Pearl Skin ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก
มีนาคม 20, 2023 2025-01-13 15:13Pearl Skin ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก
หากนึกถึงอาหารซีฟู้ดราคาถูก หนึ่งในนั้นต้องมีเมนูหอยแมลงภู่ ทั้งผัดทั้งนึ่งทั้งแกง หวานอร่อยได้ทุกเมนู หาซื้อก็ง่าย แบบแกะเปลือกแล้วก็มี วิถีแม่ศรีเรือนสมัยใหม่ไม่จำเป็นจะต้องมานั่งแงะเปลือกหอยให้เล็บเจลบิ่นหรือมือเหม็นกลิ่นคาวอีกต่อไป
การเจริญเติบโตของอุสาหกรรมอาหารทะเล ส่งผลให้เกิดขยะจากการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะอุสาหกรรมแกะเปลือกหอยแมลงภู่ ที่นอกจากจะสร้างกองขยะเปลือกหอยแล้ว ยังสร้างมลพิษทางอากาศที่เกิดจากซากทับถมของเปลือกหอยและขาดการจัดการที่เหมาะสม ส่งกลิ่นรบกวน รวมถึงเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
“สิ่งแรกที่เจอ คือ เปลือกหอยที่ชาวบ้านทิ้งอยู่ทั่วไป เนื่องจากมีฟาร์มหอยรับแกะหอยเพื่อทำหอยดองแปรรูปเข้าอุสาหกรรมอาหารทะเล เปลือกหอยถูกทิ้งเยอะมากโดยเฉลี่ย 84,000 ตันต่อปี ซึ่งเปลือกหอยที่เขาแกะแล้วก็ทิ้งไว้ตามพื้นที่สาธารณะ เช่น บ้านเรือน ใต้ถุนบ้าน พื้นที่ทั่วไป จริงๆ แล้วเปลือกหอยมันย่อยสลายเองได้ แต่กว่าจะย่อยสลาย มันส่งกลิ่นเหม็นสาบเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ทัศนวิสัยก็แย่ เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และเป็นปัญหาเรื่องการจัดการขยะโดยแท้จริงที่ยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาเลย เขาทิ้งกันเยอะมาก แล้วมันก็สร้างปัญหามากด้วยเช่นกัน” คุณเมธีรัตน์ ธานีรัตน์ นิสิตปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นวัตกรสาวผู้เปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นความงามอย่างมีคุณค่า กลายเป็น green product “Pearl Skin ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก” จากขยะเปลือกหอยแมลงภู่ สวยอร่อยไม่ทำน้ำกร่อยเพราะไม่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ และเป็นนวัตกรรมความงามที่มีกระบวนการผลิตขยะเป็นศูนย์

“เรามีวิธีการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เพื่อให้เป็น green product ตั้งแต่แช่กรดแช่ด่างเปลือกหอยจนกลายเป็นเกร็ดประกายมุก เน้นประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุดและคัดคุณภาพที่เหมาะสมกับเกรดการทำเครื่องสำอาง ส่วนเกล็ดขนาดอื่นๆ เราก็มีงานวิจัยในทีมรองรับ เช่น ทรายเลี้ยงปลา ปุ๋ย อาหารสัตว์ โดยทั้งกระบวนการเป็น Zero waste จะไม่ทิ้งเศษให้เป็นขยะเลย”
จากผลการวิจัยพบว่า เกล็ดเปลือกหอยมีช่องว่างนาโนขนาด 20-40 นาโนเมตร ซึ่งสามารถกักเก็บสารออกฤทธิ์ต่างๆ ในการบำรุงผิวได้ เช่น วิตามิน คิวเท็น รวมทั้งเก็บสีเก็บกลิ่นได้ดี เป็น Bio Incapsoration ที่มีคุณสมบัติกักเก็บและค่อยๆ แตกตัวโดยไม่ระคายเคืองผิว ขัดเซลล์ผิวเก่าเผยเซลล์ผิวใหม่ ให้ความรู้สึกซาบซ่าได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ เนื่องจากเปลือกหอยเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตจากธรรมชาติ 100% เมื่อผลิตภัณฑ์กลับคืนสู่ธรรมชาติ ก็จะไม่ทิ้งสารตกค้างให้เป็นปัญหา Microplastics แบบ Microbeads ในสคลับอื่นๆ อย่างแน่นอน
“ผงที่เราเหลือเล็กๆ สามารถนำไปผสมในเครื่องสำอางหรือเป็นครีมประทินผิวแทนไข่มุกที่มีราคาแพงได้ ด้วยความละเอียดระดับอนุภาคนาโน เรามีการร่อนด้วยตะแกรงร่อนหลายขนาดเพื่อเหมาะแก่การนำไปใช้งาน เช่น ขนาด 595 ไมครอน เหมาะสำหรับขัดผิวกาย ขนาด 250 ไมครอน เหมาะสำหรับขัดผิวหน้า และขนาด 74 ไมครอน เหมาะสำหรับผสมกับเครื่องสำอางให้เกิดประกายบนผิว ซึ่งแต่ละชั้นที่ร่อนสามารถใช้ต่อได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปใช้กับผลิตภัณฑ์อะไร” คุณเมธีรัตน์กล่าวถึงกระบวนการคัดแยกเกรดเพื่อให้ขั้นตอนการแปรรูปไม่เหลือทิ้งเป็นขยะแม้แต่สักไมครอนเดียว





เพื่อให้งานวิจัยกลายเป็นธุรกิจที่สามารถใช้ได้จริง ความท้าทายใหม่ของ Pearl Skin คือการขยายกำลังการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และสามารถจัดการขยะเปลือกหอยได้อย่างยั่งยืน โดยมีการทดลองรับซื้อขยะเปลือกหอยจากชาวบ้านเพื่อสร้างมูลค่า รวมไปถึงสำรวจพื้นที่โรงงานแปรรูปที่เหมาะสม “ในเรื่องของ Business Model และการอัพสเกลการผลิต เราพยายามให้ไปถึงชุมชนมากที่สุด เพราะสุดท้ายชุมชนต้องเป็นคนนำมาขายให้เรา ทำอย่างไรให้ธุรกิจครบวงจรไปถึงชาวบ้านและช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น ถึงแม้เมื่อก่อนเขาทิ้งเพราะยังมองไม่เห็นมูลค่า แต่ตอนนี้คือ ‘waste to well’ จากขยะเปลือกหอยเหลือทิ้งกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์มีราคา เป็นอีกหนึ่งรายได้เสริมที่ชาวบ้านสามารถดูแลครอบครัวได้”
“รอติดตามได้เลยค่ะ เพราะว่าเรากำลังอยู่ในช่วงอัพสเกลให้ขายได้จริง เราอยากจะทำให้เป็นมาตรฐาน มีการส่งตรวจพิสูจน์และรอผลแลปอยู่ ถ้าผ่านเราก็จะได้ต่อยอดต่อไป ส่วนเรื่องจดลิขสิทธิ์ อาจารย์สนอง (ศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์) กำลังช่วยกันรวบรวมเพื่อสามารถนำไปถ่ายทอดต่อให้กับชุมชนหรือกลุ่มคนที่สนใจได้
- สามารถติดตามผลงานวิจัยอื่นๆ ของคุณเมธีรัตน์ ธานีรัตน์ ได้ที่ ‘กรีน บับเบิล’ สครับผิวสวย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม
- หรือติดตามงานวิจัยการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่อื่นๆ ได้ที่ ทรายอะราโกไนต์แปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่

คุณเมธีรัตน์ ธานีรัตน์ (มหาบัณฑิต)
หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: ศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์