Worth the Waste ขยะเกษตรสู่สิ่งทอ
มกราคม 31, 2023 2025-01-13 16:24Worth the Waste ขยะเกษตรสู่สิ่งทอ
แฟชั่นร่วมสมัยระหว่างดีไซน์เสื้อโครงสร้างทรงตะวันตก-ลวดลายไทย หรือจะเป็นโครงสร้างรูปแบบไทย-ลวดลายตะวันตก ยังคงมีหมุนเวียนมาให้เห็นจนชินตาจากไอเดียสร้างสรรค์ของไทยดีไซน์เนอร์ วัสดุผ้าม่วงผ้าไหมไทยที่ทอขึ้นใหม่ค่อนข้างมีราคาแพงและใช้ระยะเวลาในการถักทอ ความงดงามไม่เป็นข้อกังขา แต่กว่าจะได้ใส่ต้องรอโอกาส ทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและมีราคาแพง เก็บไว้ไม่ค่อยใส่ก็ล้าสมัยกลายเป็นเศษผ้านอนพับอยู่ในตู้
“เราเป็นสายแฟชั่นและสิ่งทอที่กำลังมองหาแรงบันดาลใจในการเพิ่มมูลค่าผ้าทอและสร้างคุณค่าทางสังคมใหม่ให้แก่ผลิตภัณฑ์ จึงศึกษาเรื่องการพัฒนาเส้นใย พบว่ามีหลายคนกำลังศึกษาเรื่องเส้นใยจากเศษวัสดุเหลือใช้จากสิ่งไร้ค่าทางการเกษตร เราจึงทดลองเพิ่มเส้นใยที่หลากหลาย โดยใช้กรอบแนวคิดของ Circular Economy ร่วมกับ Cross-Cultural Design นำมาออกแบบในวิจัยนี้” คุณสุระเกียรติ รัตนอำนวยศิริ นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวิจัยในหัวข้อ “นวัตกรรมสิ่งทอการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากสิ่งไร้มูลค่าทางการเกษตร สู่การสร้างสรรค์อัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์อย่างยั่งยืนจากทุนทางวัฒนธรรม” กล่าวถึงแนวทางของนักออกแบบยุคใหม่ที่เริ่มให้ความสนใจกับวัตถุดิบจากธรรมชาติมากยิ่งขึ้น





ผลงานวิจัยเลือกพัฒนาเส้นใยจากวัสดุทางการเกษตร 2 ชนิด ได้แก่ เศษไผ่และไหมข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชที่พบอยู่มากในจังหวัดน่าน หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นที่เรียบร้อย ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปกำจัดโดยการไถกลบ ทิ้งไว้เฉยๆ รวมไปถึงการเผา ซึ่งหลายครั้งลุกลามจนเกิดเป็นไฟไหม้บริเวณกว้าง ทิ้งไว้ซึ่งความเสียหาย เป็นมลพิษทางอากาศ เพื่อกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรและสร้างมูลค่าให้ได้มากที่สุด คุณสุระเกียรติจึงผสมเศษไผ่และไหมข้าวโพดให้กลายเป็นเส้นใย ผสานทุนทางวัฒนธรรมสิ่งทอชาวไทลื้อ ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมของจังหวัดน่านนำมาสร้างสรรค์ประยุกต์ลวดลายให้เข้ากับคนปัจจุบัน กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ใส่ได้หลายโอกาส หรือกลายเป็นของฝากที่ทำให้นึกถึงกลิ่นอายของจังหวัดน่าน
“หลังจากที่เราผลิตผลิตภัณฑ์แฟชั่นแล้ว มันก็ยังเหลือเศษวัสดุอยู่ เราจึงทดลองเอาเศษวัสดุเหล่านั้นนำกลับมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือวนกลับมาถักเป็นเส้นใยใหม่อีกครั้งหนึ่ง อีกแนวคิดที่เราอยากให้การดูแลสิ่งแวดล้อมครบวงจร คือ การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากพืชพื้นท้องถิ่น เพื่อลดปัญหาน้ำเสียจากสารเคมี



กระบวนการหนึ่งที่ใช้ในการออกแบบของ Circular Economy คือเรามองว่าการคิดงานออกแบบทั้งหมดต้องมาจากกระบวนการทำ Marketing เช่น ต้องการเท่าไหร่ทอผ้าเท่านั้น หรือทอให้ตรงลายพอดี เราจะไม่ทอเผื่อทอเกิน ได้ตามหน้าผ้าเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของกี่ทอผ้าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้วัตดุดิบในการทอเหลือทิ้งน้อยลง อีกทั้งจุดเด่นจากเส้นใยที่สามารถ Reuse ได้เพราะทำมาจากวัสดุเชิงชีวภาพ” คุณสุระเกียรติกล่าว
ผลงานดังกล่าวได้มีคอลเลคชั่นเสื้อผ้าภายใต้ชื่อคอนเซ็ป “Worth the Waste” เพื่อเสนอแนวทางการนำสิ่งไร้ค่าทางการเกษตรมาปรับใช้ให้เป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ ที่มีกลิ่นอายอัตลักษณ์ของไทลื้อในจังหวัดน่าน ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องเรือน ที่ทันสมัยสุขุม เข้ากับสไตล์คนเมืองเรียบง่ายแต่มีความคลาสสิกซ่อนอยู่ “การสร้างผลิตภัณฑ์หรือการวิจัยเชิงแฟชั่นที่ต่อยอดชุมชนให้เกิดการสร้างรายได้ มองผิวเผินเหมือนเป็นเพียงความงามของศิลปะ อาจไม่เพียงพอสำหรับโลกยุคปัจจุบัน แต่คุณค่าที่อยู่ในตัวผลิตภัณฑ์อาจทำให้เกิดการตัดสินใจเพื่อสร้างสรรค์อะไรบางอย่างในอนาคต ทั้งคุณค่าด้านความงาม คุณค่าด้านสังคม คุณค่าด้านวัฒนธรรม และคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม อาจมีส่วนช่วยให้เรากล้าตัดสินใจทำและผลักดันผลิตภัณฑ์พวกนี้ให้เกิดขึ้น สร้างรายได้สร้างความภูมิใจ รวมถึงหาทางแก้ไขปัญหาขยะทางการเกษตรในท้องถิ่นในแบบของเรา”


“การสร้างผลิตภัณฑ์หรือการวิจัยเชิงแฟชั่นที่ต่อยอดชุมชนสร้างรายได้ อาจจะเป็นความงามของศิลปะ อาจจะไม่เพียงพอสำหรับโลกยุคปัจจุบัน คำว่าคุณค่าในตัวผลิตภัณฑ์อาจจะทำให้เกิดการตัดสินใจในการสร้างสรรค์ในอนาคต คุณค่าด้านความงาม คุณค่าด้านสังคม คุณค่าด้านวัฒนธรรม และคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม อาจจะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจทำให้เราสามารถผลักดันผลิตภัณฑ์พวกนี้ให้เกิดรายได้หรือว่า Value มากกว่า ต้องพยายามหามูลค่าในตัวของสิ่งที่เราจะทำ”
คุณสุระเกียรติ รัตนอำนวยศิริ (ดุษฎีบัณฑิต)
สาขาวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: ศาสตราจารย์ ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล