EmPower Me: ครูแนะแนวเสริมทักษะในยุคศตวรรษที่ 21
มกราคม 31, 2023 2025-01-13 16:12EmPower Me: ครูแนะแนวเสริมทักษะในยุคศตวรรษที่ 21
เมื่อคำถามที่ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” ถูกแทนที่ด้วย “โตขึ้นจะมีทักษะอะไร?” ดูจะเป็นคำถามที่ยากเกินกว่าจะตอบได้ของเด็กสมัยนี้ ทำให้เด็กๆ หลายคนรวมถึงผู้ปกครองหลายท่านต้องลองผิดลองถูกกับความรู้หลายแขนง แต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์คำถามได้ว่าทักษะไหนที่จำเป็น เรียนแค่ไหนถึงจะเพียงพอ? หรือสิ่งที่เรียนรู้คือสิ่งที่ใช่จริงๆ หรือเปล่า?
ในฐานะครูผู้สอน ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ จากภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีทางเลือกมานำเสนอ เพื่อช่วยหาคำตอบให้กับนักเรียน-นักศึกษาตั้งแต่มัธยมปลายจนถึงระดับอุดมศึกษาให้มองเห็นแนวทางความสามารถของตัวเอง และสนับสนุนให้ความรู้ผ่านเว็บแอพพลิเคชัน “EmPower Me:แชทบอทโค้ชเพื่อเตรียมทักษะอนาคตให้ผู้เรียนดิจิทัลในอนาคต ในยุคอนาคตปรกติถัดไป” การันตีด้วยรางวัลเหรียญทอง ในเวที Seoul International Invention Fair 2021 (SIIF 2021) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีที่ผ่านมา
“EmPower Me คือ chatbot ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสายอาชีพที่คาดว่าน่าจะเหมาะกับผู้เรียน โดยประมวลผลจากสาขาอาชีพตามคณะและสถาบันในมหาวิทยาลัย ค่อนข้างยืดหยุ่นตาม Personal Life สามารถปรึกษาได้ตลอดตามเวลาที่เรากำหนด นอกจาก Matching & Mapping สายอาชีพของเราแล้ว chatbot ยังค้นหาฐานข้อมูลความรู้เพื่อ Upskill ในวิชาชีพนั้นๆ ผ่านแพลตฟอร์มเกมสะสมแต้ม เพื่อให้ผู้เรียนสนุกไปกับการเรียน” ดร.จินตวีร์ นำเสนอ

Mission Possible!
EmPower Me เป็นเกมอัพเลเวลผ่านการ Upskill ที่มี chatbot ค่อยแนะนำและชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับตนเองผ่าน Pre-Test มีภารกิจมอบหมายให้ 4 ภารกิจ ประกอบด้วย
- Mission 1 : Self–Initiation ผู้เรียนสามารถกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่างานในฝันหรืองานในอนาคตเป็นอย่างไร
- Mission 2 : Self–Planning ตั้งค่าอุปกรณ์สวมใส่ (wearable devices: EEG, Smart Watch, VR Glass) ที่ต้องการใช้เพื่อเรียนรู้อาชีพในฝัน
- Mission 3 : Self–Learning ผู้เรียนสามารถปรับแต่งวิธีการเรียนและอุปกรณ์ที่ใช้งานได้
- Mission 4 : Self–Evaluation ผู้เรียนจะได้รับเหรียญรางวัลเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการทำภารกิจและพัฒนาการเรียนรู้ไปสู่ความสำเร็จ
“คนรุ่นใหม่มีการใช้แพลตฟอร์ม Chatbot อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ซึ่งใช้งานง่ายเหมือนการเรียนรู้ผ่านแอพพลิเคชันอื่นๆ สามารถใช้ได้กับทุกอุปกรณ์ ไม่ต้องโหลดเข้ามาในมือถือ ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรในมือถือสามารถเข้าถึงผ่านลิงก์และสมัครเรียนได้เลย เป็น Single Sign-On ได้ทั้ง Facebook และ Google ตามมาตรฐานของเว็บแอพพลิเคชันทั่วไป”
นอกจากนี้ EmPower Me ยังเพิ่มลูกเล่นให้กับการเรียนรู้ผ่าน “Wearable devices” เพื่อดึงความสนใจและทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เช่น การเชื่อมต่อเข้ากับ Smart Watch ในการแจ้งเตือนเวลาเรียน การชมคลิปผ่านแว่น VR รวมไปถึงการฝึกสมาธิด้วยเทคโนโลยี EEG (Electroencephalography) เพื่อผ่อนคลายความเครียดและลดความตื่นเต้นก่อนหรือหลังการสอบ
“EEG ช่วยให้ผู้เรียนมีสมาธิดีขึ้น สวมใส่ก่อนเริ่มเรียนหรือใส่ตอนใกล้สอบ สามารถเก็บข้อมูลความเครียดหรือความวิตกกังวลได้ ถ้าเกิดเก็บเป็น Data ก็น่าจะสามารถประมวลผลอะไรบางอย่างได้ในอนาคต” ดร.จินตวีร์ กล่าว




Next Level
สำหรับแผนการพัฒนาต่อยอด ดร.จินตวีร์ มองว่าการติดตามผลและเก็บข้อมูลเป็นอีกหนึ่งฐานข้อมูลที่สำคัญ เพื่อสังเกตพฤติกรรมและแนวโน้มความสนใจของกลุ่มผู้เรียน รวมถึงอัตราจำนวนผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จตามสายอาชีพที่แนะนำ เพื่อพัฒนา Chatbot ให้สามารถประมวลผลได้อย่างแม่นยำและมีความฉลาดมากขึ้น
“ส่วนตัวอาจารย์สนใจเรื่องการทำ Chatbot จึงพัฒนาเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับ Chatbot สำหรับโปรเจคล่าสุด นอกเหนือจาก EmPower Me ก็ได้มีความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในการทำ Chatbot เพื่อช่วยนักเรียนแพทย์ในการเสริมสร้างสมรรถนะทางวิชาชีพ เช่น การทำ Test-bank การไกด์ข้อมูลทางการแพทย์ และการทบทวนบทเรียน” ดร.จินตวีร์ กล่าวว่า การทำ Chatbot ต้องเป็นชุดข้อมูลที่มีความคงที่มากพอที่สามารถสร้างเป็นชุดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตรงกับคอนเซ็ปต์ “Personal Learning” ของผู้คนในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละคนใช้เวลาเรียนไม่เท่ากัน บางคนเรียนช้าบางคนเรียนเร็ว ไม่ต้องรอกัน สามารถเรียนซ้ำได้ เรียนตามเวลาที่สะดวก ยืดหยุ่นทั้งสถานที่และเวลา ผู้เรียนสามารถพัฒนาตัวเองไปได้เรื่อยๆ โดยกลุ่มเป้าหมายต่อไปในอนาคตอาจจะไม่ใช่แค่นักเรียน-นักศึกษา แต่สามารถเป็นใครก็ได้ที่สนใจต้องการศึกษาก็สามารถเข้าถึงได้

Level Up
เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ Chatbot ที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ดร.จินตวีร์ จึงมองหาพันธมิตรด้านการวิจัย ในการสร้างระบบที่สามารถรองรับฐานผู้ใช้งานจำนวนมากในอนาคต “โปรเจคก่อนหน้านี้เป็น Chatbot สอนภาษาอังกฤษชื่อว่า “MALLIE*” ได้เข้าร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (University Technology Center: UCT) ในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งตอนนี้ร่วมกับ Microsoft ให้เข้ามาช่วยเพิ่มกรอบความสามารถในการเข้าถึง เนื่องจากเป็นผลงานที่มาจากงานวิจัย ไม่สามารถรองรับผู้เรียนขนาดหลักหมื่นหลักแสนได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีของบริษัทขนาดใหญ่จะเข้ามาช่วยขยายผลต่อได้ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่วางไว้ในการ skill up ในทุกๆ แอพพลิเคชันนวัตกรรมที่อาจารย์ทำการพัฒนา”

ศาสตาจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์
ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย