใส่เสื้อผ้าสวยๆ ออกไปเจอคนอื่น เขามีทัศนคติเชิงบวกเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องความมั่นใจมากกว่า เราจึงหาทางเลือกเพื่อให้ผู้บริโภคยังคงรู้สึกมั่นใจในการใส่เสื้อผ้าและก็ยังได้รักษาสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน” คุณอุมาภรณ์ กล่าว



จุดเริ่มต้นของการศึกษาปัญหา Fast Fashion โดยเลือกเจาะกลุ่มสาวๆ ช่วงอายุประมาณ 25-45 ปี เป็นช่วงวัยทำงานที่เริ่มมีกำลังในการซื้อเสื้อผ้า เพราะมีกิจกรรมเข้าสังคมที่หลากหลายมากขึ้น ชุดเสื้อผ้าในช่วงวัยรุ่นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สถานที่ และกิจกรรม เพื่อให้เกิดวงจรแฟชั่นหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “โคลวแชร์” (Closhare) แอพพลิเคชั่นตอบโจทย์ปัญหาคนมีเสื้อล้นตู้แต่อยากได้เสื้อใหม่ หรือ สายนำเทรนด์ไม่ชอบแต่งตัวซ้ำๆ แต่ซื้อทุกรอบก็ไม่ไหว โคลวแชร์จะพาไปลื้อตู้เสื้อผ้าเสมือนของเพื่อน ถูกใจตัวไหนก็ขอเช่าซะเลย!
คุณศรายุธ หนึ่งในผู้พัฒนาให้นิยามของ โคลวแชร์ ว่ามาจากแนวคิด “closet for sharing” ตู้เสื้อผ้าออนไลน์จัดระเบียบข้อมูลจำนวนเสื้อผ้าที่มีและเปิดแชร์คลังเสื้อส่วนตัวที่สามารถปล่อยเช่า ขาย หรือบริจาค เพื่อจัดสรรทรัพยากรเสื้อผ้าให้หมุนเวียนใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
“ที่บอกว่าไม่รู้จะใส่อะไรดี จริงๆ แล้วเสื้อผ้ามีเยอะแต่เราไม่รู้จักการจัดเรียง เราก็เลยทำเหมือนเป็นตู้เสื้อผ้าออนไลน์ ตู้เสื้อผ้าเสมือน เมื่อเรามีเสื้อผ้าสามารถเก็บ database ของเสื้อผ้าเราไว้ในแอพพลิเคชั่น สามารถจัดการเสื้อผ้าของเราจากโทรศัพท์ได้โดยไม่ต้องไปลื้อเสื้อชุดที่ละตัวมาจากตู้เสื้อผ้า เช่น เราบอกว่าวันนี้เราอยากจะใส่ชุดสีดำไปงานกาล่าดินเนอร์ เรามีชุดสีดำเต็มตู้ แต่เราก็ยังไม่รู้จะใส่ตัวไหนดี? แอพพลิเคชั่นนี้ก็มีฟังก์ชันในการช่วยเราเลือกเสื้อผ้าที่เรามีอยู่ในตู้ สามารถลองชุดเสมือนได้ด้วย เพราะเราใช้ AI ในการเก็บข้อมูลเสื้อผ้าและประมวลผลออกมาเป็นรูปว่าเราใส่แล้วจะมีลุคเป็นแบบไหน โดยที่เราไม่ต้องลุกขึ้นไปลองเสื้อผ้า”



คุณอุมาภรณ์ให้ข้อมูลเสริมว่า “ถ้าในตู้ไม่มีชุดที่ถูกใจ สามารถไปดูจากตู้เสื้อผ้าของเพื่อนที่เขาเปิดให้เช่าได้ด้วย เราไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่เพียงเพราะไม่มีชุดที่ถูกใจ แต่เราสามารถเช่าได้ และตู้เสื้อผ้าของเราเองก็เช่นกัน เพราะการเก็บ database เสื้อผ้าจะช่วยคัดเลือกเสื้อผ้าที่ไม่ค่อยได้ใส่แล้วให้คนอื่นที่ต้องการสามารถเช่าใส่ต่อได้ เป็นการหารายได้ไปในตัว หรือไม่อยากใส่แล้วก็ขายได้ โดยตั้งสถานะให้กับเสื้อผ้าของเราว่าไอเท็มนี้ขายหรือให้เช่า แต่ถ้าอยากเคลียร์ชุดเก่า เราก็สามารถรวบรวมไปบริจาคได้ โดยในแอพพลิเคชั่นมีช่องทางในการติดต่อมูลนิธิต่างๆ ที่รับบริจาคด้วย”
ต้องยอมรับว่าในความต้องการของสาวๆ ก็ยังต้องมีเรื่องของการช็อปอยู่ นอกจากได้ไปลื้อดูเสื้อผ้าในตู้คนอื่นได้แล้ว ก็ยังสามารถเปิดพื้นที่เป็นร้านขายเสื้อ หรือจะอัพเดทลุคการแต่งตัว เลื่อนดูชุดเพลินๆ ให้เกิดแรงบันดาลใจในการแต่งตัวก็ย่อมได้ เป็นคลังเสื้อผ้าให้มาแลกเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกาย หรือเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า เกิดเป็น Sharing economy ที่ใช้เสื้อผ้าหมุนเวียนได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะลดปริมาณการผลิตเสื้อผ้าใหม่ ในขณะที่ตัวเรายังคงอยู่ในเทรนด์แฟชั่นต่อไป
“ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาและเก็บข้อมูลความต้องการครับ กลุ่มเป้าหมายที่ลองใช้แอพพลิเคชั่นได้ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องความมั่นใจในความสะอาดของเสื้อผ้าที่ให้เช่า มีการจัดการยังไงเพื่อให้เกิดความมั่นใจ อีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากพัฒนาต่อคือเมนู “Check List” เพื่อแบ่งหมวดหมู่เสื้อผ้าและจัดการเตรียมให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสถานที่ที่เราจะไป เช่น ช่วยเราเลือกว่าถ้าไปทะเลควรเอาชุดไหนใส่กระเป๋าบ้าง? ซึ่งตอนเก็บ database ก็จะระบุไปว่าเสื้อตัวนี้เหมาะกับการใส่ไปไหนบ้าง หรือเพิ่มฟังก์ชัน “Guru Suggestion” เป็นที่ปรึกษาด้านการแต่งกาย เป็นเพื่อนช่วยเลือกชุดโดยกูรูสไตลิสต์เป็นคนแนะนำ ก็ยังเป็นแผนที่ต้องการพัฒนาขยายต่อไปเรื่อยๆ และเก็บข้อมูลความพึงพอใจของผู้ใช้เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงในอนาคต” คุณศรายุธกล่าว



นอกจากการสร้าง Community แลกเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว โคลวแชร์ยังอยากสนับสนุนกลุ่มดีไซน์เนอร์ไทยที่ต้นทุนน้อยหรือยังไม่เป็นที่รู้จัก มาเปิดห้องเสื้อเสมือนให้ “คนอยากทำเสื้อ” กับ “คนอยากใส่เสื้อ” สไตล์เดียวกันได้มารู้จักกัน ได้ลองใส่ ได้ลองเปิดใจ ก่อนจะพิจารณาขยายพื้นที่ให้ห้องเสื้อแบรนด์ดังได้ลองตลาดในลำดับถัดไป
“มันเป็นความสนุกและความชอบของเราที่สามารถตอบโจทย์ Pain Point ได้ เป็นความสนุกและความท้าทายสำหรับคนที่เป็นนวัตกรจะต้องคิดเทคโนโลยีและตามให้ทัน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหรือตัว User ได้จริง” คุณศรายุธตอบ หากตู้เสื้อผ้าเสมือนได้รับความนิยมและช่วยลดปัญหาFast Fashion ได้จริง ต่อไปป้ายสินค้าประเภทเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับจะรองรับเทคโนโลยีมากขึ้นตามไปด้วย อย่างเช่นแบรนด์เนมยี่ห้อดังที่ทำป้ายสินค้าเป็น QR Code เพื่อให้ลูกค้าสแกนดูข้อมูลของเสื้อได้ ซึ่งโคลวแชร์สามารถรองรับและตอบโจทย์เทคโนโลยีเหล่านี้ได้แบบไม่เกินจริง เราจะสามารถแชร์ประสบการณ์ความสวยผ่านเครื่องแต่งกาย ในขณะที่เราก็แคร์สิ่งแวดล้อมของโลกนี้ไปพร้อมๆ กันได้

“มันเป็นความสนุกและความชอบของเราที่สามารถตอบโจทย์ Pain Point ได้ เป็นความสนุกและความท้าทายสำหรับคนที่เป็นนวัตกรจะต้องคิดเทคโนโลยีและตามให้ทัน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหรือตัว User ได้จริง”
คุณศรายุธ ทองหมัน (ดุษฎีบัณฑิต-ฝั่งซ้าย)
สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: รองศาตราจารย์ ดร.ไปรมา อิศรเสนา ณ อยุธยา
“อยากให้ทำงานด้วยความสนุกและความชอบค่ะ มันจะทำให้เราไปต่อได้เรื่อยๆ จนจบกระบวนการได้โดยที่ไม่ได้เหนื่อยหรือไม่ได้จำใจทำจนเกินไป การเรียนรู้แบบทีละสเต็ปร่วมกับกลุ่มเป้าหมายเหมือนเป็นการค้นพบอะไรใหม่ๆ ที่มาจากผู้ใช้จริง เราจึงสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อได้ค่ะ”
คุณอุมาภรณ์ สมศิริวัฒนา (ดุษฎีบัณฑิต-ฝั่งขวา)
สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: รองศาตราจารย์ ดร.ไปรมา อิศรเสนา ณ อยุธยา