สตริปเทสเคมีไฟฟ้าชุดตรวจโควิดผ่านมือถือความแม่นยำสูง
กรกฎาคม 7, 2023 2025-01-13 14:19สตริปเทสเคมีไฟฟ้าชุดตรวจโควิดผ่านมือถือความแม่นยำสูง
ต้องยอมรับเลยว่า ช่วงปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เรายังคงมีการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 กันอย่างต่อเนื่อง หลายคนต้องตรวจคัดกรองซ้ำมากว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ด้วยอาการที่เข้าข่ายทุกประการกลับแสดงผลไม่ตรงกับ Antigen Test Kit (ATK) เกิดเป็นความไม่สบายใจจนนำไปสู่การทำให้ตารางชีวิตสะดุด สุดท้ายแล้วเมื่อไม่ได้ติดเชื้อจริงๆ โอกาสสำคัญในชีวิตอาจหายไปในเวลาสั้นๆ กับการไม่แน่ใจของอุปกรณ์วัดผล
สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย ดร.สุดเขต ไชโย คิดค้นจากความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ตรวจจับ จากการพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดจากกระดาษ จึงเกิดเป็นผลงาน “สตริปเทสเคมีไฟฟ้าร่วมกับสมาร์ทโฟนสำหรับวินิจฉัยโรคโควิด-19” ที่ถูกพัฒนาได้ทันกับยุคสมัยที่อะไรก็ไม่แน่นอนกับผลการตรวจ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการตรวจโรคอื่นๆ ได้อีกในอนาคต
“โดยทั่วไปตรวจการโควิด-19 เราจะดูจากแถบสีที่อุปกรณ์แนะนำมาว่า ถ้ามันขึ้น 2 ขีดก็คือ ‘ติดเชื้อ’ แต่การตีความของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าสีอ่อนอาจจะไม่ติด จากความผิดพลาดตรงนี้เราเล็งเห็นปัญหาและพัฒนาเป็นวิธีทางเคมีไฟฟ้าแทนโดยใช้วิธีทางเคมีร่วมกับ ATK ที่เราใช้กันโดยทั่วไปนี่แหละครับ แต่มีการส่งสัญญาณที่สูงขึ้น โดยเราสามารถดูได้จากสมาร์ทโฟนเลย เครื่องก็จะบอกเราทันที ลดความผิดพลาดจากการอ่านผลเองด้วยตาเปล่า” ดร.อับดุลฮาดี ยะโก๊ะ หนึ่งในทีมผู้วิจัยกล่าวถึงสตริปเทสเคมีไฟฟ้าที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนของการวัดค่า ATK



ดร.อับดุลฮาดี กล่าวเสริมว่า “การตรวจวัดด้วยสีมีความไวในการตรวจวิเคราะห์ค่อนข้างต่ำ หมายความว่าเราต้องมีเชื้อประมาณหนึ่ง ถึงจะแสดงสีที่ชัดเจนได้ แต่สตริปเทสเคมีไฟฟ้าของเรามีเชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถบอกได้เลย”
การใช้งานของสตริปเทสเคมีไฟฟ้ามีลักษณะการใช้งานเหมือน ATK ทั่วไป คือการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากจมูกหรือน้ำลาย ผสมน้ำยา หยดลงบนสตริปเทสและรอเวลา แต่ความพิเศษของสตริปเทสไฟฟ้าจะมีแผงวงจรเล็กๆ ยื่นออกมาจากสตริปเทส นั่นคือ ขั้วไฟฟ้าที่สกรีนลงไปบนพลาสติกที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวแปลงสัญญาณเชื้อให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และแสดงผลเป็นกราฟเพื่อบอกถึงระดับการติดเชื้อว่าติดเชื้ออย่างรุนแรงหรือเป็นเพียงขั้นเริ่มต้น
“โครงสร้างองค์ประกอบหลักก็เหมือนสตริปเทสทั่วไปเลยครับ แต่ว่าสิ่งที่เราจะเพิ่มเข้าไปก็คือขั้วไฟฟ้า เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนขั้วไฟฟ้ากระดาษจะถูกแปลงออกมาและเชื่อมต่อกับโทรศัพท์เพื่อแสดงผล โดยการเสียบตัวอ่านระหว่างสตริปเทสและโทรศัพท์” ดร.อับดุลฮาดี กล่าว

ก่อนจะมาเป็นสตริปเทสไฟฟ้าตรวจโควิด ทางทีมวิจัยได้พัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มมาจากสตริปเทสไฟฟ้าสำหรับการตรวจโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นผลงานที่มีความร่วมมือกับทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำรูปแบบการตรวจโรคมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในปัจจุบัน ดร.อับดุลฮาดี คาดการณ์ว่าองค์ความรู้จากการร่วมมือในครั้งนี้ยังสามารถนำไปต่อขยายกลายเป็นอุปกรณ์ตรวจจับในโรคอื่นๆ ได้ ซึ่งช่วยลดราคาและเพิ่มสิทธิ์การเข้าถึงการดูแลสุขภาพของคนในชาติได้มากขึ้น
“จริงๆ ต้องบอกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวมากครับ ในฐานะนักวิจัย เราพยายามจะทำทุกอย่างให้มันง่ายที่สุด พื้นฐานการคิดค้นสตริปเทสไฟฟ้าชิ้นนี้ เรามองว่าทุกคนมีประสบการณ์ใช้ ATK มาแล้ว และเราเริ่มพัฒนาต่อจากสิ่งนั้นเพื่อที่ให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ง่าย ทำให้เรื่องยากง่ายขึ้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้อาจจะต้องให้เวลาหน่อยครับ เราเองก็พยายามย่อยความรู้ที่เรามีเพื่อให้ออกมาเป็นผลงานที่ทุกคนสามารถใช้ได้ง่ายที่สุดและเห็นผลดีที่สุดครับ”

ดร.อับดุลฮาดี ยะโก๊ะ (ทีมผู้วิจัย)
สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย