บทความ

Power Rubber Band ของเล่นพลังยางยืด

Cover

Power Rubber Band ของเล่นพลังยางยืด

ใครเคยสนุกกับการเป่าหนังยางจนแก้มปริเพื่อสะสมยางมัดแกงให้ได้เป็น “เจ้าแห่งการเป่ากบ” โปรดจงรู้ไว้ว่าท่านไม่เด็กแล้ว! การละเล่นง่ายๆ อุปกรณ์หาได้จากในครัว แต่สร้างความสนุกและความระทึกใจได้ไม่ใช่น้อย วงการเด็กเล่นยางจะกลับมาอีกครั้งในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจกว่าเดิม

“อยากให้ Rubber band แตกต่างจากของเล่นที่มีมาในอดีตค่ะ ของเล่นวิทยาศาสตร์แนวนี้เริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่ว่าไม่สามารถถอดประกอบได้ เราจึงออกแบบให้ถอดประกอบได้ เขียนได้ลบได้ เสริมสร้างจินตนาการตามความคิดของเด็กๆ สุดท้ายอาจกลายเป็นของเล่นที่เราเองก็คาดไม่ถึงก็ได้” คุณอณิชา กาญจนวัฒน์ นิสิตปริญญาตรี สาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงาน โครงการออกแบบชุดการเรียนรู้ตามแนวคิด STEAM ผ่านการเล่น Rubber band กล่าวถึงการนำยางรัดของธรรมดาๆ มาพัฒนาเป็นของเล่นเสริมสร้างพัฒนาการที่บูรณาการความรู้ “STEAM” ทั้ง 5 ศาสตร์ความรู้ ประกอบด้วย…

  • Science สอดแทรกเกร็ดความรู้วิทยาศาสตร์ หนังยางสามารถให้พลังงานกลจากการเปลี่ยนแปลงพลังงานศักย์ยืดหยุ่น โดยเด็กๆ สามารถเรียนรู้วิธีทำให้ของเล่นเคลื่อนที่ได้จากการบิดหรือหมุนหนังยาง
  • Technology นวัตกรตัวน้อยสร้างกระบวนการคิด ปรับเปลี่ยนยางวงร่วมกับอุปกรณ์ต่อเติม
    ซึ่งเทคโนโลยีอาจจะไม่ใช่แค่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสมอไป แต่คือกระบวนการคิดและการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำแบบเดิม
  •  Engineering วิศวกรพัฒนาเรื่องระบบโครงสร้าง การวางแผนประกอบชิ้นส่วน การวางคานดีด คานงัด เพื่อให้กลายเป็นของเล่นที่มีฟังก์ชันในแบบที่ต้องการ
  • Art สุนทรียภาพแห่งความสนุก ออกแบบรูปร่างหน้าตาวาดเขียนได้ดั่งใจ ของเล่นสามารถ Reuse ลบและวาดใหม่ได้ ผลิตจากไม้และยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเด็กๆ
  • Mathematics คณิตคิดสนุก ด้วยรูปทรงเรขาคณิตจำง่ายจับสะดวก สามารถคำนวนหาค่าน้ำหนักของอุปกรณ์ที่ต่อกันได้ หรือจะคำนวณระยะทางการเคลื่อนที่เพื่อออกแบบของเล่นให้แล่นได้ไกลกว่าเดิม

“ยางวงหรือว่า Rubber band ที่เห็นในชีวิตประจำวันสามารถนำมาต่อยอดได้อีก ก็เลยนำมาสร้างสรรค์เป็นของเล่น ซึ่งเป็นของเล่นไม้ที่สามารถเล่นได้ง่ายและมีพลังงานอยู่ในตัว ถ้าสมมุติว่าเรานำมาบิดหรือว่าขดก็จะทำให้พลังงานศักย์ยืดหยุ่นแปลงเป็นพลังงานกล เมื่อนำไปประกอบกับไม้ที่มีล้อก็จะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ได้” คุณอณิชากล่าว

ชุดการเรียนรู้ตามแนวคิด STEAM ผ่านการเล่น Rubber band มีรูปแบบพลังงาน “Gear Box” 4 รูปแบบ ได้แก่ Wind up พลังหมุนใบพัดและพลังรถถัง Wind Up Car พลังขับเคลื่อน และ Slingshot พลังดีด โดยของเล่นมีขนาดไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป รวมถึงมีน้ำหนักเบาเหมาะกับการหยิบจับของเด็กๆ เนื่องจากอุปกรณ์เป็นวัสดุหาง่ายต้นทุนการผลิตจึงไม่สูงเท่าของเล่นเสริมพัฒนาการทั่วไป มีโอกาสที่จะใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนในโรงเรียนได้ อีกทั้งช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนในการใช้วัสดุท้องถิ่นมาปรับใช้ สร้างรายได้ต่อยอดเป็นอาชีพได้อีกช่องทาง

คุณอณิชากล่าวถึงอนาคตในการพัฒนางานของเล่นจากหนังยางว่าอยากให้มีลูกเล่นที่น่าสนใจมากขึ้น เช่น สร้างแรงหมุนแล้วเกิดเสียงหรือส่งผลเป็นแรงขับเคลื่อนอื่นๆ ที่ดึงดูดความสนใจของวัยเล่นวัยเรียน “เราสามารถพัฒนาได้อยู่เสมอ อาจจะคิดว่ามันยังไม่ดีพอ แต่การแลกเปลี่ยนความรู้หรือรับฟังคนอื่น ก็ช่วยพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นนวัตกรรมที่ดีขึ้นได้” เหมือนกับการเล่นยางวงที่มีมากี่ยุคสมัยก็ยังคงเป็นของเล่นยอดนิยมที่เราสามารถหยิบจับมาเล่นหรือพัฒนาเป็นนวัตกรรมได้เสมอ ความรู้ก็เช่นกัน…หากเรารู้จักยืดหยุ่นวิธีการเรียนรู้ ก็สามารถพัฒนาความสามารถได้ยืดยาว เหมือนกับหนังยางที่ยืดขยาย สุดแล้วแต่เราจะยืด

“เราสามารถพัฒนาได้อยู่เสมอ เวลาบอกว่าเราคิดอะไรใหม่ๆ ได้แล้ว อาจจะคิดว่ามันยังไม่ดีพอ แต่ว่าเวลาที่เราได้มาแลกเปลี่ยนความรู้หรือว่าฟังคนอื่น มันก็จะช่วยพัฒนาต่อยอดให้มันเป็นนวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้นไป เราก็จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาประเทศต่อไปได้ค่ะ”

คุณอณิชา กาญจนวัฒน์ (บัณฑิต)

สาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรเทพ เลิศเทวศิริ