ทรายอะราโกไนต์แปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่
มีนาคม 27, 2023 2025-01-13 14:47ทรายอะราโกไนต์แปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่
หากวงการทาสแมวมีผลิตภัณฑ์ทรายแมวเพื่อรองรับการขับถ่ายของบอสเหมียว วงการปลาสวยงามก็มีทรายเลี้ยงปลาเพื่อรองรับการขับถ่ายและสร้างระบบนิเวศน์ในตู้ปลาเช่นกัน เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสัตว์เลี้ยงแสนรัก ทุกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ต้องมาจากธรรมชาติ แต่จำเป็นแล้วหรือ? ที่เราจะทำลายธรรมชาติเพื่อนำมาสร้างธรรมชาติจำลองให้กับสัตว์เลี้ยง
“ในขณะที่เปลือกหอยที่ยังมีมูลค่าถูกทิ้งไปโดยเสียประโยชน์ แต่ในทางกลับกัน ปะการังที่ควรจะทิ้งไว้ให้เขาเจริญเติบโตเป็นระบบนิเวศทางทะเล กลับถูกนำมาทำเป็นทรายเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นอะไรที่สวนทางกัน เราจึงนำปัญหาทั้งสองเรื่องนี้มาทำเป็นงานวิจัยของเรา” คุณครรชิต ประทุมราช นิสิตปริญญาโท สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตศึกษา (สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยผู้ค้นพบความลับใต้เปลือกหอย สู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกภายใต้แบรนด์ “Sea-Sand-Shells” ทรายอะราโกไนต์ธรรมชาติเพื่อปลาสวยงามและระบบนิเวศน์จำลองที่ดีในตู้ปลา

จังหวัดสมุทรสงครามจัดได้ว่าเป็นแหล่งอุสาหกรรมอาหารทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เราสามารถพบซากเปลือกหอยแมลงภู่รอการย่อยสลายได้ตามชายฝั่งทะเลที่มีชุมชนตั้งอยู่ อย่างไรก็ดี แม้เปลือกหอยจะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่กลิ่นคาวและความรกเรื้อจากการกองสุมกันเป็นเวลานาน นอกจากจะเป็นภาพที่ไม่น่าชวนมองแล้ว ยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคที่ส่งผลมายังชาวบ้านผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้จุดทิ้งเปลือกหอยอีกด้วย
ถัดจากปัญหาบนบกก็พบปัญหาใต้น้ำ เศษซากปะการังที่ควรหมุนเวียนในระบบนิเวศน์กลับถูกพาขึ้นมาบนชายฝั่ง แปรรูปเป็นทรายเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อสร้างกำไลเป็นกอบเป็นกำ เมื่อปัญหาชายฝั่งทะเลมาอยู่รวมกันแทนที่จะยิ่งแย่ กลับพบทางออกที่มาบรรจบกันได้อย่างลงตัว
“จากการศึกษาพบว่าลักษณะโครงสร้างทางเคมีของเปลือกหอยแมลงภู่และปะการังตามธรรมชาติ มีการจับสายแร่อะราโกไนต์ที่อยู่ในน้ำทะเลมาเป็นสร้างโครงสร้างบริเวณเปลือกแข็งเหมือนกัน เพียงแต่รูปร่างต่างกัน โดยผลึกปะการังธรรมชาติมีรูปร่างกลม และผลึกเปลือกหอยมีรูปร่างแบนเท่านั้นเอง”

ภาพการเคลื่อนย้ายขยะเปลือกหอยสู่ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดฉายชัดขึ้นในความคิด เริ่มจากลงพื้นที่พูดคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้าน ยิ่งพบปัญหาฝังรากที่ชุมชนอยากมีภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเหมือนกับชุมชนข้างเคียง “เราจะเห็นภาพชัดเจนว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Blue Economy เศรษฐกิจจากแหล่งน้ำ โดยเรานำงานวิจัยเข้ามาเติมเต็มในส่วนของการนำเปลือกหอยไปใช้ประโยชน์ ส่งเสริมให้ความเป็นอยู่ชาวบ้านดีขึ้น เป็นต้นแบบขยายไปสู่พื้นที่เลี้ยงหอยอื่นๆ ของประเทศไทยได้ รวมทั้งหอยประเภทอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นหอยแมลงภู่ หอยมุก หอยแครง หอยเป๋าฮื้อ ต่างมีโครงสร้างแคลเซียมคาร์บอเนตในลักษณะที่คล้ายๆ กัน เราสามารถแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าได้” คุณครรชิตกล่าว
ความสำคัญของทรายตู้ปลาในวงการผู้เลี้ยงปลาสวยงาม คือ การปรับสมดุลระบบนิเวศของตู้ปลาให้สมบูรณ์ น้ำไม่เสีย ปลาแข็งแรง ไม่มีโรค เมื่อปลาผลิตของเสียออกมาจะเกิดแอมโมเนียในน้ำ ทำให้น้ำเน่ามีกลิ่นเหม็น ซึ่งทรายที่รองใต้ตู้จะเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียที่ดี คอยปรับให้แอมโมเนียกลายเป็นไนเตรท และไนไตรท์ที่เป็นประโยชน์ต่อสภาพน้ำ ทรายจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศน์ในตู้ปลาครบวงจร

คุณครรชิตกล่าวเสริมว่า “ข้อดีของทรายจากเปลือกหอยจะมีลักษณะเป็นแผ่นแบน มีเนื้อที่ผิวเยอะสามารถให้แบคทีเรียอยู่อาศัยได้ในจำนวนมาก ซึ่งแบคทีเรียสามารถเติบโตได้ดีและอยู่อาศัยได้เป็นหลายเท่ามากกว่าตัวโครงสร้างที่เป็นลักษณะทรงกลมของปะการัง จึงสามารถใช้ทดแทนได้ดีกว่าปะการัง ไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์และการเติบโตหรือการเกิดโรคในปลาด้วย นอกจากนี้แล้วกระบวนการผลิตเป็นแบบ Zero Waste 100% เศษที่เกิดจากการกรองจะถูกนำไปเพิ่มมูลค่าในลักษณะอื่น เช่น สครับขัดผิว หรือปุ๋ยนาโนเพื่อการเกษตร ซึ่งระบบการผลิตไม่ได้ใช้พลังงานสูง เพียงนำเปลือกหอยมาแช่ในด่างเพื่อสกัดสีเขียวที่เป็นโปรตีนออกและก็ทำการบดร่อนคัดขนาดบรรจุขายได้เลย ไม่ต้องใช้ความร้อนหรือทำงานซับซ้อน จึงถือได้ว่าเป็น Green Product อย่างแท้จริง ตอบโจทย์ทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ อนาคตรอเพียงบรรจุหีบหอและการขายเข้าตลาด”
ลักษณะกระบวนการอาจฟังดูง่ายดาย แต่การสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชนเพื่อให้งานวิจัยสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน สามารถสร้างรายได้และสร้างระบบการจัดการขยะในชุมชน ยังคงต้องศึกษาลักษณะกันต่อไป ทั้งตัวนักวิจัยและชาวบ้าน เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถทำงานร่วมกันและขับเคลื่อนไปด้วยกันได้อย่างแท้จริง
“เราจะต้องย่อยองค์ความรู้ที่เรามีให้กับชาวบ้านในลักษณะที่เขาสามารถรับไปแล้วปฏิบัติได้ เข้าใจง่าย ถ้าสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้นี้ไปสู่ชาวบ้านได้และเราเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการ เช่น การมีรายได้เพิ่ม การลดขยะ เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยและชาวบ้าน และทำงานร่วมกับนักการเมืองท้องถิ่นด้วย เพื่อให้องค์ประกอบทุกอย่างครบวงจรและสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้จริงๆ ผมไม่สามารถทำคนเดียวได้ครับ ต้องมีความร่วมมือในแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ถึงจะยั่งยืนและได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย” คุณครรชิตฝากทิ้งท้าย
ติดตามงานวิจัยการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่อื่นๆ ได้ที่
Pearl Skin ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก

คุณครรชิต ประทุมราช (มหาบัณฑิต)
สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตศึกษา (สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: ศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์