Artigration box กล่องศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัล
กรกฎาคม 10, 2023 2025-01-13 14:03Artigration box กล่องศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัล
วัฏจักรผีเสื้อ ก็เหมือนวังวนเดิมๆ ที่ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยเด็กปฐมวัยก็ต้องเรียน จากไข่สู่ตัวหนอน ตัวหนอนสู่ดักแด้ วัฏจักรจบลงเมื่อผีเสื้อสยายปีกออกโบยบิน ซึ่งผีเสื้อตัวนั้นอาจจะจากไปพร้อมกับคำถามที่ว่า “แล้วยังไงต่อ?” ในวันที่หนอนเติบโตเป็นผีเสื้อแล้ว เราจะต้องรอคอยให้กลับมาวางไข่ใหม่ไปถึงเมื่อไหร่? ในระหว่างนี้เราสามารถเรียนรู้อะไรได้อีกนอกจากรอวันให้ผีเสื้อกลับมา ชุดกิจกรรมศิลปะที่บูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับเด็กปฐมวัย “Artigration box” จะไม่รอคอยผีเสื้อ แต่จะเล่าเรื่องราวของผีเสื้อใหม่ให้สนุกยิ่งกว่าเดิม โดยคุณณัฐณิชา มณีพฤกษ์ นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“หากพูดถึงกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย เราก็จะนึกถึงกิจกรรมการวาดภาพ การระบายสี การปั้น หรือการประดิษฐ์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่เด็กมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว ส่งผลให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ได้น้อย ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทดึงดูดใจเด็กๆ มากขึ้น”
“เราจึงมีแนวคิดในการพัฒนาชุดกิจกรรมศิลปะที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปผสมผสานกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กอนุบาล โดยเป็นกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นภายใต้หลักการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย และได้บูรณาการให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ตามความความสนใจของเด็ก รวมทั้งคำนึงถึงหลักการใช้เทคโนโลยีสำหรับเด็กปฐมวัย โดยให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์สำคัญและได้มีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรมศิลปะในรูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่ การวาดภาพ ระบายสี การปั้น การพิมพ์ภาพ การประดิษฐ์ และใช้แอปพลิเคชันประเภทต่าง ๆ มาต่อยอดงานศิลปะของเด็กๆ เพื่อสร้างความแปลกใหม่และทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานศิลปะมากขึ้น” คุณณัฐณิชากล่าว


Artigration box แบ่งกิจกรรมการเรียนรู้ออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่
- การสร้างแรงบันดาลใจ เป็นการเชื่อมโยงประสบการณ์ด้วยนิทานและสื่อที่เด็กเข้าใจง่าย และสามารถจับต้องได้ ธีมของ Artigration box ในชุดนี้จึงเลือกเรื่องราวที่เด็กให้ความสนใจอย่าง ‘วัฏจักรของผีเสื้อ’ โดยมีหนังสือ “The Butterfly’s Journey” ในการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวงจรชีวิตผีเสื้อและสอดแทรกกิจกรรมฝึกทักษะที่เด็กๆ ปฐมวัยควรเรียนรู้ภายในเล่ม ได้แก่ จำนวนนับ และ Flash Card คำศัพท์ที่มี Augmented reality (AR) ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการจดจำและการสังเกต
- การปฏิบัติกิจกรรม เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กสามารถเลือกสร้างสรรค์งานด้วยเทคนิคที่หลากหลาย เช่น การปั้น การประดิษฐ์ การวาดภาพ และต่อยอดให้ผีเสื้อโบยบินได้จริงด้วยการนำแอปพลิเคชันประเภทต่าง ๆ เช่น Stop Motion หรือ Digital Collage ที่สามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน มาต่อยอดงานศิลปะเพื่อสร้างความแปลกใหม่ หลากหลาย และท้าทาย ทำให้เด็กได้ฝึกทักษะทางศิลปะควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งในขั้นตอนนี้ Artigration box จะมีคู่มือการทำกิจกรรมสำหรับผู้ปกครองหรือคุณครูในการเข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนร่วมกับงานศิลปะชิ้นนี้
คุณณัฐณิชากล่าวว่า ในแต่ละกิจกรรมจะเชื่อมโยงกับ Platform ออนไลน์ โดยมีเว็บไซต์ที่รวบรวมสื่อวีดีโอและอนิเมชั่นที่มีรูปภาพและสีสันสดใสให้เด็กได้ดูจะก่อนเริ่มทำกิจกรรม และในส่วนของขั้นตอนการทำกิจกรรมก็มีแอพพลิเคชั่นที่เหมาะสำหรับเด็ก 4 ขวบขึ้นไป เข้ามาช่วยเสริมเรื่องราวให้น่าสนใจมากขึ้น เช่น เมื่อเด็กปั้นดินน้ำมันเรียบร้อยแล้ว จะชวนเด็กๆ ต่อยอดผลงานด้วยการทำให้ผีเสื้อโบยบิน ร่วมกับการใช้แอพพลิเคชั่น Stop Motion Animation อย่างง่าย มาใช้ในการประมวลภาพเป็นวีดีโอสั้น หรือการทำกิจกรรมภาพพิมพ์ โดยใช้แอพพลิเคชั่นกล้องคาไลโดสโคป (กล้องสลับลาย) ในการสร้างลวดลายที่แตกต่างบนปีกผีเสื้อ อาจมีการการตั้งคำถามกระตุ้นเพื่อให้เด็กได้สังเกตและเกิดการเชื่อมโยงเรื่องราว ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้เด็กได้ฝึกการวางแผน การคิดวิเคราะห์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงทำให้เกิดความภาคภูมิใจและได้สร้างการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self Esteem) ตั้งแต่วัยเด็ก



“ทุกครั้งในการทำกิจกรรมเราจะมีบันทึกว่าวันนี้เขาได้ทำอะไร รู้สึกชอบ-ไม่ชอบ หรือรู้สึกเฉย ๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เขาประเมินตนเอง และยังเป็นเครื่องมือสำหรับครูในการประเมินพฤติกรรมของเด็กว่า เขามีแรงจูงใจในการทำงานเป็นอย่างไร อารมณ์ความรู้สึก การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคุณครูเป็นอย่างไร ซึ่ง Artigration box สามารถนำไปทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวได้ หรือใช้ร่วมกับหลักสูตรของโรงเรียนก็ได้”
การเรียนรู้ของเด็กๆ คงไม่ได้มีแค่ผีเสื้ออย่างแน่นอน คุณณัฐณิชาเล็งเห็นถึงการต่อยอดไปสู่การพัฒนาชุดกิจกรรมให้มีเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น โดยบูรณาการให้ครบทั้ง 4 สาระการเรียนรู้ตามหลักสูตร ทั้งสาระเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อม ธรรมชาติรอบตัว และสิ่งต่างๆ รอบตัว เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ได้อย่างหลากหลายและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
“เราได้ไปสอบถามความรู้สึกของเด็กก่อนว่าเขาชอบเรื่องไหน ส่วนใหญ่แล้วเด็กชอบเรื่องผีเสื้อเราเลยยกเรื่องนั้นออกมาพัฒนาเพิ่มเติม รวมไปถึงกิจกรรมนี้อาจใช้เป็นแนวทางสำหรับคุณครูในการเอาเทคโนโลยีไปบูรณาการกับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก อาจจะไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่กิจกรรมศิลปะเพียงอย่างเดียว เราสามารถนำแนวคิดไปใช้จัดการด้านอื่นได้ เพื่อให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ เรื่องอะไรที่อยู่ในความสนใจในช่วงนั้นของเด็ก เราสามารถนำเรื่องที่เขาชอบ เรื่องที่อยากเรียนรู้ มาพัฒนาเพิ่มเติมตามแนวทางของ Artigration box”
“การพัฒนาเด็กด้วยศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่บนกระดาษเพียงอย่างเดียว เราสามารถเอานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเชื่อมโยงให้เข้ากับความสนใจของเขาได้ โดยคำนึงถึงพัฒนาการและความเหมาะสม เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ตามวัยและยุคสมัย ดังนั้น เราในฐานะผู้ใหญ่จึงต้องมีส่วนในการเลือกใช้เทคโนโลยี เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ทางด้านศิลปะควบคู่ไปกับการใช้ทักษะทางเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม”
สามารถติดตามผลงานอื่นๆ ของคุณณัฐณิชา มณีพฤกษ์ ได้ที่บทความ
ชุดกิจกรรม “Mediclaytion” สร้างงานปั้นด้วยสมาธิและดินเหนียว https://www.research.chula.ac.th/th/news/14503/

คุณณัฐณิชา มณีพฤกษ์ (มหาบัณฑิต)
สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา: ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.อินทิรา พรมพันธ์ุ